อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
I. ความเป็นมาของวัดอัสสัมชัญหลังแรก
II.
ในปี ค.ศ.1809 คุณพ่อปาสกัล ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไทย-โปรตุเกส (บวชปี ค.ศ.1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาท ซึ่งได้บอกบุญกับบรรดาคริสตังและญาติพี่น้องมิตรสหายของท่าน คุณพ่อได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่ คุณพ่อฟลอรังส์เพื่อจะได้สร้างวัดสักแห่งหนึ่งเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัลว่า เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว
“ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 บาท คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความตั้งใจของผู้บริจาค เพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าและของพระนางมหามารีอา ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สของเรา อยู่เหนือวัดของพวกกิสมาติ๊กเล็กน้อย” (ปัจจุบันคือวัดกาลหว่าร์)
วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนว่า”เวลานี้กำลังตระเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแม่พระตามความปรารถนาของผู้ใจบุญที่ได้ถวายเงิน 1,500 บาทแล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล” ปี ค.ศ.1810 พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์เป็นพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งแล้วพระสังฆราชการ์โนลต์ได้เดินทางไปวัดจันทบุรี ในโอกาสที่มีภคินีเชื้อสายญวนหลายรูปปฏิญาณตน และท่านได้สิ้นใจท่ามกลางกลุ่มคริสตชนนั้นในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1811 เมื่อได้ทราบว่าพระสังฆราชการ์โนลต์ป่วยหนัก พระสังฆราชฟลอรังส์จึงได้เดินทางไปจันทบุรี
ที่สุดในปี ค.ศ.1820 พระสังฆราชฟลอรังส์ก็สามารถซื้อที่ดินทั้งหมด (สวนกล้วย) ตั้งแต่ที่ดินที่ตั้งสาม เณราลัยของมิสซังจนถึงริมแม่น้ำ สำหรับที่ดินสามเณราลัยนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ชาย) แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อปี ค.ศ.1820 นั้นเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน,โรงเรียนของวัด (อัสสัมชัญศึกษา),โรงเรียนของภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (อัสสัมชัญคอนแวนต์), สำนักพระสังฆราช,ศูนย์คาทอลิก, บริษัทอีสต์เอเซีย ติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ.
เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลเหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระสังฆราชฟลอรังส์จำเป็นต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน 1,500 ปีอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันทีในปี ค.ศ.1820 คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐ เสร็จในปี ค.ศ.1821 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราช และพระสังฆราชฟลอรังส์ก็มาพำนักอยู่ที่นี่
พิธีเสกอาสนวิหารอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำปี ค.ศ.1822 พระสังฆราช ปัลเลอกัวได้เขียนถึงการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญและสำนักพระสังฆราชไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของท่านดังนี้ “มีโบสถ์คริสตัง หรือค่ายคริสตังอยู่ 5 แห่งด้วยกันในนครหลวง แห่งแรกชื่อค่าย อัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัย เสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันสง่างามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบ 40 ปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมรอบอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากแม่น้ำลึกไปประมาณ 100 เมตร จะเห็น สำนักพระสังฆราชอันสูงเด่น (สร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัว) ซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึง 3000 ฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และห้องรับแขกอันกว้างใหญ่อีก 1 ห้อง …”
ตั้งแต่นั้นมาอัสสัมชัญได้เป็นที่พำนักของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย สมัยนั้นทั่วบริเวณดังกล่าวเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และครอบครัวคริสตังซึ่งค่อยๆ โยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างๆ วัดก็ขึ้นอยู่กับวัดแม่พระลูกประคำ อันเป็นที่รู้จักดีในนามวัดกาลหว่าร์ (ตั้งอยู่เหนือวัดอัสสัมชัญ) จนถึงปี ค.ศ.1884 เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณดังกล่าว และจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) เป็นที่น่าเสียดายที่บัญชีศีลล้างบาปแรกๆ ของวัดอัสสัมชัญได้สูญหายไปหมดในปี ค.ศ.1864 ด้วยเหตุว่าบ้านพักพระสงฆ์ของวัดแม่พระลูกประคำ และบัญชีหลักฐานต่างๆ ถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น ดังนั้นปี ค.ศ.1864 พระสังฆราชดือปองด์จึงตั้งกลุ่มอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1864 เป็นต้นมา (หลักฐาน: A.M.E. Vol. 892 pp. 263, 264, 267; Ann. M.E. 1913 p. 91 Memoiral II.)
II. วัดอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน
1. การสร้างวัด จนถึงการเสก
เนื่องจากจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวีขึ้นมาก ทำให้วัดเก่าดูคับแคบไป คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเวลานั้น ได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซัง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างอีกด้วย จึงตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ โดยคุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าที่เป็นผู้หาเงินทุน ส่วนคุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีนายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเป็นผู้ออกแบบ
