อัธยาศัยไมตรีและความรักแบบพระ
จากข้อเขียนของหนังสือปฐมกาลบทที่ 18 ข้อ 1-10 เราพอจะเห็นธรรมเนียมปฏิบัติ ในวิถีชีวิตของชาวยิวในยุคสมัยของอับราฮัม ในการต้อนรับขับสู้คนแปลกหน้าที่ตนไม่รู้จัก ด้วยการให้อาหารและที่พักแก่ผู้เดินทางที่เดินทางผ่านบ้านของตน
ในวันนี้อับราฮัมต้อนรับชายแปลกหน้า 3 คน ที่เดินทางผ่านเต็นท์ที่พัก เราจะเห็นการต้อนรับแบบเดียวกันที่ โลท หลานชายของอับราฮัมได้ทำในการต้อนรับ ทูตสวรรค์ 2 องค์ที่ซ่อนรูปมาในร่างของชายแปลกหน้า ที่พระเจ้าทรงส่งมาช่วยโลทและครอบครัวที่เมืองโสโดม ในปฐมกาล บทที่ 19 ข้อ 2
การต้อนรับแขกแปลกหน้าและการให้เกียรติอย่างสูงส่งแก่คนแปลกหน้าเหล่านั้น เป็นการปฏิบัติบนพื้นฐานของความเชื่อฟังต่อพระเจ้า และถือเป็นวิธีการง่ายๆที่ปฏิบัติได้เพื่อแสดงออกถึงความนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระเจ้า
การต้อนรับขับสู้แขกแปลกหน้าให้ที่อยู่ที่พักและอาหารดูเหมือนจะอยู่ในกระแสเลือดของวิถีชีวิตยิวโดยทั่วไป และในพระวรสารวันนี้ บ้านของมารธา และมารีย์ก็ได้จัดการต้อนรับพระเยซูเจ้าและคณะ
การต้อนรับขับสู้ดังกล่าว หรือ ที่เราเรียกว่า “อัธยาศัยไมตรี” เป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำในวิถีชีวิตของคริสตชนยุคแรกเริ่ม “อย่าละเลยที่จะต้อนรับแขกแปลกหน้า เพราะเมื่อต้อนรับแขกแปลกหน้าบางคนได้ ต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว” (ฮีบรู บทที่ 13 ข้อ 2)
หลายท่านอาจจะเริ่มมีความคิดขัดแย้งอยู่ในสมองแล้ว ว่าในภาวะปัจจุบันจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร มันเสี่ยงจนเกินไป และคนสมัยนี้ก็ไว้ใจกันได้ยากเหลือเกิน มองหน้าดูท่าทางเป็นผู้ดี แต่ไส้ในก็คือคนขี้โกงหรือโจรเราดีๆนี่เอง และเมื่อคิดอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเราก็เลยเกิดความคิดฝั่งใจและสุดท้ายไม่ไว้ใจใครเลยแม้แต่คนเดียว หรือไม่ก็สงสัยทุกคนไปหมดที่เป็นคนแปลกหน้า อีกทั้งยังมีความคิดพาลพาโลไปถึงแม้บุคคลที่เรารู้จักมักคุ้นด้วย
เราเริ่มสร้างเกราะแห่งความระมัดระวังอย่างสุดๆ เพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกหลอก และกลายเป็นคนรอบคอบแบบชนิดเกินกว่าเหตุ จนไม่สามารถและไม่พร้อมที่จะช่วยใครอย่างง่ายๆโดยกล่าวว่า “ป้องกันไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ดีกว่า” และที่สุดก็กลายเป็น “กบในกะลา” ไปโดยอัตโนมัติ
ความรักแบบพระเยซูเจ้าเรียกร้องความกล้าได้กล้าเสีย ความรักแบบพระเยซูเจ้าทำให้ผู้ที่รักพร้อมที่จะสูญเสียหรือยอมสูญเสียแม้จะถูกหลอก
ตัวพระเยซูเจ้าเองย่อมทรงรู้ล่วงหน้าแล้วว่า การไถ่บาปของพระองค์ที่ต้องยอมมอบพระองค์ทั้งครบให้แก่มนุษย์ เป็นการกระทำที่ต้องยอมเสียทุกสิ่งแม้ชีวิตและเลือดหยดสุดท้าย ในเวลาเดียวพระองค์ก็ย่อมทรงรู้ด้วยว่าพระองค์จะต้องถูกหลอกนับครั้งไม่ถ้วน จากมนุษย์ที่ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่
เราสัญญากับพระองค์นับครั้งไม่ถ้วนว่าเราจะกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่สุดท้ายก็หันกลับไปทำสิ่งเลวๆนั้นอีกเหมือนเดิม เราเข้ามาแก้บาป แต่สุดท้ายก็กลับไปทำบาปเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่การไถ่บาปพระเยซูเจ้าก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความรักและความเมตตายังคงปรากฏให้เราได้เห็น จากการที่พระองค์ทรงยอมสละชีวิตของพระองค์ตายเพื่อไถ่บาปของเราอยู่ทุกๆวันบนพระแท่นบูชา
ชักจะเขียนเรื่อยเปื่อยไปจาก เรื่องจากอัธยาศัยไมตรี ไปจนถึงเรื่องของความรักที่กล้าได้กล้าเสียเพราะฉะนั้นขอจบแค่นี้ดีกว่า แต่ขอฝากข้อคิดสุดท้ายไว้อย่างนี้คือ เมื่อพระเยซูเจ้าถูกหลอกครั้งแล้วครั้งเล่า เราจะยอมถูกหลอกสักครั้งสองครั้ง เพื่อจะได้ทำตามแบบอย่างพระองค์บ้าง จะไม่ได้เทียวหรือ?