ขั้นตอนการแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ
****แต่งงานต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคาทอลิกจึงจะสามารถแต่งงานในโบสถ์คาทอลิกได้ และทั้งคู่ต้องไม่มีพันธะผูกพันกับผู้ที่มิใช่คู่ที่จะแต่งงานมาก่อน (หากมีกรุณาแจ้งให้คุณพ่อเจ้าอาวาสทราบ)
1. คู่บ่าวสาวต้องมาติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานวัดสำหรับจองวันแต่งงานเพื่อพูดคุยรับทราบเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงาน หากไม่มีข้อขัดขวางคุณพ่อจะรับลงจองวันและเวลาที่คู่บ่าวสาวต้องการ ***ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญจะไม่รับจองวันและเวลาแต่งงานผ่านทางบุคคลอื่นที่มิใช่คู่บ่าวสาว
2. เมื่อคู่บ่าวสาวพบคุณพ่อและได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญแล้ว คู่บ่าวสาวจะลงวันที่แต่งงาน รับเอกสาร และระเบียบการต่างๆ ที่สำนักงานวัด
3. คู่บ่าวสาวเข้ารับการอบรมชีวิตสมรสที่สำนักมิสซังตามวันและเวลาที่ทางอาสนวิหารกำหนด
4. เมื่อเข้ารับการอบรมชีวิตสมรสร้อยแล้ว ให้นำเอกสารที่ได้รับ และเอกสารต่างๆที่ทางวัดแจ้งให้เตรียมมาส่งที่สำนักงานวัด
5. รอทางวัดโทรแจ้งวันนัดสัมภาษณ์กับคุณพ่อเจ้าอาวาสอีกครั้ง
6. คู่บ่าวสาวมาสัมภาษณ์กับคุณพ่อตามวันเวลาที่นัดหมาย
7. หลังสัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อย ทางวัดจะนัดซ้อมพิธีแต่งงาน
8. วันซ้อมพิธีแต่งงาน (ก่อนวันแต่งงานประมาณ 1-2 อาทิตย์)คู่บ่าวสาวนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาชำระในวันซ้อมพิธี
9. วันแต่งงาน
Guidelines for marriage at Assumption Cathedral
- One of the partners must be Catholic. Each must never have been married or still currently be in any other relationship with other than your intended partner.
- Both parties must come and meet the pastor together. If you are permitted, reserve the date and obtain the required documents from the Church’s office. (Must contact in advance of at Least 3 months for a Thai couple or 6 months for foreigners even if marrying a Thai National).
- After the date of reservation has been set, the couple must attend a counselling session at the date assigned and bring all documentary evidence required such as Baptismal paper (if you are Catholic), affirmation of marital status and any other additional documents.
- If the reservation date is inconvenient, one must rearrange in person with the Church’s office.
- For further information, please contact the church’s office.
ระเบียบการขอจัดพิธีแต่งงาน ณ อาสนิวหารอัสสัมชัญ
1. คู่บ่าวสาวที่ต้องการแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ จำเป็นต้องไม่เป็นที่สะดุด หรือมีข้อขัดขวางใดๆ
2. การจองวันและเวลาของการแต่งงาน บ่าวสาวต้องติดต่อผ่านสำนักงานวัดเพื่อผู้คุยคุณพ่อเจ้าอาวาสด้วยตนเอง เพื่อรับทราบและเข้าใจระเบียบการ และเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงานอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนถึงเดือนแต่งงาน (แต่ถ้าอยู่ต่างประเทศควรติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน)
3. หลังจากกำหนดวันแต่งงานกับทางวัดเรียบร้อยแล้ว คู่สมรสจะต้องเข้ารับการอบรมชีวิตสมรส
ที่สำนักมิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ(อาคารด้านซ้ายของอาสนวิหารฯ)
ซึ่งจัดอบรมทุกวันอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ของทุกเดือน เวลาของการอบรมคือ 8.20 น. ถึง 12.00 น.