การก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ย่อมต้องมีความยากลำบาก และอุปสรรคมากมาย นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวก อุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องซื้อหามาจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทราย ต้องสั่งซื้อมาจากราชบุรี และเครื่องประดับอาสนวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ แต่คุณพ่อผู้มีใจเร่าร้อน ก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากต่างๆ หัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินสร้างอาสนวิหารหลังนี้คือ นายปอล มีคาลีพ และหลวงสรกิจ อธิบดีกรมไปรษณีย์คนแรกของประเทศไทย ทั้งสองท่านต้องมาประชุมกันทุกวันอาทิตย์หลังมิสซาเพื่อวางโครงการหาเงินในสัปดาห์ต่อๆ ไป ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1906 หน้า 128 พระสังฆราชแปร์รอสได้บันทึกไว้ว่า
“ในทำนองเดียวกันที่กรุงเทพฯ วัดอัสสัมชัญหลังเก่าก็ไม่สามารถบรรจุสัตบุรุษได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ตอนนี้กำลังวางรากฐานสร้างวัดหลังใหม่อยู่…”
ปี ค.ศ.1909 คุณพ่อเริ่มงานวางเข็มวัดใหม่ โดยเอาต้นซุงเรียงซ้อนกันแทนการตอกเข็ม (ในสมัยคุณพ่อแปรูดงเป็นเจ้าอาวาส (ค.ศ.1934-1960) ท่านได้ให้ก๋งบัวสำรวจต้นซุง ปรากฎว่ายังอยู่ในสภาพดี) หลังจากสร้างวัดจนเงินหมดกระเป๋าแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์จึงจัดพิธีเสกศิลาฤกษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาทำบุญวัดใหม่
พิธีเสกศิลาฤกษ์นี้กระทำกันในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 สองวันหลังจากการ อภิเษกพระสังฆราช แปร์รอสที่วัดกาลหว่าร์ โดยมีพระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร ซึ่งมาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่า และมีพระสังฆราชบาริยอง ประมุขมิสซังมะละกา มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย คุณพ่อกอลมเบต์ไม่ผิดหวังในการจัดงานครั้งนี้ เพราะในวันนั้นมีสัตบุรุษใจบุญบริจาคเงินเป็นจำนวนมากพอที่จะดำเนินการสร้างวัดต่อไปได้ นอกจากนั้นยังมีคนใจบุญจากยุโรปส่งเงินมาสมทบด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีว่าดังนี้ “หลังจากพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1910 ที่วัดกาลหว่าร์ ผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 ได้มีพิธีเสกศิลาฤกษ์ก้อนแรกของอาสนวิหารในอนาคต พิธีเป็นไปอย่างสง่า มีการประดับประดาบริเวณพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดด้วยธงทิวหลากสีสวยงาม ก่อนเริ่มพิธีเสกศิลาฤกษ์ พระสังฆราชบูชือต์ประมุขมิสซังเขมร ได้เทศน์สอนผู้มาร่วมพิธีด้วยคำพูดเตือนใจและเร้าใจในความศรัทธา ขณะนี้การสร้างวิหารกำลังดำเนินงานอยู่ กำแพงทุกด้านสร้างขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นวิหารนี้สำเร็จ ขอให้พระญาณสอดส่องโปรดประทานปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างวัดที่เหมาะสมนี้ถวายแด่พระองค์…”
อาสนวิหารหลังนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ.1918 (หลักฐาน: C.R.; หมายเหตุ ประจำวันของคุณพ่อกอลมเบต์)
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศ และชาวคาทอลิกจำนวนมากมาย ผู้ที่รับศีลกล่าวเป็นคู่แรกในอาสนวิหารหลังนี้ คือ ลูกา มงคล วังตาล และอีวอน วอน วังตาล ท่านทั้งสองได้ให้ความช่วยเหลือในกิจการงานของวัดตลอดมา
ในปลายปี ค.ศ.1919 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีมิสซาอย่างสง่าอีกครั้ง หลังจากมิสซาเสกในเดือนสิงหาคมแล้ว รายงานประจำปี ค.ศ.1919 หน้า183 พระสังฆราชแปร์รอสบันทึกไว้ว่า “…ปิดท้ายการเข้าเงียบประจำปีของเราในเดือนพฤศจิกายน ด้วยการจัดพิธี กรรมอย่างสง่าที่อาสนวิหารเพื่อระลึกถึงวิญาณผู้ล่วงลับไปในสงคราม มิชชันนารีเกือบทุกองค์เข้าร่วมพิธีนี้ ผู้รักษาการณ์สถานทูตฝรั่งเศส เนื่องจากอัครราชทูตไม่อยู่ ชาว ฝรั่งเศส ส่วนมากที่กรุงเทพฯ และชาวต่างชาติอื่นๆ หลายคนมาร่วมพิธีนี้ด้วย วันอาทิตย์หลังจากการเซ็นสัญญาสงบศึก มีมิสซาใหญ่อย่างสง่า เพื่อโมทนาคุณพระเป็นเจ้า ตามด้วยเพลง เต เดอุม ที่อาสนวิหาร และที่วัดอื่นๆ ทั้งหลายของมิสซังด้วย…”
2. คุณพ่อกอลมเบต์ บิดาผู้มีคุณ
เนื่องจากคุณพ่อกอลมเบต์เป็นผู้มีความสำคัญและมีพระคุณยิ่งต่ออาสนวิหารอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญ สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงคุณพ่อเป็นพิเศษไว้ ณ ที่นี้ “คุณพ่อกอลมเบต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารในปี ค.ศ.1875 แล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนถึงวันมรณภาพของท่าน เมื่อตอนที่มิชชันนารีหนุ่มผู้นี้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญนั้น วัดที่เราเรียกว่าอาสนวิหารนี้ยังเป็นเพียงแค่อาคารธรรมดา สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1809 ตามแบบวัดไทยในสยาม และมีคริสตังจำนวนน้อยประมาณเกือบ 300 คน
ดังนั้นสถานการณ์จึงดูเหมือนว่ามืดมนมาก และงานแพร่ธรรมซึ่งค่อนข้างจำกัดของวัดเล็กๆ นี้จึงไม่พอเพียงที่จะให้ท่านมีกิจการจนล้นมือ นอกนั้นคุณพ่อยังเข้าใจทันทีว่าในการจะฟื้นฟูและพัฒนาวัดนี้อย่างจริงจัง ต้องดำเนินงานให้การศึกษาอบรมเด็กๆ ด้วยจิตตารมณ์คริสตัง คุณพ่อคาดหวังว่าโรงเรียนจะช่วยทำให้งานนี้ประสพผลสำเร็จ ที่วัดนี้ยังไม่มีโรงเรียนประจำวัด คุณพ่อกอลมเบต์จัดสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้น ท่านคงจะคิดไว้แล้วว่าจะให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ภายในตัวเมืองนี้ ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระคุณเจ้าเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำวัดของท่านในปี ค.ศ.1877
ตอนช่วงแรกๆ ได้รับการบรรเทาใจไม่เท่าไหร่ และถ้าเป็นคนอื่นที่มิใช่คุณพ่อกอลมเบต์แล้ว ก็คงจะล้มเลิกกิจการดำเนินงานซึ่งบางคนเห็นว่ายังไม่ควรแก่เวลา แทนที่จะถอยหลัง ในปี ค.ศ.1879 คุณพ่อเพิ่มแผนกภาษาอังกฤษเข้ามาควบคู่กับแผนกภาษาฝรั่งเศส ในระยะนี้คุณพ่อได้จัดแผนกการศึกษาที่สมบูรณ์แบบขึ้น และประกาศในปี ค.ศ.1885 เปลี่ยนโรงเรียนประจำวัดนี้เป็น “วิทยาลัย” เปิดรับเด็กๆ ทุกคนในกรุงเทพฯ วันเปิดเรียนมีนักเรียนมา 33 คน จำนวนน้อยจริงนะ ทั้งคุณพ่อกังต็องซึ่งเป็นมือขวาของคุณพ่อกอลมเบต์จนถึงวันตาย และนายโดโนแวน เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพ่อจ้างมาพิเศษจากกรุงลอนดอน รู้สึกงงงวยนิดหน่อยที่มีนักเรียนน้อยเช่นนี้ ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์เองไม่ตกใจอะไร ท่านรอเวลาที่พระญาณสอดส่องจะอำนวย และท่านก็ทำถูก เพราะเมื่อสิ้นปีแรกมีนักเรียน 80 คน และปีต่อมาท่านรับนักเรียนได้ 130 คน แบ่งเป็นแผนกภาษาอังกฤษ 6 ชั้น และภาษาฝรั่งเศส 3 ชั้น
