สวัสดีครับ
สัปดาห์ละครั้ง อาทิตย์ที่ 20 ต.ค. 2013
ภาษาไทยของเรามีคำที่มีความหมายคล้ายๆกันมากมายและดูเหมือนว่าภาษาไทยของเรามักเราจะมี“สร้อย”ต่อท้ายคำทำให้ไพเราะขึ้นเช่นคำว่า “มากมาย”ถ้าจะให้ไพเราะขึ้นเราจะได้ยินคำว่า“มากมายก่ายกอง” ซึ่งทำให้รู้สึกว่ามากจริงๆหรือคำว่า“กินข้าวหรือยัง?” ถ้าจะให้เพราะขึ้นก็บอกว่า“กินข้าวกินปลาหรือยัง?” อย่างนี้เป็นต้น
มีอีกคำหนึ่งคำว่า“อ้อนวอน”น่าจะมาจากคำว่าออดอ้อน(ขี้อ้อน)+วิงวอน(วอนขอ)ความหมายคือขอความเห็นใจด้วยท่าทีของความสุภาพและจะมีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อได้ตามที่ต้องการจนทำให้เกิดคำขึ้นมาอีกว่า“ตื้อ”เป็นคำภาษาชาวบ้านๆนั่นเองและหลายครั้งก็ได้ผลเสียด้วย
ไม่ทราบว่าถ้าเราถ้าเราจะนำมาเปรียบเทียบกับอุปมาที่พระเยซูทรงสอนศิษย์ในพระวรสารวันนี้ได้หรือเปล่าผมคิดว่าน่าจะเข้ากันได้นะวันนี้พระเยซูทรงสอนเรื่อง“การภาวนา”ซึ่งต่างจากการที่พระองค์ทรงสอนให้ศิษย์ภาวนาในเนื้อหาสาระที่พวกศิษย์ขอให้พระองค์ทรงสอนบทข้าแต่พระบิดา(มธ. 6:7-14)
อุปมาที่พระองค์ทรงสอนในวันนี้เป็นเรื่องของ“ท่าที”ในการภาวนามากกว่าพระองค์ทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์รู้จักเพียรทนในการภาวนาด้วยความมั่นใจในพระเจ้าและที่ควรคำนึงก็คือ“ทุกสิ่งนั้นเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์”มิใช่เป็นไปตามน้ำใจของตนเอง
อย่างไรก็ดีผมคิดว่าพระเป็นเจ้ามิใช่ผู้พิพากษาคนนั้นพระองค์มิได้โปรดประทานพระพรความช่วยเหลือแก่มนุษย์เพราะทน“ลูกตื้อ”ของเราไม่ไหวหากแต่เพราะพระองค์ทรงรักเรามากกว่าและเพราะความรักนี้แหละที่พระองค์ทรงประทานพระพรแก่เราจึงมิใช่เพียงแค่เหตุผลแต่เป็นเรื่องอยู่เหนือเหตุผลพระองค์ทรงประทานสิ่งที่ดีที่สุดแก่มนุษย์ซึ่งหลายครั้งมิใช่ตามที่มนุษย์คิดและปรารถนาเพราะพระองค์ทรงทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา…
ด้วยเหตุนี้เองอย่าคิดหรือกระทำเหมือนบางคนที่สวดภาวนาขอพระอย่างนี้อย่างโน้นครั้นไม่ได้ดังใจก็ต่อว่าพระบางครั้งพาลทะโลทิ้งวัดทิ้งความเชื่อเพียงเพราะ“ไม่ได้ดังใจ”เท่านั้น… อย่างนี้เขาเรียกว่าขาดความเชื่อความไว้ใจในพระแล้วจะให้พระองค์ช่วยได้อย่างไร…ท่าทีของการภาวนาหรือความสัมพันธ์ของเรากับพระจึงต้องมีลักษณะของลูกน้อยที่เชื่อและไว้ใจในบิดามารดาของตนอย่างเต็มเปี่ยมเช่นกัน… สวัสดีครับ