โดยติดต่อเข้ารับการอบรม ตามหมายเลขโทรศัพท์ดังนี้คือ 02-2371031,02-2375284,02-2337441
โดยที่คู่แต่งงานทั้งสอง ต้องเข้ารับการอบรมต่อเนื่องกันทั้งสองครั้ง
4. เอกสารที่จำเป็น
4.1 สำหรับผู้ที่เป็นคาทอลิก (จำเป็นต้องเป็นผู้ที่รับศีลกำลังแล้ว)
– ใบศีลล้างบาป ที่ออกให้มาไม่เกิน 6 เดือน(ขอได้จากวัดที่ตนเองได้รับศีลล้างบาป ระบุเพื่อการแต่งงาน)
– สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม (ถ้าเคยแต่งงานมาก่อน)
– สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
– รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
4.2 สำหรับผู้มิใช่คาทอลิก
– ใบรับรองสถานะของของฝ่ายที่มิใช่คาทอลิก (ขอแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานอาสนวิหารฯ)
– สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรอง
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรอง
– สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม(หากเคยแต่งงานมาก่อน)
– สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
– รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
4.3 File รูป JPEG ของคู่บ่าว-สาว ขนาด 1 MB ขึ้นไป (ใช้สำหรับทำใบประกาศการสมรส)
5. เมื่อได้เข้ารับการอบรมชีวิตสมรสแล้ว และจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนแล้วให้ติดต่อนัดหมายกับเจ้าอาวาส เพื่อเข้ารับการสอบสวนก่อนการแต่งงาน อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนถึงแต่งงานที่กำหนดไว้ และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว เจ้าอาวาสจะปรึกษาหารือกับคู่บ่าวสาว เพื่อกำหนดวันเวลาสำหรับการซ้อมพิธีต่อไป
6. ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น
6.1 ค่าบริการจัดพิธี 500 บาท
6.2 ค่าตอบแทนผู้ช่วยพิธี 500 บาท
6.3 ค่าตอบแทนนักขับร้อง 1,500 บาท
6.4 ค่าดอกไม้ 10,000 บาท
6.5 ค่าไฟ-แอร์ 10,000 บาท
6.6 อื่นๆ (ดูเพิ่มเติมในเอกสาร รายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งงาน)
(ช่อดอกไม้ 2 ช่อ สำหรับเจ้าสาวถือเดินเข้าวัด 1 ช่อ และสำหรับถวายแม่พระ 1 ช่อ เจ้าภาพจัดเตรียมเอง)
ในกรณีที่เจ้าภาพ ต้องการให้จัดดอกไม้เพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยตามปริมาณงาน
7. วันและเวลาของการจัดพิธีแต่งงาน
7.1 อาสนวิหารฯให้บริการจัดพิธีแต่งงานทุกวัน
ยกเว้น วันอาทิตย์ของเทศกาลมหาพรต(ราวเดือนกุมภาพันธ์-ถึงกลางเดือนเมษายน)
และวันอาทิตย์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า(เดือนธันวาคม)
และยกเว้นถึงวันที่อาสนวิหารฯอาจต้องจัดฉลองสำคัญตามโอกาสต่างๆด้วย
***และหากคู่บ่าวสาวที่มาจองโบสถ์เป็นเวลานานเกินกว่า 4 เดือน(ก่อนถึงกำหนดแต่งงาน) และถึงแม้โบสถ์อนุญาตให้จองวันได้ แต่หากวันนั้นทางโบสถ์จำเป็นต้องจัดงานสำคัญทางศาสนาของทางโบสถ์ หรือของอัครสังฆมณฑล ทางโบสถ์มีสิทธิขอเลื่อนงานแต่งหรืองดการจัดพิธีแต่งงานในวันนั้นๆได้***
7.2 เวลาของการจัดพิธีแต่งงาน
วันธรรมดา (จันทร์ ถึง ศุกร์) 10.00 น. หรือ 11.00 น.
วันเสาร์ 10.00 น. และ 13.00 น.
วันอาทิตย์ 13.00 น.