การที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเหตุให้คุณพ่อกอลมเบต์ต้องเป็นห่วงหนักใจ เพราะจำเป็นต้องคิดถึงการก่อสร้าง พระคุณเจ้าเวย์ให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ว่ามิสซังไม่มีเงินจะช่วย เอาละ มิชชันนารีผู้กล้าแข็งของเราจะต้องออกขอรับบริจาค วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1887 คุณพ่อเสนอแผนผังของวิทยาลัยในอนาคตของท่านต่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์ท่านเห็นชอบด้วยทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ทรงบริจาค 4,000 ฟรังก์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงบริจาค 2,000 ฟรังก์ บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็ร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ก็ช่วยโฆษณาเชิญชวนสละทรัพย์ในหมู่ชาวยุโรป โดยเขียนเรื่องน่าสรรเสริญมากที่สุดเกี่ยวกับงานของคุณพ่อกอลมเบต์ ท่านคงจะสามารถสร้างวิทยาลัยของท่านได้ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ทรงเป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1887 และตอนต้นปี ค.ศ.1889 วิทยาลัยแห่งใหม่ก็เปิดทำการสอน จริงอยู่ในปี ค.ศ.1891 ยังมีนักเรียนเพียงแค่ 400 คน แต่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชนชั้นนำของสังคมในนครหลวงก็ส่งลูกๆ มาเรียน
คุณพ่อกอลมเบต์ผู้ซึ่งมีความเสียสละอย่างไม่มีขีดจำกัด ตัดสินใจที่จะเชิญคณะนักบวชคณะหนึ่งมาช่วยงาน ท่านไปฝรั่งเศส เจรจากับภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งยอมรับข้อเสนอของท่าน และส่งอาจารย์มาช่วยงาน ปี ค.ศ.1900 วิทยาลัยมีนักเรียน 1000 คน ปี ค.ศ.1920 มีนักเรียน 1800 คน และปัจจุบัน (ปี ค.ศ.1933 ) มีมากกว่า 2000 คน ในทุกกรมกองข้าราชการ และในทุกวงการธุรกิจ เราจะพบคนทั้งหลายในสยามที่เคยมาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ และภูมิใจที่ได้มาเรียนที่นั่น หลังจากที่พวกภราดามาถึงแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์ก็ยังดูแลสมาคมศิษย์เก่าซึ่งท่านเพิ่งตั้งขึ้นมา และดูแลกิจกรรมต่างๆ ของอาสนวิหารซึ่งท่านได้รับมอบหมายอยู่ เสมออย่างขยันขันแข็งขึ้นอีก วัดหลังเดิมใหญ่ไม่พอจุคนที่มาร่วมพิธีเสียแล้ว เพราะจำนวนคริสตังชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น และชาวยุโรปคาทอลิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
คราวนี้เจ้าอาวาสลงมือถือถุงทานออกไปขอรับบริจาค อาศัยความใจกว้างของคนทั่วไป คุณพ่อจึงสามารถลงมือสร้างอาสนวิหารใหม่ได้ต่อไปในปี ค.ศ.1906 และพระคุณเจ้าบูซือต์ ผู้มาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่าในปี 1910 แปดปีให้หลัง อาสนวิหารก็สร้างเสร็จ และเปิดให้ทำการประกอบพิธีศาสนาในปี ค.ศ.1918…” (หลักฐานเล่ม 5 หน้า 53-57)
ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1933 มิสซังฯ และสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญต้องสูญเสียบุคคลผู้ความสำคัญและมีพระคุณไป ในรายงานประจำปี ค.ศ.1933 หน้า 261 พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนถึงการสูญเสียคุณพ่อกอลมเบต์ มิชชันนารีอาวุโส ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาไว้ว่าดังนี้ “…วันที่ 23 สิงหาคม เราสูญเสียมิชชันนารีอาวุโสคือ คุณพ่อกอลมเบต์ ที่นับถือของเราซึ่งมรณภาพเมื่ออายุ 85 ปี หลังจากทำงานมิสซังได้ 62 ปี งานของคุณพ่อผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ นับเป็นงานอันยิ่งใหญ่น่าสรรเสริญ ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองวัดอัสสัมชัญตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 ก็ท่านนี้แหละคือผู้บันดาลให้วัดอัสสัมชัญเป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความเจริ รุ่งเรืองในงานทั่วๆ ไปอย่าง มากของมิสซังนั้นเป็นผลอันเกิดจากความคิดริเริ่มอันเพียรพยายามโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อ ท่านเป็นรองประมุขมิสซังตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 และรั้งตำแหน่งประมุขมิสซังชั่วคราวหลังการมรณภาพของพระสังฆราชเวย์ ท่านสามารถทำให้การติดต่อกับรัฐบาลซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อมุ่งจะให้มีพระราชบัญญัติอนุมัติให้มิสซังคาทอลิกมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นผลสำเร็จ คุณพ่อองค์นี้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ขนานนามอย่างเปิดเผยว่า “บรรยากาศคริสตังในกรุงสยาม” มรณภาพของท่านเป็นโอกาสให้หลายคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อมิสซัง และแสดงความรู้คุณ ความรัก ต่อผู้ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นนักอบรมผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสยามจะคิดถึงท่านตลอดไป…”
3. การเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้า
คุณพ่อแปรูดงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญตั้งแต่ปี ค.ศ.1934 จนถึงปี ค.ศ.1960 ในปี ค.ศ.1939 คุณพ่อแปรูดงได้สร้างพระแท่นใหญ่ทำด้วยหินอ่อนทั้งแท่งมาจากประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1940 พระสังฆราชแปร์รอสได้เสกอาสนวิหารอัสสัมชัญอย่างสง่า ส่วนการอภิเษกพระแท่นใหญ่ได้ทำในวันพฤหัสที่ 4 กรกฎาคมปีเดียวกัน ในรายงานประจำปี ค.ศ.1935 หน้า 273 ได้เขียนถึงวัดอัสสัมชัญไว้ดังนี้ “…กิจการคาทอลิกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา คุณพ่อกิยู ผู้ดูแลวัดกาลหว่าร์เห็นผลงานขั้นต้นของความอุตสาหะของท่านหลังจากประกอบการดีมานาน ที่อัสสัมชัญ คุณพ่อแปรูดงซึ่งเพิ่งกลับจากฝรั่งเศส ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับงานของกลุ่มกิจการคาทอ ลิกจึงให้ดำเนินงานทันที คุณพ่ออยู่ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยคือ มีเยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเพียงต้องการทำกิจการและทำตัวให้เป็นประโยชน์ ส่วนภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชารตร์ และคณะอูรสุลินก็พยายามชี้แจงแก่นักเรียนโตๆ และศิษย์เก่าให้เข้าใจหน้าที่คริสตังต่อสังคมซึ่งเป็นหน้าที่ของคริสตังทุกคน…”
