บาปหยิ่งจองหอง
ทั้งบทอ่านที่ 1 จากหนังสือประกาศกเศคาริยาห์ และพระวรสารนักบุญมัทธิว พูดถึงเรื่องเดียวกันคือ ความสุภาพถ่อมตน
ประกาศกเศคาริยาห์ กล่าวทำนายถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ว่าเป็นการเสด็จมาที่ต่ำต้อย…..เพราะพระองค์ทรงประทับนั่งบนหลังลา
ส่วนพระวรสารนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าทรงสอนพวกเราให้รู้จักเลียนแบบพระองค์ ผู้ทรงมีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน
เมื่อพูดถึงความสุภาพถ่อมตน ซึ่งเป็นฤทธิ์กุศลเอก ในชีวิตของพระเยซูเจ้าและเพื่อจะได้เข้าใจถึงฤทธิ์กุศลเอกประการนี้อย่างถ่องแท้เราจะต้องมีความเข้าใจถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับความสุภาพถ่อมตน อันได้แก่ บาปหยิ่งจองหอง ซึ่งเป็นบาปต้นประการที่1 ในบาปต้น 7 ประการ
ณ ที่นี้ใคร่ขอนำเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับบาปสำคัญประการนี้ โดยขอคัดคำสอนของ “ผู้หว่าน” ซึ่งเป็นนามปากกาของพระคุณเจ้า พระอัครสังฆราชยอแซฟ ยวง นิตโย ท่านได้แปลหนังสือ อธิบายคำสอน ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารสาสน์ ประกอบด้วยเล่ม 1,2 และ 3 ท่านอธิบายบาปจองหองไว้ในหนังสือ อธิบายคำสอนเล่มที่ 2 หน้า 305 ถึง 307 ไว้ดังนี้
======
(1) ความจองหอง คือ การทะนงตนเกินควร, ทำให้อวดอ้างคุณวุฒิอันตนได้รับจากพระเป็นเจ้า โดยไม่มีเหตุผล และทำให้ถือว่า ตัวดีกว่าผู้อื่น
=
1. อันการรับรู้คุณวุฒิที่ตนมีโดยสุจริต เพื่อสมนาคุณพระเป็นเจ้านั้น ไม่เป็นสิ่งต้องห้าม.- แต่ความจองหองอยู่ที่ ถือตนวิเศษกว่าที่ตนเป็นจริง… ไม่มีใครเทียมเท่า…ยกตนขึ้นเหนือผู้อื่นโดยผิดยุติธรรมใคร่ ขึ้นหน้าผู้อื่น โดยไม่เลือกว่าถูกหรือผิด.-คนจองหอง อวดอ้างทุกสิ่งไป จะเป็นหน้าตา, เสื้อผ้า ฯลฯ…. เขาคิดถึงแต่ตัวเขาคนเดียว และอยากให้ทุกคนคิดถึงตัวเขา เท่านั้น, ชมเขา จนดูเหมือนว่าในโลกมีแต่เขาผู้เดียว. การถือตัวจนเกินขอบเขตดังนี้ เป็นเหตุให้คนจองหอง ทำบาปมากหลาย เช่นมักใหญ่ใฝ่สูงเกินประมาณ, โอ้อวดเกินควร, โอหังวางใจตัวเอง. ตีสองหน้า, หน้าด้าน ดูหมิ่นผู้อื่น ฯลฯ
=
2. ความจองหองทำความ เจ็บใจแก่พระเป็นเจ้านักหนา.- เพราะว่าแทนที่จะสมนาพระคุณด้วยคุณสมบัติที่ตนได้รับจากพระองค์ กลับไปชมตนเอง, แย่งเอาเกียรติมงคลอันได้แก่ พระองค์ มายกให้แก่ตนเอง, ฉะนั้น “ความจองหอง จึงเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้า และ มนุษย์จงเกลียดจงชัง. มันเป็นการเริ่มต้นแห่งบาปทุกๆประการ” (บุตรสิรา 10:7ก+13ก).- ความจองหอง คือบาปของพวกเทวดากบฏ. จงคิดถึง อุปมานเรื่องคนฟารีเซวและคนปูบลีกัน. คนฟารีเซวไม่ได้ไปสวดภาวนา แต่ไปโอ่อวดตัวเองกับพระเป็นเจ้า และไปดูหมิ่นคนปูบลีกัน. เราให้รู้สึกละอายแทนเขา และเรารู้สึกรักคนปูบลีกัน ผู้รู้จักถ่อมตัวเพราะได้ทำบาป. เมื่อกลับไปบ้านเขาจึงกลายเป็นผู้ใคร่ธรรม. พระสวามีเจ้ามีพระดำรัสว่า “พระเป็นเจ้าได้ทรงสดับฟังคำภาวนาของปูบลีกัน แต่ทรงเมินต่อคำภาวนาของคนจองหอง” (ลุก. 13,9-14). เป็นอันว่า “ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นจะรับเทิดทูน, และผู้ใดยกตนขึ้น ผู้นั้นจะถูกกดลง” (ลุก. 14,11).
=
3. ฤทธิ์กุศลอันตรงข้ามกับความจองหอง คือ ความสุภาพ, ฤทธิ์กุศลความสุภาพ ช่วยให้เราวางตัวอยู่ในฐานะอันแท้จริงของเราคือ ในฐานะแห่งสัตผู้ได้รับทุกสิ่งมา (เช่น ชีวิต, สุขภาพ, สติ ปัญญา, พระหรรษทาน ฯลฯ…) ช่วยให้เรารับรู้ความผิด ความขาดตกบกพร่องว่า เป็นของของตัวเรา…ให้เราขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ด้วยทานต่างๆที่เราได้รับจากพระองค์. “ท่านมีอะไรบ้าง ที่ท่านมิได้รับมา, และหากท่านได้รับมาแล้ว เหตุไฉนจึงนำมาอวด ดังมิได้รับมาเล่า?” (1 โกร. 47). จงระวังอย่าคิดว่าตัวท่านเป็นคนวิเศษ คนดีกว่าคนอื่นเลย
=====
อย่าแปลกใจกับข้อเขียนข้างบน เพราะเป็นสำนวนโบราณตั้งแต่ปี 2509 คือ เมื่อ 48 ปีก่อน แต่แม้สำนวนจะโบราณแต่อ่านเข้าใจง่าย
ให้เราตรวจสอบชีวิตของเราดูว่าเรามีคุณลักษณะใดบ้างตามที่บรรยายมาที่เข้าข่ายความหยิ่งจองหอง