8. ในกรณีที่ฝ่ายคาทอลิกเป็นชาวต่างชาติ หรือแม้เป็นคนไทย ที่จะมีญาติพี่น้องหรือมิตรสหายที่เป็นคาทอลิกด้วยกัน มาร่วมในพิธีแต่งงานน้อยมากเกินไป พิธีแต่งงานจะใช้รูปแบบ “วจนพิธีกรรม”(ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที) มิใช่รูปแบบ “พิธีมิสซา”(ประมาณ หนึ่งชั่วโมง)
9. ในกรณีที่คู่บ่าวสาวมาถึงอาสนวิหารฯไม่ตรงเวลา จนมีผลกระทบต่อการจัดพิธีของคู่ต่อไป เจ้าอาวาสจะพิจารณาให้ใช้รูปแบบ “วจนพิธีกรรม”
10.ระเบียบปฏิบัติในพิธีแต่งงาน
10.1. ควรมอบหมายให้มีบุคคลหนึ่งคอยประสานงานดูแลรับผิดชอบเรื่องทั่วๆไประหว่างพิธีกรรมในโบสถ์
10.2. การแต่งกายของคู่สมรสและผู้มาร่วมงานทุกท่านจะต้องเป็นแบบสุภาพเหมาะสมกับโบสถ์อันเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม(ห้ามชุดเกาะอก,เปิดไหล่ คอกว้าง–ลึก หรือกระโปรงสั้นจนเกินไป)
10.3. การถ่ายภาพ หรือการบันทึกเทปวีดีทัศน์ (คู่บ่าวสาวจำเป็นต้องแจ้งให้ช่างภาพรับทราบด้วย)
10.3.1 ช่างภาพจะต้องแต่งกายเรียบร้อย
10.3.2 ไม่เข้าไปในบริเวณที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับพระสงฆ์
(ตั้งแต่บันได, สักการสถาน, บริเวณพระแท่น เป็นต้นไป ตลอดจนภายในสักการสถานทั้งหมด)
10.3.3 มีอาการสำรวม เหมาะสมกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ไม่เดินพลุกพล่าน ทำเสียงอึกทึกรบกวนสมาธิ
หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการทำลายบรรยากาศของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์(ไม่ควรถ่ายในระยะ1-2 เมตร)
10.3.4 อนุญาตให้มีช่างภาพนิ่งได้ 2 คนเท่านั้น (ถ้าเกินกว่า 2 คนกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน)
10.3.5อนุญาตให้มีช่างภาพวีดีโอได้ 1 คน
10.3.6 ไม่อนุญาตให้ใช้เครนแขวนกล้อง และไฟสปอร์ตไลท์ภายในโบสถ์
10.4. ไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้ามาถ่ายภาพ หรือทำข่าวภายในอาสนวิหาร
10.5. บทเพลงที่ใช้ตลอดพิธีแต่งงานจะต้องเป็นบทเพลงในพิธีกรรมที่ได้รับการรับรองจากทางโบสถ์แล้วเท่านั้น
โดยคู่บ่าวสาวสามารถขอดูบทเพลงต่างๆได้จากทางเจ้าหน้าที่ของวัด
10.6 การจัดจารีตพิธีสมรส รวมถึงขบวนแห่จะต้องเป็นไปตามจารีตพิธีกรรม และระเบียบแบบแผนที่ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญอนุญาตให้เท่านั้น
หมายเหตุ 1. ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือร้านจัดดอกไม้ภายนอก เข้าจัดดอกไม้ภายในวัด การจัดดอกไม้ภายในวัดให้ติดต่อผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักงานของอาสนวิหารเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่เคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นของการทำงาน
2.ค่าใช้จ่ายทุกรายการ ชำระที่สำนักงานของอาสนวิหารฯ ในวันซ้อมพิธี โดยมีใบเสร็จรับเงิน
3. การขอจัดเลี้ยงในบริเวณรอบอาสนวิหารนั้น ทางอาสนวิหารอนุญาตให้จัดเลี้ยงเป็นเพียงของว่างที่บรรจุในกล่อง (Snack box)อย่างเดียวเท่านั้น และหาผู้ดูแลความเรียบร้อยด้วย
4. การจองวันและเวลาของการแต่งงาน บ่าวสาวต้องติดต่อกับสำนักงานวัดด้วยตนเอง เพื่อรับทราบและเข้าใจระเบียบการ และพิจารณาเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงาน
