อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พุทธทาสภิกขุได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆไว้เล่มหนึ่ง มีผู้นำพิมพ์ออกเผยแพร่ หนังสือเล่มนี้มีแค่ 31 หน้า และชื่อหนังสือคือ “ยิ่งฉลาดยิ่งทุกข์” ในหนังสือเล่มดังกล่าวได้กล่าวถึงสาเหตุของความทุกข์ โดยอธิบายว่าต้นเหตุของทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอก หรืออะไรต่ออะไรที่อยู่นอกตัวเรา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ แต่สาเหตุของความทุกข์เกิดจากต้นตอสำคัญคือ “ตัวเราเอง” ท่านอธิบายว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเอาจิตใจของเราไปยึดเกาะติดอยู่กับสิ่งภายนอก เมื่อนั้นความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น คำสำคัญคือ “ใจยึดติดอยู่กับสิ่งภายนอก” ซึ่งท่านแปลสั้นๆก็คือ “ตัวกู-ของกู” สอดคล้องกับข้อความของหนังสือปัญญาจารย์ และ พระวรสารลูกาในวันนี้
ในพระวรสารของลูกา พระเยซูเจ้ามิได้เพียงแค่ “ตบหน้า” เศรษฐีในพระวรสารเท่านั้น และยัง “ตบหน้า” พวกเราทุกๆคน เพราะในความเป็นจริงมนุษย์ส่วนใหญ่ “คิด” และ “รู้สึก” เหมือนเศรษฐีผู้นั้น
พระเยซูเจ้าเรียกเศรษฐีผู้นั้นว่า “เจ้าคนโง่” โง่ทั้งๆที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย
ความโง่ของเศรษฐีเกิดมาจาก “ความเขลาของปัญญา” ที่มองและคิดอยู่เพียงอย่างเดียวคือ “ทุกอย่างที่ตนมีและทุกอย่างที่ตนเป็น” เป็น “ของของตัวเอง” ขอให้สังเกตคำที่ลูกาใช้ในพระวรสารตอนนี้ คือคำว่า “ของฉัน” ประโยคที่มีคำว่า “ของฉัน” ปรากฏอยู่ให้เห็นอยู่ทั่วไป น่าเสียดายที่คำแปลในพระคัมภีร์ภาษาไทยตัดคำ “ของฉัน” ออกไปเกือบหมดทำให้ขาดความสำคัญของสิ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการ “สื่อ” แต่ถ้าดูในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษคำว่า “ของฉัน” หรือ “my” จะปรากฏอยู่ให้เห็นทั่วไปหมดเช่น
พืชผลของฉัน my harvest
ยุ้งฉางของฉัน my barn
ข้าวและสมบัติทั้งหมดของฉัน my grain and my wealth
ตัวของฉัน my soul
และนี่คือความ “โง่” ในการมองสรรพสิ่งในโลก เมื่อใดก็ตามที่เรามองสรรพสิ่งว่าเป็น “ของเรา” หรือ “ต้องเป็นของเรา” หรือแม้แต่ “ควรเป็นของเรา” ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น
ในความเป็นจริงทุกอย่างที่เรามี และทุกอย่างที่เราเป็น ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระ ที่พระองค์ประทานให้แก่เราผ่านทางช่องทางต่างๆ และพระองค์ทรงฝากสิ่งเหล่านั้นไว้ให้เราช่วยดูแลแทนพระองค์ เพื่อให้รักษาไว้ให้ใช้อย่างประหยัดและรู้คุณค่า และพร้อมแบ่งปันให้แก่ผู้เดือดร้อน
ปัญญาจารย์กล่าวว่า ทุกอย่างล้วนอนิจจัง คือทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่คงอยู่สูญสลายได้ เปลี่ยนมือได้และที่สำคัญ เวลาตายเราก็เอาไปไม่ได้
ทั้งปัญญาจารย์ และพระวรสารในวันนี้ เน้นความจริงประการนี้คือ ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยง ดังนั้นอย่ายึดเกาะอยู่กับมัน แม้แต่ท่านเปาโลเองในจดหมายก็พูดในลักษณะดังกล่าว “……จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบน……จงคิดถึงแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบน อย่าพะวงถึงสิ่งของบนแผ่นดิน…..”
สรรพสิ่งไม่เที่ยง ดังนั้นสิ่งที่ไม่เที่ยงจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ พุทธศาสนาจึงสอนเรื่อง “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” เราจะต้องมองสัจจธรรมนี้ให้เห็น และปฏิบัติตามที่ท่านเปาโลตักเตือน “จงใฝ่หาแต่สิ่งที่อยู่เบื้องบน” แต่การจะใฝ่หาสิ่งที่อยู่เบื้องบนได้เราจะต้อง “ตายจากโลกนี้” คือทำใจให้ไม่เกาะติด หรือ ยึดติดกับโลก
“ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”