และในรายงานประจำปี ค.ศ.1936 หน้า 275 พระสังฆราชแปร์รอสเขียนไว้ว่า
“…พระสังฆราชแปร์รอสเขียนรายงานไว้ว่า: “เชิญติดตามรายงานเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งเพื่อนมิชชันนารีเขียนรายงานประจำปีไว้ดังนี้: คุณพ่อแปรูดงผู้ดูแลอาสนวิหารรายงานความเจริญของโรงเรียนของวัดด้วยความยินดีว่า ปีที่แล้วมีนักเรียน 116 คน ส่วนปีนี้มีถึง 168 คน การจัดวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น น้ำใจดีของสมาชิก “คณะกิจการคาทอลิก” การแสดงความสนใจในงานโรงเรียนของเราจากท่านอธิการิณีอัสสัมชัญคอนแวนต์ ทั้งหมดนี้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้โรงเรียนของวัดเจริญยิ่งขึ้น งานโรงเรียนนี้มีความสำคัญอันยิ่งยวดต่ออนาคตของวัดนี้ อันที่จริงแล้ว ลูกผู้มีอันจะกินซึ่งต้องการเตรียมอนาคตก็จะได้ครูตรงตามความปรารถนาเสมอในโรงเรียนของภราดาและซิสเตอร์ แต่เด็กยากจนอยู่ในสภาพต่างกันทีเดียว และถ้าเราไม่มีโรงเรียนให้พวกเขาได้เล่าเรียนฟรี เราจะมีทางสอนวิชาความรู้ทั่วๆ ไป กับข้อความเชื่อแห่งความรอดแก่พวกเขาอย่างไร นี่เป็นภาระหนักมากก็จริง แต่ก็น่าบรรเทาใจมากด้วย คุณพ่อมิแชล ส้มจีน ผู้ช่วยของผม มุ่งทำงานนี้อย่างสุดใจ…”
รายงานประจำปี ค.ศ.1937 หน้า 280 กล่าวว่า
“…ที่อัสสัมชัญ คุณพ่อแปรูดง รองประมุขมิสซังคนใหม่เขียนรายงานผลสำเร็จที่ได้รับด้วยความยินดีดังนี้:
กิจการคาทอลิกใหม่ของเราดูเหมือนว่าเริ่มต้นด้วยดี และเราหวังว่าวันหนึ่งกิจการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อของคริสตังให้เจริญขึ้นในกรุงสยามได้มาก วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1936 คณะกิจการคาทอลิกจัดงานรื่นเริงขึ้น ถึงแม้ว่าได้มีปัญหามากมาย แต่ก็ช่วยโรงเรียนของวัดได้เป็นอย่างดี โรงเรียนต่างๆ ดำเนินงานไปได้ด้วยดี และมีนักเรียนทั้งหมด 260 คน มีคนต่างศาสนา 72 คนในจำนวนนี้ คุณแม่อธิการอัสสัมชัญคอนแวนต์สนใจเอาใจใส่ในการอบรมศึกษาแก่นักเรียนด้วยความขยันขันแข็งจนสมควรได้รับการยกย่องชมเชย เราจำต้องปฏิเสธไม่รับนักเรียนจำนวนหนึ่ง ด้วยว่าเราขาดห้องเรียน และอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ควรรับเกินกำลังปัจจัยอันน้อยนิดของเรา วัตถุประ สงค์ของเราคือต้องการให้มีคริสตังใหม่แต่ก่อนอื่นต้องช่วยให้พวกเขาไม่มีอคติต่างๆ…”
รายงานประจำปี ค.ศ.1938 หน้า 283-284 ได้พูดถึงวัดอัสสัมชัญว่า
“…ที่อัสสัมชัญ คุณพ่อแปรูดง รองประมุขมิสซังและเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ ชื่นชมยินดีในการที่โรงเรียนทั้งหลายของเราเจริญพัฒนาอย่างดียิ่ง ท่านเขียนรายงานว่า:
“ปีนี้อีกเช่นกัน ที่ผมเอาใจใส่ดูแลโรงเรียนทั้งหลายของวัดเป็นพิเศษ: การที่โรงเรียนเหล่านี้ดำเนินงานไปได้ด้วยดีนั้น ผมต้องขอบคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ พร้อมกับสมาชิกคณะกิจการคาทอลิกหลายคนที่เสียสละให้แก่งานอันสำคัญนี้ เวลานี้ผมมุ่งจะทำให้กิจการและโรงเรียนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงปีหลังๆ นี้ เข้ารูปเข้ารอย มีครอบครัวดีเด่นหลายครอบครัวในบรรดาคริสตังของเรา แต่ก็ยังไม่วายที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากทั้งหลายที่เกิดจากการที่พวกคริสตังอยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนา เยาวชนบางคนได้แสดงความตั้งใจอย่างดีจริงๆ ขอให้พวกเขาได้เป็นเชื้อที่ทำให้แป้งพองขึ้นมา และเป็นลู่ทางที่จะทำให้เราประสพผลสำเร็จในอนาคตด้วย…”
III. เหตุการณ์สำคัญๆ ของวัดอัสสัมชัญ
1. การฉลองวัดปี ค.ศ.1938
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1938 ซึ่งเป็นวันฉลองวัดอัสสัมชัญ ทางวัดได้จัดงานฉลองอย่างเอิกเกริก หนังสือสารสาสน์ได้เขียนรายงานข่าวและเล่าถึงบรรยากาศในงานฉลองวันนั้นไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากสมัยนี้มาก จึงขอคัดมาให้อ่านเปรียบเทียบกับในสมัยปัจจุบันนี้ “วันที่ 15 สิงหาคม เป็นวันฉลองครบรอบคล้ายวันแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ซึ่งเป็นนามของวัดอัสสัมชัญ การฉลองวัดปีนี้ได้เป็นไปอย่างเอิกเกริกมโหฬารยิ่ง ตามบริเวณ ภายนอกโบสถ์ได้ถูกประดับประดาไปด้วยธงทิวและผ้าแพรพรรณต่างๆ สี สุ้มไม้ไผ่ซึ่งพันด้วยผ้าเป็นลายแดงขาวทำเป็นรั้วกั้นเปิดช่องทางไปจนถึงประตูวัดคล้ายกับเป็นการบอกนำทางให้คริสตสาสนิกชนพากันเดินไปตามทาง เพื่อจะได้เข้าไปสู่โบสถ์เพื่อร่วมใจกันสรรเสริญและแสดงความชื่นชมยินดีต่อพระแม่เจ้ากระนั้น ภายในโบสถ์ก็ได้ประดับประดาไปด้วยผ้าแพรสีต่างๆ ห้อยย้อยระย้าตามโคมญี่ปุ่นและชาวราซงประดิษฐ์ขึ้นโดยปราณีต จากนักประดิษฐ์ผู้มีฝีมือ ณ ท่ามกลางโบสถ์ มีรูปปั้นจำลองของแม่พระซึ่งลอยอยู่เหนือก้อนเมฆอันงดงาม ทำให้แลดูงามวิจิตรยิ่ง เสียงระฆังบอกเวลาอยู่หง่างๆ บรรดาคริสตสาสนิกชนทั้งใกล้และไกล ต่างก็พากันมาประชุมในโบสถ์จนล้นหลาม ท่วมชานชลาหน้ามุขและบริเวณวัด เมื่อได้เวลาแล้ว ก็มีพิธีถวายบูชามิสซาปอนติฟิกัล โดยพระสังฆราชแปร์รอส มีคุณพ่อแปรูดงเป็นอัครดีอาโกโน, คุณพ่ออังแซลโมเป็นดีอาโกโน พร้อมด้วยมีบรรดาพระสงฆ์เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ประจำวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาร่วมงานด้วยโดยพร้อมมูล มีการขับร้องประสานเสียงมิสซานักบุญเทเรซา การขับร้องได้เป็นไปอย่างดีและไพเราะจับใจยิ่ง โดยความอำนวยการของคณะภราดาโรงเรียนอัสสัมชัญ และนางชีโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และมีวงสังคีตคณะนักบุญเซซิลบรรเลงเพลงด้วย มิสซาแล้วได้มีการตั้งศีลมหาสนิทเพื่อให้สัตบุรุษได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอ้อนวอนขอพระคุณอานิสงค์แด่พระองค์ เวลาบ่ายสี่โมงเย็น หลังจากสวดลูกประคำแล้ว ได้มีพิธีขับร้องแวสเปรัส และอวยพรศีลมหาสนิท ต่อจากนั้นก็ได้ตั้งขบวนแห่รูปแม่พระ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ขบวนแห่ได้เดินไปตามบริเวณวัดและถนนโอเรียลเต็ล พร้อม ทั้งมีการร้องเพลงสรรเสริญแม่พระเป็นภาษาไทยด้วย เช่น บทเพลง “แม่พระเมืองไทย” เป็นต้น การแห่ได้เป็นไปโดยมีระเบียบเรียบร้อยน่าชมยิ่ง โดยความอำนวยการของคุณพ่อแปรูดง ซึ่งเป็นผู้พูดกระจายเสียงให้ออกขบวนแห่เป็นลำดับ…”
