ความนอบน้อมเชื่อฟังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงพระกายต่อหน้าอัครสาวกทั้ง 3 คือ เปโตร ยากอบ และยอห์น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับท่านทั้ง 3 เป็นการยืนยันที่ว่า ความทุกข์ทรมานและความตายที่พระองค์จะต้องรับในเวลาอันใกล้นี้ จะเป็นความทุกข์ทรมานและความตายที่ไม่สูญเปล่าหรือไร้คุณค่า แต่จะเป็นความทุกข์ทรมาน และความตาย ที่จะนำความรุ่งโรจน์มาสู่พระองค์
การจำแลงพระกายบนภูเขายืนยันถึงคุณค่าของไม้กางเขน นั่นคือ ไม้กางเขนเป็นวิถีนำไปสู่ความรุ่งโรจน์ Per Crucem ad Lucem (คติพจน์ของพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู)
แต่เพื่อจะบรรลุถึงความรุ่งโรจน์ (Lucem)ทุกชีวิตต้องผ่านไม้กางเขน (Crucem) รวมทั้งชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าด้วย
พระเยซูคริสตเจ้าทรงวางรูปแบบของการบรรลุถึงความรุ่งโรจน์ สำหรับพวกเราทุกคน
แต่การจำแลงพระกายในขณะนี้ หรือ การเปลี่ยนแปลงหลังจากการกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์หลังความตาย เป็นผลมาจากสิ่งเดียว และสิ่งนั้นถูกกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจน ในจดหมายของนักบุญเปาโล ถึงชาวฟิลิปปี บทที่ 2 ข้อ 5-11
เปาโลเขียนไว้ว่า “จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด
แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า
พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้น
เป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน
แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น
ทรงรับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา
ทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์
ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับ แม้ความตาย
เป็นความตายบนไม้กางเขน
เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่ง
พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น
เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน
รวมทั้งใต้พื้นพิภพ
จะย่อเข่าลงนมัสการพระนามเยซูนี้
และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่า
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าพระบิดา
ข้อความทั้งหลายทั้งปวงในจดหมายถึงฟิลิปปี บทที่ 2 ข้อ 5-11 บรรยายถึงความสุภาพถ่อมตนของพระเยซูคริสตเจ้าและความสุภาพถ่อมตนนี้ นำพระเยซูเจ้าไปสู่ความนอบน้อมเชื่อฟัง ต่อพระบิดาในทุกเรื่อง
พระเยซูเจ้าทรงยอมทำตามน้ำพระทัยพระบิดาในทุกสิ่งทุกอย่าง
และความนอบน้อมเชื่อฟัง ได้นำพระองค์ไปสู่ไม้กางเขน
ไม้กางเขน V จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความนอบน้อมเชื่อฟัง
ไม้กางเขน V จึงเป็นเครื่องหมายของการยอมทำทุกอย่างที่พระบิดาสั่งโดยการตัดใจ (V) ไม่ทำตามใจตัวเอง
และประโยคสำคัญ ที่เป็นเสียงมาจากเมฆ และแน่นอนจะเป็นเสียงของใครไปไม่ได้นอกจากเป็นเสียงของพระบิดา
“ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเราผู้ที่เราได้เลือกสรร (เป็นบุตรสุดที่รักของเรา) จงฟังท่านเถิด”
“จงฟังท่านเถิด” หรือ “จงเชื่อฟังท่านเถิด” หรือ ด้วยคำพูดของแม่พระ “เขาบอกให้ท่านทำอะไรก็จงทำเถิด”(ยอห์น 2:5)
คำสั่งทั้งหมดเรียกร้อง “ความนอบน้อมเชื่อฟัง”
คำสั่งทั้งหมดเรียกร้อง “ชีวิตแห่ง V” ชีวิตแห่งความนอบน้อมเชื่อฟัง หรือ ชีวิตที่ไม่ทำตามใจตัวเองแต่ทำตามใจพระตลอดเวลาชีวิตดังกล่าวนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เป็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งโรจน์
เป็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ การมีชีวิตใหม่ หรือ การกลับคืนชีพ
การจำแลงพระกายของพระเยซูคริสตเจ้าบนภูเขาลูกนั้น บอกเป็นนัยยะกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นก่อนตาย
การกลับคืนชีพมีชีวิตใหม่ จะต้องเกิดขึ้นก่อนตาย
หลายครั้งเรามักจะคิดไปว่า การคืนชีพมีชีวิตใหม่เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังความตาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การคืนชีพมีชีวิตใหม่ เป็นกระบวนการที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนตาย คือ ก่อนหมดลมหายใจ เพราะนั่นคือหลักประกันเพียงอันเดียว และแน่นอนที่สุด ว่าหลังจากเราตาย หมดลมหายใจไปแล้วเราจะได้กลับคืนชีพแน่ๆ
แต่ถ้าก่อนตายเรายังไม่เปลี่ยนชีวิต หลังความตายเราจะมีชีวิตที่เปลี่ยนได้อย่างไร?
และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ และต้องกล่าวถึงก็คือ ความตาย(ตายต่อตัวเอง) และการคืนชีพ (มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิมและไม่เหมือนเดิม) เป็นกระบวนการต่อเนื่องอันเดียวกัน และแยกจากกันไม่ได้ และถ้าค-ริสตชนแต่ละคนสามารถตายและคืนชีพ ในขณะนี้และเวลานี้ ชีวิตของเราจะนำความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่มาสู่พระศาสนจักร สู่สังคม และสู่โลกที่เราอาศัยอยู่