5. การเปลี่ยนแปลงวัน-เวลาของการแต่งงาน บ่าว-สาวต้องติดต่อกับสำนักงานวัดด้วยตนเองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้
6. ไม่อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนเครื่องเสียงใดๆทั้งสิ้นภายในวัด แต่หากต้อการปรับเปลี่ยนต้องนำเครื่องเสียงมาเองทั้งระบบ เช่น ไมค์ ลำโพง มิกเซอร์ ฯลฯ โดยทางวัดจะไม่อนุญาตให้ต่อระบบเสียงใดๆเข้ากับระบบเครื่องเสียงของวัด
——————————————————————————————————————————————-
การแต่งงานแบบศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในโบสถ์คาทอลิก มีแนวทางดังนี้
การแต่งงานแบบคาทอลิกจะมีพิธีสองแบบดังนี้
แบบที่ 1คือ การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ คาทอลิก
เราจะเรียกว่า ศีลสมรส (เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์)
แบบที่ 2คือ การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ ผู้ที่มิใช่คาทอลิก
เราจะเรียกว่า พิธีสมรส แบบนับถือศาสนาต่างกัน (ไม่ถือว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์)
ดังนั้นการแต่งงานในโบสถ์คาทอลิกได้นั้นจะเป็นต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และทั้งคู่ต้องไม่มีข้อขัดขวางใดๆ สำหรับการแต่งงานด้วย
ข้อขัดขวาง เช่น เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน ไม่ว่าด้วยทางกฎหมายบ้านเมือง หรือ การอยู่กันฉันท์สามีภรรยากับผู้อื่นมาก่อน เป็นต้น
1. เริ่มต้นสำหรับการแต่งงาน
สิ่งที่ต้องกระทำก่อนแต่งงานแบบคาทอลิกจึงมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิต ซึ่งมีดังนี้…
1.1 เมื่อคู่บ่าวสาวต้องการจะแต่งงานที่โบสถ์ไหน ควรโทรไปสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น กับทางโบสถ์นั้นเสียก่อนว่าแต่ละโบสถ์มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งตามปกติแล้วควรที่จะทำพิธีแต่งงาน ณ โบสถ์ที่ตนเองไปประกอบศาสนกิจเป็นประจำ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ฝ่ายที่เป็นคาทอลิกเองต้องเป็นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท และศีลกำลังแล้ว และปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำด้วยจึงจะสามารถแต่งงานได้
1.2 จากนั้นคู่บ่าวสาวจะ ต้องไปที่สำนักงานวัดด้วยตนเองเพื่อติดต่อจัดพิธีแต่งงานกับทางวัด(คุณพ่อเจ้าวัด) อย่างน้อยที่สุดไม่ควรต่ำกว่า 3เดือนก่อนถึงกำหนดพิธีแต่งงาน
ทางคุณพ่อเจ้าอาวาส, คุณพ่อผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จะสอบถามเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบว่าคู่บ่าวสาวมีข้อขัดขวางใดๆ หรือไม่ ถ้าไม่มีข้อขัดขวางใด ๆ ทางโบสถ์จะรับจัดพิธีแต่งงาน และแจ้งกฎระเบียบต่าง ๆ ตามที่แต่ละโบสถ์ได้กำหนดไว้ให้คู่บ่าวสาวได้รับทราบ
1.3 หลังจากนั้น ทางวัดจะแจ้งให้คู่บ่าวสาว เข้ารับการอบรมชีวิตสมรส เพื่อให้ทราบ และเข้าใจถึงความสำคัญของการแต่งงานในบริบทของคาทอลิกอย่างดีเสียก่อน (ซึ่งไม่ควรเข้ารับอบรมก่อนที่จะติดต่อกับทางวัด) การอบรมนี้จะมีเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน การทำหน้าที่ของสามี-ภรรยา บิดา-มารดา และเรื่องอื่น ๆ ทั้งฝ่ายที่เป็นคาทอลิกและมิใช่คาทอลิกได้รับทราบ เช่น กฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก, กฎหมายบ้านเมือง, ศีลธรรม-จริยธรรม, การวางแผนครอบครัว และเรื่องอื่นๆ เป็นต้น