ในรายงานประจำปี ค.ศ.1939 หน้า 291 พระสังฆราชแปร์รอสได้บันทึกไว้ว่า
“…คุณพ่อแปรูดง รองประมุขมิสซังเขียนรายงานว่า รายงานช่วงปี 1938-1939 ให้ข้อคิดบางประการ
ประการแรก ที่จำนวนคริสตังของวัดได้เพิ่มขึ้นถึง 200 คนนั้น เป็นเพราะบางครั้งบางคราว เราได้ค้นพบครอบครัวใหม่ที่มาจากทุกมุมเมืองของสยาม และเข้ามากระจัดกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ครอบครัวพวกนี้ยังไม่ได้แสดงตัวให้เป็นที่รู้จัก และบ่อยครั้งโอกาสดีบางอย่างทำให้พระสงฆ์ได้มารู้จักพวกเขาโดยบังเอิญ ครอบครัวคนพวกนี้มีบันทึกอยู่ในบัญชีคริสตัง แต่น่าเสียดายพวกเขาไม่ค่อยปฏิบัติกิจทางศาสนาเลย ส่วนมากอยู่กินกันอย่างไม่ถูกต้อง ส่วนคนอื่นๆ ซึ่งอยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนา ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวด ล้อม และทีละน้อยก็ได้ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่คริสตัง ประการที่สอง จำนวนผู้ใหญ่รับศีลล้างบาป (27 คน) มีน้อยมาก อันที่จริงก็มีผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปมาเรียนคำสอน แต่หลายคนพอเรียนคำสอนไปได้พักหนึ่งก็หยุดไป เพราะเห็นว่า “เป็นการลำบากที่จะปฏิบัติตามคำสอน” ส่วนคนอื่น เช่น พวกนักเรียนตามโรงเรียนของเราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบ ดังนั้นโครงการของเราคือหว่านพระวาจาของพระเป็นเจ้าเพื่อขจัดความรังเกียจเดียดฉันท์ทั้งสิ้นก่อน แล้วจึงเอาชนะใจ และที่สุดก็ได้วิญญาณมา ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามพัฒนาโรงเรียนของวัดทั้งหลาย นับเป็นภาระหนักมาก แต่จะทำอย่างไรได้…”
2. การเสด็จเยือนอาสนวิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล
เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับอาสนวิหารอัสสัมชัญ และเป็นที่ภาคภูมิใจสำหรับบรรดาคริสตชนทั้งมวลได้แก่การเสด็จมาเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นการส่วนพระองค์ ตามรายงานของพระสังฆราชแปร์รอสดังนี้ “วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1946 เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง เวลา 16.30 น. โดยรถยนต์พระที่นั่ง (ของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ถึงบริเวณอาสนวิหาร เวลา 16.45 น. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) มีผู้ตามเสด็จคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้เฝ้ารับเสด็จมีสัตบุรุษคริสตังจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเรียนหญิงชายกำลังเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ หน้าลานอาสนวิหาร พระสังฆราชแปร์รอส ในชุดประจำตำแหน่งสีม่วง รับเสด็จยังรถยนต์พระที่นั่ง นำเสด็จพระราชดำเนินประทับหน้าโบสถ์อัสสัมชัญ พระสังฆราชได้กราบบังคมทูลอย่างสั้นๆ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเยือน และพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบพอสมควร (ระหว่างนั้นพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอดเวลา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระหัตถ์สัมผัสแก่พระสงฆ์ทุกองค์ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ(เช่น คุณพ่อแปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหาร,
คุณพ่อโชแรง ที่คุ้นเคยกับพระองค์เจ้าธานีนิวัติ, คุณพ่อยอลี, คุณพ่ออาทานาส ปลัดชาวไทย) ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ภายในอาสนวิหารสักพักหนึ่ง แล้วก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้น คุณพ่อโชแรงได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมครั้งนี้มิได้กระทำอย่างเป็นทางการ พระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบสากลธรรมดา พระสนับเพลายาวสีขาว ฉลองพระบาท มิได้ทรงพระมาลาหรือแม้แต่ถุงรองพระบาทเลย…”
3. การเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
การศึกษานับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับกลุ่มคริสตชนของวัด เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่อบรมดูแลและให้ความรู้แก่เด็กๆ แล้ว ยังทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนคำสอนด้วย ดังนั้นเมื่อสร้างบ้านพักพระสงฆ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปี ค.ศ.1934 คุณพ่อแปรูดงจึงคิดที่จะเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาให้เป็นโรงเรียนของวัด และได้ขอให้ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ร่วมมือโดยให้รับโรงเรียนของวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์อย่างเป็นทางการ และขอให้ส่งภคินีมาช่วยบริหารสักหนึ่งคน คุณพ่อแปรูดงต้องสร้างอาคารเรียนเป็นไม้ถึง 3 หลัง เพราะจำนวนนักเรียนที่ฝากบัญชีโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาคุณพ่อปอล สวัสดิ์ กฤษเจริญ ซึ่งเป็นปลัดของคุณพ่อแปรูดงได้ขอให้แยกโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ให้มีฐานะเป็น 2 โรงเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบอนุญาตให้เมื่อปี ค.ศ.1953
4. สงครามโลกครั้งที่ 2
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบวัดได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัด คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง สิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ตามรายงานประจำปี ค.ศ. 1941-1947 หน้า 301 ได้กล่าวไว้ว่า “…กรุงเทพฯ ถูกลูกระเบิดอยู่บ่อยๆ อาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเข้าลูกหนึ่ง ทำให้ผนังโบสถ์เป็นรูโต อาคารทั้งหลังสั่นสะเทือนเกิดความเสียหายมาก โรงเรียน วัด และบ้านเรือนของพวกคริสตังกลุ่มหลัก กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด โรงเรียนอัสสัมชัญรอดพ้นจากไฟไหม้ไปได้อย่างอัศจรรย์…”
