การภาวนาเปลี่ยนชีวิต
เมื่อเริ่มอ่านพระวรสาร มัทธิว บทที่ 17 ข้อ 1-9 ของวันอาทิตย์นี้ ก็เริ่ม เกิดอาการขัดความรู้สึก พอสมควร ที่พระเยซูเจ้า ลงทุน พาอัครสาวกทั้ง 3 ฝ่า ความยากลำบากเดินขึ้นภูเขาสูง และเริ่มต้นแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ “จำแลงพระกาย” ต่อหน้าพวกเขา ทำให้นึกถึงคำในพุทธศาสนา “อวดอุตริมนุสธรรม” คืออวดความวิเศษของตัวเอง จึงไปค้นพระวรสารอีก 2-3 ฉบับ จึงได้คำตอบจากฉบับของ นักบุญลูกา ว่า พระเยซูเจ้าพา เปโตร ยอห์น และยากอบ “ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา” (ลูกา 9:28)
อัครสาวกทั้ง 3 นี้มักจะอยู่ในเหตุการณ์ การภาวนาสำคัญๆ ของพระเยซูเจ้าอยู่เสมอ เช่นในสวนเกทเสมนี
ลูกาบรรยายต่อไปว่า “ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไป และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า” (ลูกา 9:29)
ทำไมพระเยซูเจ้าสวดภาวนาแล้วหน้าตาของพระองค์เปลี่ยนไป “เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์” แต่พวกเรา ยิ่งสวดไปนานๆ ยิ่งเบื่อ หน้าตาเหนื่อยอ่อน หมดเรี่ยวหมดแรง บางทีระหว่างสวดนานๆ ยังเผลอหลับ และฝันอีกต่างหาก มิหนำซ้ำออกจากวัด หรือ จากที่สวดภาวนาแล้ว ยังคุยโม้กับคนอื่นว่า “วันนี้สวดนาน หลายชั่วโมง”
คำตอบคือ การสวดของเราไม่เหมือนกับการสวดของพระเยซูเจ้า
นักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา ในหนังสือ “ชีวิต” ของท่าน บทที่ 8 ข้อที่ 5 ท่านเขียนไว้ว่า “ดิฉันคิดว่า จิตภาวนานั้น ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเป็นการสนทนาอย่างสนิทสนมระหว่างเพื่อน มันหมายถึงการสละเวลาบ่อยครั้งเพื่ออยู่ตามลำพังกับพระองค์ ผู้ที่เรารู้ว่าทรงรักเรา” (Prayer is friendship with God)
ดังนั้นสำหรับนักบุญเทเรซา สวดภาวนาคือ การฟังเพื่อนพูด และการพูดกับเพื่อน แต่ยิ่งกว่านั้น สำหรับเทเรซา คนที่เราพูดด้วยนั้นคือ พระเจ้า ดังนั้น เราต้องให้เกียรติพระองค์ที่จะฟังพระองค์มากยิ่งขึ้น
สำหรับพระเยซูเจ้า คนที่พระองค์สนทนาพูดคุยบนภูเขาลูกนั้นคือ องค์พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของพระองค์
ในการพูดคุยนั้น เราต้อง พยายามอย่างยิ่งที่จะฟังว่า ผู้ที่เราพูดคุยด้วยนั้น ต้องการอะไรจากเรา นี่คือ มารยาทพื้นฐาน หลายคน ชอบพูดอย่างเดียว แต่ไม่ยอมฟังผู้อื่น และพอผู้อื่นอยากจะพูดบ้างก็โกรธ นิสัยเสียจริงๆ
พระเยซูเจ้าทรงฟังพระบิดา และพระบิดาก็ทรงบอกพระองค์หลายเรื่อง แต่เรื่องสำคัญสุดก็คือ เธอต้องเดินหน้าไปรับความทุกข์ทรมานด้วยการตายบนไม้กางเขน เพื่อทำให้แผนการไถ่กู้สำเร็จไป
พระเยซูเจ้าทรงฟังแล้ว อึ้ง พูดไม่ออก ความเป็นมนุษย์ของพระองค์ ทำให้พระองค์รู้สึกกลัว พระวรสารทั้ง 3 ฉบับบันทึกไว้คล้ายๆกันว่า พระองค์ “กลัวแทบสิ้นชีวิต” แต่ลูกายิ่งชัดขึ้นไปอีก “พระองค์ทรงอยู่ในความทุกข์กังวลอย่างสาหัส จึงทรงอธิษฐานอย่างมุ่งมั่นยิ่งขึ้น พระเสโท (เหงื่อ) ตกลงบนพื้นดิน ประดุจหยดโลหิต” (ลูกา 22:44) กลัวจนเหงื่อไหลผสมออกมากับเลือด หรือเครียดจน เส้นโลหิต บางเส้นถึงกับแตก ว่าอย่างนั้นเถอะ
แต่ท้ายที่สุดของการภาวนา พระเยซูเจ้ายอมตัดใจปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา() ทั้งๆที่กลัวสุดขีด
ณ จุดนี้ น้ำพระทัยของพระบิดากลายเป็นน้ำใจของพระองค์ พระองค์ทรงยอมทำตามพระบิดาด้วยความเต็มใจ พระเยซูยอมเผชิญความตายอันโหดเหี้ยม และน่าอาย และนี่คือการตัดใจยอมปฏิบัติตามที่พระบิดาต้องการ เป็นการยอมเพราะความรัก นักบุญเทเรซาบันทึกไว้อีกใน บทที่ 10 ข้อ 5 “ความรักจึงเป็นผลที่แท้จริงของการภาวนา เมื่อการภาวนามีรากฐานอยู่ในความสุภาพ” และตรงกับที่พระเยซูเจ้าพูด “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา” (ยอห์น 14:23)
เมื่อน้ำพระทัยของพระบิดากลายเป็นน้ำพระทัยของพระเยซูเจ้า ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพระเยซูเจ้าและพระบิดาก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตด้านกายภาพ “พระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์” นอกนั้นความเปลี่ยนแปลงยังมีอิทธิพลต่อ สิ่งที่อยู่ใกล้ชิด คือ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง
สรุปแล้ว นี่คือการ ภาวนาของพระเยซูเจ้า ที่มีอิทธิฤทธิ์เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แตกต่างจากการภาวนาของเรา ซึ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย