หากเอ่ยถึงชื่อมาดามแมรี่ คูรี่ แล้ว ก็ เชื่อเหลือเกินว่าท่านผู้อ่านคอลัมน์ไทยรัฐ
ซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานต่วย’ตูน ทุกท่านน่าจะรู้จักหรืออย่างน้อยก็น่าจะเคยได้ยินชื่อมาก่อนในฐานะยอดหญิงนักวิทยาศาสตร์ผู้คว้ารางวัลโนเบลมานอนกอดถึง 2 ครั้งคือโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1903 จากผลงานการค้นพบเรเดียมธาตุที่สามารถช่วยรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับสามี คือ ปิแอร์และหลังจากนั้นในปี ค.ศ.1911 มาดามก็ได้โนเบล สาขาเคมีเมื่อสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีของเรเดียม ชื่อของแมรี่คูรี่ จึงกระฉ่อนโลกวิทยาศาสตร์
อีกด้านหนึ่งของแมรี่ คูรี่ นั้น คือการเป็น”แม่” ผู้ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู และเป็นเบ้าหลอมแห่งอัจฉริยะ และการเป็นคนดีมีคุณค่าต่อสังคมให้แก่ลูกสาวทั้งสองคือ ไอรีนและอีฟ ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งไอรีนที่เจริญ รอยตามผู้เป็นแม่ ด้วยการคว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ มาได้ในปี 1935 ในขณะที่อีฟลูกสาวคนเล็กเป็นนักเขียนผู้มีความสามารถ
การที่เรเดียมสามารถรักษามะเร็งได้ ทำให้มันทวีคุณค่าและราคามากขึ้น และในฐานะผู้ค้นพบวิธีการสกัด เรเดียมหากครอบครัวคูรี่ตัดสินใจจดสิทธิบัตร ปิแอร์และแมรี่ก็จะกลายเป็นเศรษฐีใหม่ในพริบตาแต่ด้วยจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ปิแอร์และแมรี่ตัดสินใจไม่จดสิทธิบัตรแต่มอบเรเดียมให้เป็นของโลกนี้นั่นทำให้ครอบครัวคูรี่ยังคงเป็นครอบครัวนักวิทยาศาสตร์จนๆ แต่คุณค่าในใจนี้เองที่ถ่ายทอดมายังลูกสาวผู้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์เรืองนามและไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเช่นเดียวกัน
อัลเบิรต์ไอน์สไตน์.& พอลลีน ไอน์สไตน์แม่ของอัลเบิร์ต.
เมื่อพูดถึงคนที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้วอดไม่ได้ที่จะพูดถึงนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก นั่นคือ อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ ซึ่งได้รางวัลโนเบลในปี1921
คนทั่วไปมองไอน์สไตน์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องแต่ในอีกมุมหนึ่งไอน์-สไตน์เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือไวโอลินเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าอัจฉริยะของไอน์สไตน์เกิดขึ้นมาได้ เพราะมีดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสมาธิและผ่อนคลาย
เรื่องนี้ต้องขอบคุณพอลลีน ไอน์สไตน์ คุณแม่ผู้เชี่ยวชาญดนตรีและผลักดันให้ลูกชายได้เรียนไวโอลินตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบในขณะที่ความสามารถด้านอื่นๆ ยังไปไม่ถึงไหน เพราะ เด็กชายมักจะเชื่องช้า ขี้อายจนบางคนคิดว่าเขาปัญญาอ่อน!
ไอน์สไตน์ยอมรับว่า ดนตรีเป็นส่วนสำคัญในชีวิตจนถึงกับกล่าวไว้ว่า “หากไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ ข้าพเจ้าก็อาจจะเป็นนักดนตรี”และยํ้าว่า ความสุขส่วนใหญ่ในชีวิตล้วนแต่มาจากดนตรี ดังนั้นเมื่อมีผู้สงสัยกันมากว่า ทำไมไอน์สไตน์ถึงได้เป็นอัจฉริยะผู้ฉลาดลํ้าแม้จะมีคำตอบที่อธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า สมองของไอน์สไตน์แตกต่างไปจากคนอื่นๆแต่ลึกลงไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พอลลีน ไอน์สไตน์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังอัจฉริยะของลูกชาย เป็นผู้ส่งเสริมดนตรีให้แก่เด็กน้อยที่ใครๆพากันกล่าว หาว่าปัญญาอ่อน
อังรี ดูนังต์
คราวนี้มาดูเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1901 อังรี ดูนังต์ ซึ่งในวัยหนุ่มเขาเคยเห็นสงครามและผลของมันสร้างความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากต่อชายหนุ่มผู้มีจิตใจดีงามผู้พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการสาธารณสุขที่ดีแก่ทหารหาญและประชาชนทั่วไป และเขานี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการตั้งกิจการกาชาดขึ้น
แม้จุดพลิกผันที่ทำให้อังรีดูนังต์ เกิดความสนใจห่วงใยในมนุษยชาติ คือการได้เห็นผลร้ายของสงคราม แต่หากจะถามลึกลงไปว่า แล้วจิตใจที่ดีงามของ
อังรี ดูนังต์ มาจากไหนก็เห็นจะต้องขอบคุณอังตัว เน็ตต์ ดูนังต์-คอลลาดอนแม่ผู้เป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญให้อังรี
อังตัวเน็ตต์มักจะออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยและคนจนอยู่เสมอแม้มีลูกแล้วเธอก็ยังพาเด็กชายอังรีออกไปทำงานสาธารณกุศลด้วยบ่อยๆจนเกิดเป็นการปลูกฝังให้หนูน้อยได้เข้าใจเห็นใจความทุกข์ยากของผู้คนมาแต่เล็กแต่น้อย และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญให้อังรีดูนังต์ทุ่มเทเพื่อการช่วยเหลือและดูแลสิทธิมนุษยชน
มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่ไกลออกไปถึงยุคโรมันในช่วงแรก อาณาจักรโรมันไม่ยอมรับศาสนาคริสต์แต่ในกาลต่อมาจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชก็ได้ประกาศให้ศาสนาคริสต์มาเป็นศาสนาประจำชาติส่งผลให้ศาสนาคริสต์ได้เผยแพร่ออกไปสู่ดินแดนโรมันอันกว้างขวางทั้งยุโรปและปักหลักมั่นคงเป็นศาสนาที่สำคัญของโลกจนถึงทุกวันนี้
นักบุญคอนสแตนตินและนักบุญเฮเลน.