2. เอกสารสำหรับเตรียมแต่งงาน
2.1 สำหรับผู้ที่เป็นคาทอลิก
– สำเนาทะเบียนศีลล้างบาป (มีอายุไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออก)
– สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม (ถ้าเคยแต่งงานมาก่อน)
– สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
– รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
2.2 สำหรับผู้มิใช่คาทอลิก
– ใบรับรองสถานะของของฝ่ายที่มิใช่คาทอลิก
– สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรอง
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรอง
– สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม(หากเคยแต่งงานมาก่อน)
– สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
– รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
***เอกสารต่างข้างต้นนี้ควรเตรียมหลังจากได้ติดต่อกับโบสถ์เรียบร้อยแล้ว และการเตรียมเอกสารควรปรึกษากับทางโบสถ์ที่คู่บ่าวสาวต้องการจะจัดพิธีแต่งงานเสียก่อน เพราะทางโบสถ์อาจขอเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมจากเอกสารที่กล่าวไว้ข้างต้น และที่สำคัญเอกสารบางอย่างจะถูกระบุวัตถุประสงค์ในการใช้ว่าใช้เพื่ออะไร และมีกำหนดว่าใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกเอกสาร
3 เวลาในการขอและยื่นเอกสาร
ระหว่างที่เข้าอบรมชีวิตสมรสตามวันที่วัดกำหนด คู่บ่าวสาวควรจัดเตรียมเอกสารข้างต้นให้ครบถ้วน เพราะเมื่ออบรมชีวิตสมรสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรรีบนำเอกสารต่าง ๆ ที่ทางวัดให้จัดเตรียมมาส่งที่สำนักงานวัด
จากนั้นทางวัดจะนัดหมายคู่แต่งงานให้พบคุณพ่ออาวาส เพื่อทำการสัมภาษณ์ก่อนการแต่งงาน อย่างน้อย 2 เดือน ก่อนถึงวันแต่งงานที่กำหนดไว้ (เพราะการสัมภาษณ์เพื่อทำเอกสารการแต่งงานนั้นสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะจะทำให้ทราบถึงคุณสมบัติของคุณแต่งงานได้ ทันที่ว่าจะทำพิธีแต่งงานได้หรือไม่ )
จากนั้นทางวัดจะต้องมีการส่งแจ้งเรื่องที่คู่บ่าวสาวต้องการแต่งงานไปยังวัดที่ฝ่ายคาทอลิกรับศีลล้างบาปให้รับทราบถึงการแต่งงานในครั้งนี้ และทางวัดนั้นจะต้องลงประกาศในวัดเพื่อให้พี่น้องสัตบุรุษ รับทราบ ติดต่อกับ 3 อาทิตย์ (เพื่อว่าหากมีข้อขัดขวางใด ๆ พี่น้องสัตบุรุษมีหน้าที่แจ้งให้พระสงฆ์รับทราบ)
และหากไม่มีข้อขัดขวางคุณพ่อก็จะยื่นเอกสารการสัมภาษณ์ของคู่บ่าวสาว เพื่อขออนุญาตการแต่งงานจากทางสังฆมณฑลต่อไป
หลังจากนั้นก็จะเป็นการกำหนดวัดซ้อมพิธีแต่งงาน ซึ่งการซ้อมพิธีแต่งงานจะประมาณ 1-2 อาทิตย์ก่อนแต่งงาน
หลายคนอาจเห็นในหนังว่าการแต่งงานในโบสถ์ดูง่ายและรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงกับในหนังต่างกันมาก อย่างที่เห็นแล้วการแต่งงานแบบคาทอลิกจริงๆ นั้น มีขั้นตอนการเตรียมตัวหลายอย่าง และหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้นจึงควรเตรียมการล่วงหน้าอย่างช้าที่สุดคือ 3 เดือนก่อนถึงเดือนแต่งงาน แต่ทั้งนี้บางวัดอาจขอใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้นคู่บ่าวสาวควรรีบมาติดต่อวัดตั้งแต่เนิ่นๆจะดีที่สุด
4. คู่บ่าวสาวสามารถเรียนเชิญคุณพ่อไปทำพิธีแต่งงานที่อื่นที่มิใช่ไม่ใช่ในโบสถ์ได้ไหม?
พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ไม่มีอนุญาตให้จัดพิธีแต่งงานแบบคาทอลิกภายนอกโบสถ์ ดังนั้นพิธีแต่งงานแบบคาทอลิกจำเป็นต้องกระทำพิธีดังกล่าวภายในโบสถ์เท่านั้น
5. การแต่งงานแบบคาทอลิกจำเป็นไหมที่ฝ่ายที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์จะต้องเปลี่ยนมานับถือคริสต์?
ไม่จำเป็น ทางพระศาสนจักรคาทอลิกเราจะเรียกการแต่งงานแบบนี้ว่าการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ หรือที่นับถือศาสนาต่างกัน โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยของเรา ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคาทอลิกก็มักจะแต่งงานกับพี่น้องชาวพุทธคือ สามีหรือภรรยาเป็นพุทธ
สมัยก่อนพระศาสนจักรเคร่งครัดมาก เรียกว่าใครจะแต่งงานกับคาทอลิก จะต้องมาเป็นคาทอลิกเสียก่อน แต่ปัจจุบันหลังพระสังคายนาวาติกันที่สอง ได้ผ่อนปรนในเรื่องนี้ให้สามารถนับถือศาสนาต่างกันได้ สาเหตุเพราะการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งจะไปบังคับกันไม่ได้ อีกทั้ง พระสังคายนายังส่งเสริมให้มีการเสวนาทำศาสนสัมพันธ์ ให้เคารพในความเชื่อถือในศาสนาของกันและกันอีกด้วย
แต่หากฝ่ายที่มิใช่คาทอลิกเมื่อแต่งงานไปแล้วมีความสนใจอยากจะเรียนรู้ศาสนาคาทอลิกก็สามารถมาติดต่อที่วัดเพื่อขอเรียนคำสอนได้ และเมื่อเรียนแล้วและต้องการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกก็ย่อมสามารถทำได้
6. ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เราถือว่าการแต่งงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์และทรงเป็นพยานพร้อมทั้งประทานพระพรพิเศษให้ผู้ที่แต่งงานมีชีวิตร่วมกันเป็นสามีภรรยา มิใช่เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น
ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก คือบางครั้งเรียกว่า “ศีลกล่าว”เพราะในพิธีแต่งงานตามประเพณีของคริสตชน จะมีการกล่าวคำสาบานต่อกันและกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือ บางครั้งเรียกว่า “ศีลสมรส” ซึ่งเรียกชื่อตามสากลหมายถึงการแต่งงานนั่นเอง
สาระสำคัญของศีลแต่งงานมีดังต่อไปนี้
1. เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ในเจ็ดศีลที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานพระพรแห่งชีวิตครอบครัว อันได้แก่การเป็นสามี ภรรยา เป็นบิดา มารดา ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในการมีส่วนร่วมกับการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า
2. ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น จะมีผู้ประกอบพิธี สำหรับศีลแต่งงานนี้ พิเศษตรงที่ว่า ผู้ประกอบพิธี คือ เจ้าบ่าว เจ้าสาว ส่วนพระสงฆ์และคนอื่นๆ ถือเป็นพยานในพิธีเท่านั้น และคำกล่าวที่สำคัญที่สุด คือ การให้พันธสัญญาต่อกันและกันด้วยคำสัญญาว่า “…ขอรับคุณ…เป็นสามี (ภรรยา) และขอสัญญาว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและในเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่” คำสัญญานี้ถือเป็นพันธสัญญาเพราะมีข้อผูกมัดที่จะต้องถือปฏิบัติ จะละเลยมิได้ ส่วนการที่จะถือว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องเป็นคาทอลิก ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิใช่คาทอลิก พระศาสนจักรถือว่าเป็นเพียง “พิธีแต่งงานแบบคาทอลิก” เท่านั้น หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า พิธีแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ แน่นอนว่าพระเป็นเจ้าทรงประทานพระพรให้ด้วยเช่นกัน แต่มิใช่พิธีที่สมบูรณ์แบบศีลศักดิ์สิทธิ์
