ความปวดร้าวของพระเอก…พระเอกของเราที่ชื่อพระเยซู
“เอลีเอลีลามาสะบัคทานี” ซึ่งแปลว่า“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ27:46)
วันนี้… “วันอาทิตย์ใบลาน” “อาทิตย์พระมหาทรมาน” ที่ชวนเราพี่น้องคริสตชนและผู้ที่รักในชีวิตของพระเยซูเจ้ามาร่วมกันรำพึงถึงความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตของพระองค์ ห้าสัปดาห์ที่ผ่านมาเราแต่ละคนได้พยายามร่วมรำพึงกับพระทรมานของพระองค์อย่างเต็มที่เท่าที่สามารถบ้างก็ร่วมในการคิดถึงความเจ็บปวดของพระองค์ในช่วงของวจนพิธีกรรม“เดินรูปสิบสี่ภาค” บ้างก็ร่วมในความเจ็บปวดของพระองค์ด้วยการนำตัวเราเองเข้าไปอยู่ในความเจ็บปวดใกล้เคียงกับของพระองค์ด้วยการพลีกรรมทรมานตนเช่นจำศีลอดอาหารหรืออดเนื้ออดกลั้นน้ำใจตนเอง
ความเจ็บปวดปวดร้าวของพระเยซูเจ้า ที่เราหลายคนกำลังสนใจและพยายามร่วมกับความเจ็บปวดของพระองค์ ความปวดร้าวของพระองค์เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นความเจ็บปวดจากบาดแผลต่างๆทั้งที่ศีรษะอันเป็นผลจากมงกุฎหนามบาดแผลทั่วร่างกายอันเป็นผลมาจากการถูกเฆี่ยนตีถูกแทงและถูกตอกด้วยตะปู
“ข้าพเจ้าหันหลังให้แก่ผู้โบยตี… ไม่ซ่อนหน้าแก่ผู้สบประมาทและถ่มน้ำลายรด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยข้าพเจ้าดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ต้องละอายข้าพเจ้าทำหน้าของข้าพเจ้าให้ด้านเหมือนหินข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะไม่อับอาย” (อสย50:6-7)
ยังมีอีกที่พระเอกของเราองค์พระเยซูเจ้านั้นพบกับความเจ็บปวดรวดร้าวในพระทัยของพระองค์ เมื่อปีลาตถามผู้คนที่รายล้อมว่าจะเห็นควรทำเช่นไรต่อพระเยซูเจ้า พวกเขา(รวมทั้งพวกเราที่อยู่ในปัจจุบันด้วย…อันเป็นผลจากบาปที่เราเหินห่างจากพระองค์) ในที่นั้นต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า“ให้เขาถูกตรึงกางเขน” การลงโทษเช่นนี้เป็นการลงโทษโจรผู้ร้ายที่ทำผิดร้ายแรงที่สุดเท่าที่จะมีวิธีลงโทษใดๆจะจัดการได้และสำหรับนักโทษที่น่ารังเกียจที่สุดในสังคม
คำพูดสั้นๆที่ว่า“ให้เขาถูกตรึงกางเขน” หรือพูดอย่างตรงๆแบบสุนัขไม่รับประทานว่า“เอามันไปตรึงกางเขน” นับเป็นการแสดงสิ่งที่อยู่ในใจของผู้คนออกมาแม้ว่าในพระคัมภีร์จะบอกว่าบรรดาหัวหน้าสมณะและผู้อาวุโสจะเสี้ยมสอนยุยงก็ตาม การตอบเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า อัศจรรย์กิจการดีรวมถึงความรักความเมตตาที่พระองค์ทรงทำแบ่งปันและมอบให้กับพวกเขานั้นไม่สามารถละลายหรือทลายกำแพงในหัวใจที่แข็งกระด้างของพวกเขาได้เลยหรือ(รวมถึงหัวใจของเราเองด้วย) ความรักของพระองค์ไม่มีคุณค่าอะไรต่อพวกเขาเลยหรือ นี่แหละที่พ่อมองว่าเป็นพระทรมานอันร้ายกาจที่พระองค์ทรงรับเสียเองเพื่อความรอดของเราทุกคน
“แม้ว่าพรองค์ทรงมีธรรมขาติพระเจ้าแต่มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีนี้สำคัญนัก แต่ทรงสละจนหมดสิ้นทรงรับสภาพดุจทาสเป็นมนุษย์ดุจเรา…ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป2:6-8)
ตรงกันข้ามกับผู้คนส่วนหนึ่งที่เห็นคุณค่าของพระเมตตารักของพระองค์ โดยมี“บาร์ทิเมอัส” ชายตาบอดที่ติดตามพระองค์เป็นภาพสะท้อนแทน เขาฝ่าฝูงชนที่ต่อต้านขัดขวางเขาและลุกขึ้นมาร้องเรียกหาพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเยซูโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้าโปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก10:47)
เขาเห็นพระเยซูเจ้าเห็นคุณค่าความรักของพระองค์เห็นว่าพระองค์เป็นพระเอกสุดสำหรับชีวิตของเขา แล้วเราแต่ละคนล่ะ… เราเห็นคุณค่าในพระทรมานของพระองค์เห็นคุณค่าในกิจการดีและความรักของพระองค์แค่ไหน เราเรียกพระองค์และปฏิบัติชีวิตของเราตามพระองค์พระเอกที่ควรเป็นที่หนึ่งในชีวิตเราแล้วหรือยัง.