ถึงแม้คุณพ่อแปรูดงจะได้จัดการซ่อมแซมวัดที่เสียหายเพราะระเบิดของสงครามแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของระเบิดยังปรากฎอยู่มาก ในการซ่อมแซมครั้งนั้น นายบัว ประคองจิต (บิดาของพระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต) ได้เป็นผู้สำรวจท่อนซุงซึ่งเป็นรากฐานของวัด และพบว่ายังคงอยู่ในสภาพดี นายบัว ประคองจิต ได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากนายช่างชาวอิตาเลียน และได้ใช้วิชาความรู้สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง นับเป็นผู้มีพระคุณต่อวัดอัสสัมชัญด้วย นายบัวได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 รวมอายุได้ 88 ปี มิสซาปลงศพได้กระทำที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1968
5. ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา
ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1950 พระรูปแม่พระฟาติมาได้เสด็จมาถึงกรุงเทพฯ โดยทางเครื่องบิน ในโอกาสนี้คุณพ่อแปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นประธานการต้อนรับ ได้จัดรายการให้พระรูปนี้ไปเยือนโบสถ์ใหญ่ โบสถ์น้อยต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย มีขบวนแห่ยาวเหยียดทั้งทางเรือและทางรถ ล้อมรอบพระรูปซึ่งประดับประดาอย่างสวยงามยิ่ง อาศัยความร่วมมือจากอธิบดีกรมตำรวจ ขบวนแห่อันงดงามยิ่งจึงเคลื่อนไปตามถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อย่างปลอดโปร่งเป็นระยะทาง 3 กม. คริสตังนับพันๆ คนเดินแห่พร้อมทั้งร้องเพลง และสวดภาวนา ส่วนฝูงชนคนต่างศาสนาประมาณ 50,000 คน มาเฝ้าดูด้วยความพิศวงและเลื่อมใส ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไปตามทาง การเสด็จมาเยือนของพระรูปแม่พระฟาติมานี้ได้ผลเกินคาด และผลด้านความเชื่อความศรัทธายังคงจารึกอยู่ต่อไปอีก
“ส่วนที่วัดอัสสัมชัญนั้น นับเป็นวัดแรกที่มีโอกาสได้ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา ต้นขบวนแห่มาถึงวัดเวลา 17.35 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1950 ส่วนท้ายขบวนมาถึงภายหลังราวหนึ่งชั่วโมง เวลา 24.00 น. พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ถวายบูชามิสซาอย่างมโหฬารกลางแจ้ง ในลานโบสถ์อัสสัมชัญ มีสัตบุรุษทุกมิสซังมาประชุมคับคั่งเต็มลานหน้าบริเวณโบสถ์ …” คุณพ่อแปรูดงเห็นว่าจำนวนคริสตังที่วัดอัสสัมชัญเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ท่านจึงหาทางขยับขยายด้วยการซื้อที่ดินที่ตรอกจันทน์ และเริ่มสร้างโรงเรียนชาย-หญิง และวัดนักบุญยอแซฟเพื่อเตรียมแยกกลุ่มอัสสัมชัญออกเป็น 2 กลุ่ม
6. พิธีอภิเษกพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี
วันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1953 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี ประมุขมิสซังจันทบุรี โดยมีพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พระสังฆราชบาเยต์ และพระสังฆราช เปโตร คาแร็ตโต มาร่วมในพิธี พร้อมกับพระสังฆราชถุก (Thuc) แห่งมิสซังวิลลอง ประเทศญวน และบรรดาพระสงฆ์ประมาณ 100 องค์เศษ
7. พิธีอภิเษกพระสังฆราชมีแชล อ่อน ประคองจิต
วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953 วัดอัสสัมชัญได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ใช้ทำพิธีอภิเษกพระสังฆราชใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือ พระสังฆราชมีแชล อ่อน ประคองจิต ประมุขมิสซังท่าแร่ ซึ่งเป็น มิสซังใหม่ที่ถูกแยกออกไปในเวลานั้น โดยมีคุณพ่อยวง เคียมสูน นิตโย ทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายจารีตตลอดพิธี พิธีบวชครั้งนี้จัดได้ยิ่งใหญ่มาก นับคณะพระสังฆราช พระสงฆ์ และภราดา ได้ราว 150 องค์
8. คุณพ่อแปรูดง และเหตุการณ์อื่นๆ
วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1954 สัตบุรุษวัดอัสสัมชัญได้พร้อมใจกันจัดงานฉลองสุวรรณสมโภชแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ให้กับคุณพ่อแปรูดง มีพิธีมิสซาอย่างสง่า มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาแสดงความเคารพต่อคุณพ่อ มีการแสดงของนักเรียน ผู้จัดได้ตั้งชื่องานวันนั้นว่า “งานวันพ่อ”
วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1958 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีมิสซาอย่างสง่าอุทิศแด่วิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 พิธีดำเนินไปอย่างสมเกียรติ พระสมณทูตยอห์น กอร์ดอน เป็นประธานและผู้ถวายมิสซา ร่วมด้วยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พระสังฆราชเปโตร คาแร็ตโต พระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี พระสังฆราชลากอสต์ และพระสังราชดูฮาร์ต พร้อมกับพระสงฆ์ และนักบวชชายหญิงคณะต่างๆ, บรรดาสัตบุรุษจากวัดต่างๆ, ผู้แทนพระองค์, บรรดาทูตานุทูตประเทศต่างๆ รวมทั้งพระภิกษุ 5 รูปที่เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ที่กรุงโรม ก็มาร่วมในพิธีด้วย
ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1961 สัตบุรุษวัดอัสสัมชัญต้องสูญเสียเจ้าอาวาสที่รักของพวกเขาไป นับเป็นเวลาถึง 26 ปีเต็ม ที่คุณพ่อแปรูดงได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดอัสสัมชัญ คุณพ่อได้ทะนุบำรุงความศรัทธาของสัตบุรุษ ส่งเสริมและจัดตั้งคณะกิจการคาทอลิก ต่างๆ ทางด้านภายนอก คุณพ่อได้จัดสร้างตึกพระสงฆ์หลังใหม่ 3 ชั้น
ให้ความสนใจต่อการศึกษาอบรมเด็กๆ และเยาวชน เป็นต้นลูกหลานของคริสตังที่ยากจน คุณพ่อเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด และโรงเรียนของมิสซังฯ
ในปี ค.ศ.1960 คุณพ่อได้ขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ แต่ด้วยความรักและห่วงใยวิญญาณของสัตบุรุษของท่าน คุณพ่อยังอุตส่าห์ลงฟังแก้บาป ถวายมิสซา และทำหน้าที่อื่นๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ จนกระ ทั่งล้มป่วยหนักครั้งสุดท้าย ทุกสิ่งที่คุณพ่อได้ทำ แสดง ออกถึงความรักความห่วงใยที่คุณพ่อมีต่อวัดอัสสัมชัญ และสัตบุรุษของท่าน