คอนสแตนตินทำนุบำรุงศาสนาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทำให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์บางนิกายยกย่องให้พระองค์เป็นนักบุญ แต่ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญอย่างเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางกว่าคือพระมารดาของพระองค์ นักบุญเฮเลนผู้อยู่เบื้องหลังการนับถือศาสนาคริสต์ของจอมจักรพรรดิ
ด้วยความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในศาสนาเฮเลนก็ได้ออกแสวงบุญไปยังเยรูซาเล็ม ด้วยภารกิจที่พระนางตั้งมั่นในพระทัยว่าจะติดตามแสวงหาไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่ตรึงพระเยซูไว้ ให้ได้หลังจากสาบสูญหายไปนับแต่พระเยซูเสด็จคืนสู่สวรรค์ และด้วยความเพียรพยายามพระนางก็ค้นพบไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ หรือสัตยกางเขนก่อนจะนำกลับมาเสริมสร้างบารมีให้แก่ พระโอรส และด้วยภารกิจสำคัญที่ได้กระทำมาพระนางจึงได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญแห่งศาสนจักร
ในขณะที่คอนสแตนตินก็มีจิตใจอันแน่วแน่ต่อศาสนาที่พระมารดาได้เพียรปลูกฝัง จนทำ ให้ศาสนาคริสต์หลุดจากการเป็นศาสนาใต้ดินพลิกคัมภีร์ไบเบิลมาเป็นหนังสือถูกกฎหมาย จนมาถึงปัจจุบันนี้ไบเบิลได้ชื่อว่าเป็นหนังสือที่ถูกขายออกไปมากที่สุดในโลก
จากการบันทึกของกินเนสส์บุ๊ก นั้น ไบเบิลเป็นที่ 1 ตลอดกาล และหากถามถึงที่ 2 ก็จะพบว่านั่นคือผลงานจากปลายปากกาของนักเขียนหญิง นามอกาธาคริสตี้
นวนิยายสืบสวนสอบสวนกว่า 80 เรื่องที่อกาธา คริสตี้สร้างสรรค์ขึ้นนั้น ขายไปแล้วกว่า 4,000 ล้านเล่มจุดเริ่มต้นของการเป็นราชินีแห่งอาชญนิยายของอกาธา คริสตี้มาจากผู้หญิงคนหนึ่งนามคลาริสซา มาร์กาเร็ต โบห์เมอร์ “คุณแม่”ของอกาธานั่นเอง
อกาธาคริสตี้.
แม่มักจะเล่านิทานสนุกๆให้ลูกสาวตัวน้อยได้ฟัง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาเองหรือเรื่องประหลาดๆที่บางเรื่องแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของความลึกลับและฆาตกรรมโดยเรื่องที่อกาธาบอกว่าชอบมากที่สุดคือ เรื่องเทียนไขใส่ยาพิษจึงไม่น่าแปลกเลยที่เธอจะเติบโตมากลายเป็นราชินีแห่งนิยายลึกลับ
อกาธาผูกพันกับแม่มากและในครั้งหนึ่งเมื่อแม่พาไปเที่ยวพักผ่อนที่อียิปต์ ฤดูหนาวที่ไคโรก็เป็นฉากหลังอันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อกาธาจดปลายปากกาเขียนนิยายเป็นครั้งแรกก่อนจะมีการขัดเกลาเรื่อยๆ และหนังสือเรื่องแรกที่ออกมาวางจำหน่ายใน ค.ศ.1920 คือเรื่อง The Mysterious Affair at Styles และนับแต่นั้นงานเขียนก็กลายเป็นชีวิตของ
อกาธา คริสตี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่คุณแม่ผู้ใกล้ชิดจากไปในปี 1926 อกาธาก็กลายเป็นคนหดหู่หมดกำลังใจแต่ก็ยังสร้างสรรค์ ผลงานชิ้นเยี่ยมออกมาได้อีกมาก
และหากถามถึงความรักความผูกพันที่อกาธา คริสตี้ มีต่อแม่แล้ว คงต้องยกคำกล่าวที่เธอเคยกล่าวเอาไว้ว่า”ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้น ไม่เหมือนสิ่งอื่นใดในโลกอยู่เหนือกว่ากฎหมายหรือความสงสาร ทำให้กล้าเผชิญทุกสิ่งและสามารถทำลายได้ทุกอย่างที่จะพรากรักระหว่างแม่กับลูกไป”
คือแม่…คือแรงบันดาลใจ
12 สิงหาคมวันแม่ของคนไทย วันที่เราจะได้ย้อนคิดว่าแม่…ให้อะไรกับเรามามากแค่ไหน
เพราะแม่…คือแรงบันดาลใจ.