3. การแต่งงานแบบคาทอลิกมีระเบียบปฏิบัติหลายประการ เช่น
ก. ต้องมีพื้นฐานที่สำคัญคือ “ความรัก”ที่ทั้ง 2 คนจะต้องมีต่อกันอย่างแท้จริง จึงต้องมีการศึกษาดูใจกันพอสมควร
ข. ต้องมีเจตนาจะมีบุตรดังนั้น หากคู่แต่งงานใดจะแต่งงานโดยไม่ต้องการมีบุตร ย่อมจะกระทำพิธีมิได้
ค. ต้องมีอิสระ หรือ เสรีภาพในการตัดสินใจ เลือกคู่แต่งงานด้วยตัวเอง มิได้ถูกบังคับหรือที่เราเรียกว่า “คลุมถุงชน”
ง. ต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่การแต่งงานอย่างดี ด้วยการเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตครอบครัวตามหลักปฏิบัติของคาทอลิกดังนั้น จึงต้องติดต่อกับทางวัด (พระสงฆ์) ก่อนจะมีพิธีนานพอสมควร เพื่อพระสงฆ์จะได้จัดให้ได้รับการอบรมพอสมควร ปกติควรติดต่อกับทางวัดอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ เพราะบางกรณีอาจมีข้อขัดขวางที่ไม่สามารถจะประกอบพิธีได้เหมือนกัน
จ. การแต่งงานแบบคาทอลิก จะต้องถือเป็นการมีสามีเดียว ภรรยาเดียว (ผัวเดียว-เมียเดียว) พร้อมทั้งจะเลิกรากันหรือหย่ากันไม่ได้ ต้อง “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” กันไปจนตลอดชีวิต จะแต่งงานใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายตายไปแล้ว เพราะพันธสัญญาที่ให้กันในวันแต่งงานก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยอย่างไรก็ดี มีสามีภรรยาหลายคู่ที่เลิกรากันไปเฉยๆ อย่างนี้พันธสัญญานั้นไม่ถือว่าสิ้นสุด จะแต่งงานใหม่ไม่ได้ ยกเว้นแต่จะได้รับการประกาศจากพระศาสนจักรให้พันธสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์และดำเนินเรื่องผ่านทางศาลของพระศาสนจักรเท่านั้น
4. คาทอลิกที่จะเข้าพิธีแต่งงานนั้นจะต้องเตรียมจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากบาปต่างๆ ดังนั้น จึงต้องแก้บาปอย่างดี พร้อมทั้งภาวนาวอนขอพระพรจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นพิเศษด้วย
พระศาสนจักรมิได้ห้ามการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือแต่ก็มิได้ส่งเสริมหรือสนับสนุน หากแต่ขอให้ฝ่ายคาทอลิกต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นคริสตชนที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คู่ชีวิตของตน เพื่อเป็นพยานยืนยันถึงความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพรัก เชื่อ และไว้ใจในพระองค์
สรุปว่า ในภาคปฏิบัติหากใครต้องการจะแต่งงานแบบคาทอลิก สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ
1. ต้องอย่างน้อยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก
2. ต้องไปพบกับพระสงฆ์เจ้าอาวาสของวัดของตนเพื่อแจ้งให้ท่านทราบและขอคำแนะนำอย่างน้อยก่อนวันแต่งงานประมาณ 3 เดือน เพราะบางครั้งอาจมีข้อขัดขวางไม่สามารถทำพิธีให้ได้ด้วยเหมือนกัน ระวังอย่าไปกำหนดวันแต่งงานก่อนที่จะปรึกษาพระสงฆ์ เพราะในวันนั้นอาจจะกระทำพิธีไม่ได้ เนื่องจากมีข้อห้ามพระศาสนจักรอยู่ ดังนั้น ก่อนพิมพ์การ์ด ควรปรึกษาพระสงฆ์เสียก่อน
3. ต้องให้เวลาพอเพียงที่จะรับการอบรมจากพระสงฆ์ ในเรื่องการแต่งงานและต้องมีเวลาให้พระสงฆ์เตรียมเอกสารต่างๆ พอสมควร
ที่มา : 1. หนังสือเกี่ยวกับ “การแต่งงานแบบคาทอลิก” (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)
2.ระเบียบข้อปฎิบัติการแต่งงานของอาสนวิหารอัสสัมชัญ