IV.สมัยพระสงฆ์เจ้าอาวาสคนไทย
คุณพ่อวิลเลียม ตัน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ในปี ค.ศ.1960 จนถึงปี ค.ศ.1969
วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1961 วัดอัสสัมชัญได้จัดงานฉลองหิรัญสมโภชให้แก่ ฯพณฯ ยอห์น กอร์ดอน พระสมณทูตประจำประเทศไทย พระสมณทูตถวายบูชามิสซาอย่างสง่า ท่ามกลางพระสังฆราช 5 องค์ พระสงฆ์ราว 60 องค์ ร่วมด้วยนักบวชชายหญิง และสัตบุรุษมาร่วมพิธีอย่างล้นหลาม คณะสามเณรจากบ้านเณรศรีราชาเป็นผู้ขับร้องในพิธี ตอนค่ำมีพิธีจัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแด่ ฯพณฯ ที่ตึกโรงเรียนอัสสัมชัญ
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1963 วัดอัสสัมชัญได้รับเกียรติเป็นที่จัดพิธีสุวรรณสมโภช ครบรอบ 50 ปีแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ของพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พิธีในวันเป็นไปอย่างสง่า มีพระสังฆราชทุกมิสซังในประเทศไทยมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้ง พระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษจำนวนมาก พระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี เป็นผู้เทศน์ในพิธี
ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1963 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีไว้อาลัยแด่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 อย่างเป็นทางการ พระอัครสังฆราชยอห์น กอร์ดอน พระสมณทูต และมองซินญอร์ เอเนาดี เลขานุการ เป็นเจ้าภาพ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ เป็นผู้ถวายบูชามิสซาอย่างสง่า โดยมีคุณพ่อโรเชอโร คุณพ่อหลุยส์ เลออง คุณพ่อบัณฑิต ปรีชาวุฒิ และคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร เป็นผู้ช่วย พร้อมด้วยพระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี แห่งมิสซังจันทบุรี พระสังฆรักษ์ ดูฮาร์ต แห่งมิสซังอุดรธานี และบรรดาพระสงฆ์อีกราว 50 องค์ ภราดา ภคินี ผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แขกผู้มีเกียรติฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายทูตานุทูตต่างประเทศ และสัตบุรุษจากที่ต่างๆ มาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น ทั้งชั้นบนและชั้นล่างของตัวโบสถ์
1. พิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยวง นิตโยและอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ
วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1965 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มี พิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยวง นิตโย และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ มี ฯพณฯ อันเยโล เปโดรนี พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย เป็นประธาน เริ่มพิธีเวลา17.00 น. พระอัครสังฆราชยวงถวายบูชามิสซาร่วมกับพระสังฆราชทุกองค์ในประเทศไทยท่ามกลางพระสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ผู้แทนคณะนักบวช ผู้แทนคณะกิจการคาทอลิก และสัตบุรุษจากวัดต่างๆ มาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น หลังมิสซา พระสมณทูตอ่านสารตราตั้งสถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย แล้วเชิญพระอัครสังฆราชยวงขึ้นนั่งบัลลังก์ ให้ผู้เข้าร่วมในพิธีทุกคนเข้าแสดงความยินดีและความเคารพ ในพิธีนี้ยังได้มอบรถยนต์ 1 คัน ให้เป็นของขวัญแด่พระอัครสังฆราชองค์ใหม่อีกด้วย…
2. พิธีอภิเษกพระสังฆราชอแลง วังกาแวร์
วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1965 มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชอแลง วังกาแวร์ ประมุขมิสซังนครราชสีมา มีพระสงฆ์และสัตบุรุษจำนวนมากมายมาร่วมในพิธีอภิเษกนี้ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ท่านอธิบดีกรมการศาสนา พลโท ปิ่น มุทุกันต์ พร้อมด้วยบรรดาพระภิกษุ ก็มาร่วมในพิธีด้วย ในปี ค.ศ.1968 คุณพ่อวิลเลียมได้ทำการซ่อมแซมอาสนวิหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยทุ่มเทเงินถึง 5 แสนกว่าบาท กระเทาะปูนออก ทาสีใหม่ และเปลี่ยนหลังคาใหม่ งานชิ้นนี้สำเร็จลงได้เพราะความใจกว้างของสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญนั่นเอง จุดมุ่งหมายของการซ่อมแซมครั้งนี้เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของการเป็นอาสนวิหารและเพื่อเตรียม การล่วงหน้าสำหรับงานฉลองครบ 50 ปีของวัดอัสสัมชัญ ซึ่งจะจัดให้มีการฉลองในปีต่อไป คือปี ค.ศ.1969 นอกจากนี้ท่านยังได้รื้ออาคารไม้ของโรงเรียน และสร้างเป็นตึกใหญ่ 4 ชั้น 2 หลัง และ 3 ชั้น 1 หลังพร้อมกับโรงอาหาร ฯลฯ
ในสมัยคุณพ่อดาเนียล ธานี วงศ์พานิช เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1969-1975 ได้ปรับปรุงสนามใหญ่และขยายตึกเรียน “มารีอา” โดยต่อปีกออกมาทั้งซ้ายและขวา และชั้นล่างมีศาลาสงบ (สำหรับผู้ตาย) นอกจากนี้ยังได้สร้างหอระฆังระหว่างวัดและโรงเรียน คุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย เป็นเจ้าอาวาสในระหว่างปี ค.ศ.1975-1979 ได้ริเริ่มแบ่งสายงานบริหารและปรับปรุงวิชาการของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ให้มีชื่อเสียงดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับจากสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ต่อจากนั้นวัดอัสสัมชัญก็ได้รับเจ้าอาวาสพิเศษองค์หนึ่งได้แก่ คุณพ่อสังวาลย์ ศุระศรางค์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในระหว่างปี ค.ศ.1979-1983 และในเวลาเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งอุปสังฆราช คุณพ่อเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก คุณพ่อได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1987 คุณพ่อชุมภา คูรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1983-1989 เห็นว่าภายใน อาสนวิหารอัสสัมชัญจำเป็นต้องได้รับการตกแต่งเสียใหม่จึงได้ทำการตกแต่งและซ่อมแซมวัดไปในเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งได้จัดทำพระแท่นบูชาและพื้นบริเวณพระแท่นเสียใหม่
3. การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2
ในปี ค.ศ.1984 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอนห์ ปอลที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ได้ถือเป็นเกียรติอัญเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จ มาเยี่ยมเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญและอวยพระพรแก่บรรดาพระสงฆ์,นักบวชชายหญิงทุกคณะพร้อมด้วยบรรดาคริสตังที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น
คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1989-1994 เป็นผู้ดำเนินงานจัดตั้งเครื่องเสียงภายในวัดให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้เริ่มต้นว่าจ้างยามรักษาความปลอดภัยและดูแลการจราจรรอบๆ บริเวณวัดอีกด้วย ได้จัดบริเวณหน้าบ้านพักพระสงฆ์เสียใหม่
คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใน ปี ค.ศ.1994 -1999 และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของอัครสังฆมณฑลด้วย ได้พยายามสานต่องานของคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ เช่น ส่งเสริมเยาวชนในการร่วมกิจกรรมของวัด สานต่องานอภิบาลทุกๆ ด้าน ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บางชิ้นภายในวัด
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1995 ได้จัดส่งผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนไทย-เยอรมัน งานที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของวัด ได้แก่ การศึกษา ซึ่งคุณพ่อได้มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว และได้มีโครงการหลายโครงการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่าง 3 โรงเรียนที่อยู่ภายในเขตวัด
4. การเสด็จของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในวันที่ 23 กรกฎาคม 1995 ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีมิสซาถวายแด่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
5. การเสด็จเยือนอาสนวิหารของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ในวันที่ 26 มกราคม 2002 ทรงเสด็จประพาสกลุ่มคริสตชนคาทอลิกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นการส่วนพระองค์
6. วันที่ 21 เมษายน 2012 ต้อนรับพระธาตุแห่งรูปพระนิจจานุเคราะห์จากกรุงโรม ประเทศอิตาลีโดยคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย และกลุ่มส่งเสริมความศรัทธาแม่พระนิจจานุเคราะห์
7. งานบูรณอาสนวิหารเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2012 – ธันวาคม 2015
8. วันที่ 13 ธันวาคม 2015 พิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ ก้าวสู่ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม และถวายอาสนวิหารอัสสัมชัญ โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
9. วันที่ 16 ตุลาคม 2016 มิสซาอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศในนามของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยมีพระคาร์ดินัล ฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
10. วันที่ 13 พฤศจิกายน 2016 มิสซา “ปิดปีศักดิ์สิทธิ์ แห่งเมตตาธรรม” และ พิธีบวชพระสงฆ์(สังฆานุกร ยอแซฟ ชนภัทร ศุขะเนตร)
11. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2017 มิสซาวันเพื่อนอุดมสาร ครั้งที่ 13 และพิธีน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
12. วันที่ 13 มิถุนายน 2017 พิธีมิสซาและรับพรจากแม่พระฟาติมา โอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี (และทุกวันที่ 13 ของเดือน จนถึงเดือน ตุลาคม 2017)
13. วันที่ 7 ตุลาคม 2017สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริยศูนย์ เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นประธานผู้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ
14. เดือนกรกฎาคม 2018รณรงค์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดออกแบบ ตราสัญลักษณ์ ครบรอบ 100 ปี วัดอัสสัมชัญ(โบสถ์หลังปัจจุบัน) ชิงเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
15. วันที่ 17 พฤษภาคม 2019 พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด ฟิโลนี สมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน เดินทางมาเยี่ยมชมอาสนวิหารอัสสัมชัญ โอกาสเป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ เปิดปีฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม (ค.ศ.1669-2019) ณ โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ สามพราน
16. วันที่ 4 มิถุนายน 2019พิธีมิสซาโอกาสครบรอบ 350 ปี การสถาปนามิสซังสยาม (มิ.ย. 1669–มิ.ย. 2019) “วันปีติสุข 350 ปี” โดยพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
17. วันที่ 15 สิงหาคม 2019สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ครบรอบ 100 ปี อาสนวิหารอัสสัมชัญ (1919-2019) “หนึ่งศตวรรษ สิริสวัสดิ์ วัดอัสสัมชัญ”
18. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2019 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมประมาณ 6,420 คน
19. วันที่ 14 ธันวาคม 2019พิธีมิสซาโอกาสวันครบรอบปีการถวายอาสนวิหารอัสสัมชัญ เวลา 17.00 น. หลังมิสซามีการแสดงแสง-สี และรับประทานโต๊ะจีน บริเวณลานด้านหน้าอาสนวิหาร
1. คุณพ่อสำรวย กิจสำเร็จ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1999 – 2003
2. คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2003 – 2007
3. คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2007 – 2009
4. คุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2009 – 2012
5. คุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2012 – 2016
6. คุณพ่อวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2016 – 2022
7. คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2022 – ปัจจุบัน