สวัสดีครับ สัปดาห์ละครั้ง…
“พระวาจาของพระเจ้า” เป็นคำที่เราได้ยินกันทุกๆวันและบางครั้งวันละหลายครั้งด้วยอย่างน้อยที่สุดก็ในเวลาที่เราร่วมพิธีมิสซาเมื่อผู้อ่านพระวาจาจบแล้วก็จะบอกว่า“พระวาจาของพระเจ้า”เมื่อก่อนเขาใช้คำว่า“นี่คือพระวาจาของพระเจ้า” ภายหลังผู้รู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบอกว่าไม่ต้องใช้คำว่า“นี่คือ”เพราะรู้อยู่แล้ว
ท่านทั้งหลายเคยสังเกตหรือไม่เวลาผู้อ่านบทอ่านที่1 และที่2 บอกว่า“พระวาจาของพระเจ้า”เราจะตอบว่า“ขอขอบพระคุณพระเจ้า”แต่พอคุณพ่ออ่านพระวรสารซึ่งเป็นบทอ่านที่3 และบอกว่า“พระวาจาของพระเจ้า”เราจะตอบว่า“ขอพระคริสตเจ้าทรงพระเจริญเทอญ”
ที่มาก็คือบทอ่านที่1 ซึ่งส่วนมากจะเป็นบทอ่านจากพระคัมภีร์ภาคพระธรรมเก่าบทอ่านที่2 ซึ่งมักจะมาจากพระธรรมใหม่คือหนังสือกิจการอัครสาวกหรือจากจดหมายของนักบุญเปาโลและนักบุญอื่นๆซึ่งเป็นเรื่องเล่าเรื่องเตือนสอนประชาชนโดยอ้างถึงพระเจ้าและพระเยซูเจ้าส่วนในบทอ่านที่3 หรือบทพระวรสารนั้นจะเป็นเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงสอนด้วยพระองค์เองคำตอบจึงเป็นการนมัสการสรรเสริญพระเยซูโดยตรงจึงกล่าวว่า“ขอพระคริสตเจ้าทรงพระเจริญเทอญ”แทนคำว่า“ขอขอบคุณพระเจ้า”
ความสำคัญของบทอ่านทั้ง3 บทในมิสซาวันอาทิตย์และวันสมโภช(วันธรรมดาจะมีเพียง2 บทและบทที่2 จะเป็นพระวรสารเสมอ) บทพระวรสารจึงมีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นองค์พระเยซูเองที่ทรงตรัสกับเราเหตุนี้เราจึงพบว่าผู้อ่านพระวรสารจะต้องเป็นผู้รับศีลบวชแล้วคือสังฆานุกรหรือพระสงฆ์เท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้เวลาเราฟังหรืออ่านพระวรสารเราจึงต้องพยายามปรับตัวของเราประหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ต่อพระพักตร์ขององค์พระเยซูเจ้าหรืออยู่ในเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆด้วยจิตใจและสมาธิที่เรามีเราจะพบว่าเป็นพระเยซูที่ตรัสกับเรากำลังบอกอะไรกับเรา
เหตุนี้พิธีกรจึงมักจะเชิญให้เราพนมมือเพื่อตั้งใจฟังพระวาจาที่ทรงตรัสกับเรา… คราวนี้หลายครั้งเราก็เลยทำด้วยความเคยชินมือก็พนมอยู่แต่จิตใจสมองกับคิดถึงเรื่องอื่นๆหูก็เลยไม่ทำงานไม่ได้ยินพระวาจาของพระองค์…
วันนี้จึงขอจบด้วยคำถามที่ให้ทุกท่านตอบในใจคือ“ท่านมีอาการดังกล่าวนี้บ้างหรือไม่?” …สวัสดีครับ