เลิกเข้าใจความหมายของ “ความเชื่อ” แบบเก่าๆเสียที
จากความคิดเก่าๆที่ว่า ความเชื่อ คือ ความวางใจและมั่นใจในพระเจ้า มอบทุกสิ่งไว้ให้พระจัดการ และเพื่อจะมีความเชื่อต้องสวดขอพระให้เพิ่มพูนความเชื่อ ดังที่บรรดาอัครสาวกได้ขอพระเยซูเจ้าในวันนี้ “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด”
ในจุดประสงค์ข้อที่ 5 ของการสวดสายประคำปี 2013 ก็ “เพื่อขอพระแม่มารีย์เพิ่มพูนความเชื่อผ่านทางการสวดสายประคำ” สรุปแล้ว แสดงว่าเมื่อสวดขอแม่พระในเรื่องนี้ ความเชื่อก็จะเพิ่มพูนขึ้น
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า
ความเชื่อ คือ ความวางใจและความมั่นใจในพระเป็นเจ้าใช่หรือไม่? คำตอบคือ “ใช่นิดเดียว” ขอเน้นนะครับว่า “ใช่” แต่ “ใช่นิดเดียว”
ส่วนคำถามที่ 2 ก็คือ ต้องสวดขอจากพระเยซูเจ้า หรือ จากแม่พระใช่ไหม ความเชื่อจึงจะเพิ่มขึ้น? คำตอบคือ “ไม่ใช่”
เพราะเมื่อดูจากพระวรสารของนักบุญลูกาของวันอาทิตย์นี้แล้ว หลังจากที่อัครสาวกขอพระเยซูเจ้าให้เพิ่มความเชื่อของพวกเขา แทนที่พระเยซูเจ้าจะบอกว่า “เรายินดีจะเพิ่มความเชื่อให้พวกเจ้า” แต่พระเยซูเจ้ากับเฉไฉไปพูดเรื่อง ต้นหม่อนเชื่อฟังคำสั่ง และ คนใช้ปฏิบัติตามคำสั่งของนาย
การเฉไฉไม่ตรงประเด็นของพระเยซูเจ้า ก็เพื่อจะบอกเป็นนัยยะ หรือ ชี้ประเด็นให้เห็นว่า ความเชื่อจริงๆแล้วคืออะไร?
มิหนำซ้ำพระเยซูยังตบท้ายพระวรสารวันนี้อีกว่า “ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกันเมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น”
สรุปแล้วพระเยซูเจ้าต้องการจะบอกอัครสาวกว่า ความเชื่อ คือ การปฏิบัติตามคำสั่ง หรือ ได้เคยพูดเคยเขียนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า ความเชื่อ คือ ความเชื่อฟังก็ตรงกับที่นักบุญยาก๊อบเขียนไว้ในจดหมายของท่านว่า
“พี่น้องทั้งหลาย จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่า มีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วย…ให้เขารอดพ้นได้หรือ…” (ยาก๊อบ 2 ข้อ 14) และ
“ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว” (ยาก๊อบ 2 ข้อ 17)
ท่านนักบุญยาก๊อบต้องการจะเน้นว่าความเชื่อจำเป็นต้องมีการกระทำ หรือ มีความเชื่อต้องมีความเชื่อฟังตามมา คือ ผู้มีความเชื่อ คือ ผู้ที่ยอมทำทุกอย่างที่พระเยซูสั่งให้ทำ อันได้แก่ การยอมปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้าในทุกตัวอักษร และแม่พระก็กำชับเราว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยอห์น 2:5) ดังนั้นการมีความเชื่อจึง
ไม่ใช่มานั่งสวดบทแสดงความเชื่อซ้ำไปซ้ำมา
ไม่ใช่สวมใส่เสื้อปีความเชื่อสีต่างๆ
ไม่ใช่ประดับประดาบ้านช่องด้วยธงปีแห่งความเชื่อ
ไม่ใช่ติดสติ๊กเกอร์ปีแห่งความเชื่อไว้ที่หน้ารถหลังรถ
ท่านยาก๊อบยังได้ยกตัวอย่างท่านอับราฮัมบุรุษแห่งความเชื่อ ที่ยอมทำทุกอย่างที่พระสั่งให้ทำ แม้พระจะสั่งว่าให้เอาอิสอัคบุตรคนเดียวของท่านไปฆ่าบูชา ท่านก็ยอมทำตาม เชิญอ่านเรื่องนี้ในจดหมายของนักบุญยาก๊อบ บทที่ 2 บทเดียวกัน ตั้งแต่ข้อ 18 ถึง 26 เราจะเข้าใจความหมายของความเชื่ออย่างทะลุปรุโปร่ง
ยังมีพระวรสารอื่นๆ ที่พระเยซูเจ้าต้องการสอนเรื่องความเชื่อ ที่พ่วงกับ การปฏิบัติตามคำสั่ง เชิญอ่านเรื่องของนายร้อย ในพระวรสารมัทธิวบทที่ 8 ข้อ 5 ถึง 13 และอีกใน มัทธิว บทที่ 7 ข้อ 21 ถึง 27 เรื่องการเป็นศิษย์แท้
ดังนั้นการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือ ความนบนอบเชื่อฟัง คือ หัวใจของความเชื่อ หรือ ถ้ามี ความเชื่อก็ต้องแสดงออกด้วยความเชื่อฟัง คือ การยอมปฏิบัติตามไม่ว่าจะสั่งให้ทำอะไร
จนวันนี้ชีวิตคริสตชนของเราได้แสดงออกถึงความเชื่อฟังในสิ่งที่พระเยซูเจ้าสอนมากน้อยแค่ไหนแล้ว? ชีวิตของเราได้เปลี่ยนไป ตามที่พระเยซูเจ้าได้สั่งได้สอนแค่ไหนแล้ว? เรามุ่งเฉลิมฉลองปีแห่งความเชื่อ โดยการเน้นสิ่งสำคัญ คือ การพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตให้สอดคล้องกับคำสอนของพระเยซูเจ้า หรือ เรามุ่งแต่เพียงจัดอีเว้นต์ (Events) ต่างๆภายนอกเท่านั้น? และสุดท้ายชื่อ “ปิดปีแห่งความเชื่อ” เป็นชื่อที่เชิญชวนให้เกิดความคิดในทางลบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหมือนกับจะบอกว่าปีแห่งความเชื่อปิดแล้ว ต่อไปนี้เลิกดำเนินชีวิตที่มีความเชื่อฟังได้แล้ว แต่ที่สำคัญงานปิดปีแห่งความเชื่อกลับไปจัดที่วัดอยุธยา ซึ่งเป็นวัดแรกที่ความเชื่อคริสตชนถือกำเนิดและเริ่มต้น เป็นที่ๆคริสตชนกลุ่มเล็กๆ เริ่มต้นดำเนินชีวิตเชื่อฟังและถือปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้า แต่คริสตชนปัจจุบันกลับไปจัดงานปิดปีแห่งความเชื่อในสถานที่สำคัญแห่งนี้….ก็คิดเล่นๆสนุกๆเท่านั้น