15 สิงหาคม วันฉลองอัสสัมชัญ
นิตยสารแม่พระยุคใหม่ ฉบับที่ 172
อัสสัมชัญ
มาจากคำเต็มในภาษาอังกฤษว่า Assumption of Mary หมายถึงการรับการอัญเชิญขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางมารีย์ ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกเชื่อตามพระคัมภีร์ว่า พระนางมารีย์ผู้นิรมลประชวรและได้สิ้นพระชนม์ลง บรรดาอัครสาวกจึงได้ฝังพระศพไว้ในคูหาแห่งหนึ่ง แต่เมื่อศิษย์ (อัครสาวก)ได้กลับไปดูพระศพอีกครั้ง ก็พบว่าคูหาว่างเปล่าเหมือนคูหาของพระเยซูเจ้า และพระนางได้สละชีวิตบนโลกนี้ โดยได้รับการอัญเชิญเข้าสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และกำหนดให้มีการฉลองตรงกับวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ข้อความเชื่อนี้เป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจผิดพลาดได้ และถูกกำหนดขึ้นมาโดยพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1950
ประวัติที่มา
เรื่องแนวคิดอัสสัมชัญมีที่มาย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษต้น ๆ ของพระศาสนจักร ซึ่งหลักฐานเก่าแก่ที่สุดพบได้จากบทบรรยายที่เรียกว่า Liber Requiei Mariae (หนังสือว่าด้วยเรื่องการพักผ่อนของพระแม่มารีย์) เช่นเดียวกับหนังสือหลักฐานอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เชื่อกันว่าพระนางสิ้นพระชนม์ในเขตเยรูซาเล็ม โดยมีนักบุญโทมัสเป็นประจักษ์พยาน เห็นพระนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์จากสุสาน โดยไม่เหลือร่างกายทิ้งไว้บนโลกด้วย คือขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณนั่นเอง ซึ่งในภายหลัง ข้อความเชื่อนี้ก็ได้รับการยอมรับในพระศาสนจักรคาทอลิกว่าเป็นข้อเท็จจริงอันมิอาจผิดพลาดได้ และเป็นข้อความเชื่อที่คริสตศาสนิกชนคาทอลิกทุกคนยอมรับว่าเป็นความจริง
มีหลักฐานว่าคริสตชนให้ความเคารพ และวอนขอพระนางพรหมจารีมารีย์มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะพระนางคือ “พระมารดาของพระเจ้า” หรือในภาษากรีกใช้คำว่า Theotokos ถึงกระนั้นการเฉลิมฉลองพระนางในฐานะ Theotokos อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ที่กรุงเยรูซาเล็ม ณ สถานที่แห่งหนึ่งระหว่างทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองเบธเลเฮม ซึ่งตำนานโบราณเล่าว่า เป็นสถานที่พระนางมารีย์หยุดพัก ระหว่างการเดินทางไปเบธเลเฮมเพื่อคลอดพระเยซูเจ้า
คำภาษากรีกที่ใช้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้คือคำว่า koimesis (การบรรทม) มีความหมาย 2 อย่าง ซึ่งอาจหมายถึงการนอนหลับพักผ่อนทั่ว ๆ ไป หรือการนอนหลับพักผ่อนตลอดไปเมื่อสิ้นชีวิตก็ได้ จนถึงราวปลายศตวรรษที่ 5 คริสตชนยังฉลอง koimesis (หรือที่ภาษาลาตินใช้ว่า “dormitio”) ที่ใกล้ ๆ สวนเกทเสมนี มีพระวิหารซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่ฝังพระศพของพระนางมารีย์ การเฉลิมฉลองนี้จึงได้ชื่อว่า Dormitio Mariae หรือ “การบรรทมของพระนางมารีย์” เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการเข้าสวรรค์อย่างรุ่งเรืองของพระนาง “การบรรทม” หรือการสิ้นพระชนม์ของพระนาง จึงเป็นการเริ่มชีวิตนิรันดรอันรุ่งเรืองในสวรรค์ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับที่เฉลิมฉลองวันตายของบรรดานักบุญมรณสักขี ซึ่งเป็น “วันบังเกิดใหม่” (Dies natalis) ของท่านในชีวิตนิรันดรนั่นเอง เพียงแต่เราไม่ทราบว่าพระนางสิ้นพระชนม์อย่างไรและเมื่อไรเท่านั้น ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 6 พระจักรพรรดิโมริส (539-602) ทรงประกาศพระราชกฤษฏีกา ให้เฉลิมฉลองการบรรทมของพระนางมารีย์นี้ทั่วจักรวรรดิโรมันตะวันออก
ส่วนทางตะวันตกหรือในยุโรป วันฉลองนี้มีวิวัฒนาการคล้าย ๆ กัน คือในศตวรรษที่ 6 ที่กรุงโรม มีวันฉลองถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์อยู่แล้วในวันที่ 1 มกราคม เพื่อระลึกถึงการที่พระนางเป็นพระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้า จนถึงราวปี ค.ศ. 650 พระศาสนจักรที่กรุงโรมจึงรับการฉลองในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จากพระศาสนจักรตะวันออกเข้ามาด้วย เพื่อเฉลิมฉลองพระนางพรหมจารีได้รับเกียรติสูงสุดจากพระเจ้า การฉลองนี้ได้รับชื่อว่า “Dormitio Mariae” (การบรรทมของพระนางมารีย์)
ในศตวรรษต่อมาคือราวปี ค.ศ. 770 วันฉลองนี้ได้ชื่อใหม่ว่า “Assumptio” ซึ่งแปลว่า “การรับขึ้นไป” เพื่อเน้น “วิธีการ” ที่พระนางพรหมจารีมารีย์จากโลกนี้ไปรับเกียรติรุ่งเรืองจากพระเจ้า อันที่จริงความคิดเรื่อง “การรับขึ้นไป” (หรือ Assumptio) นี้เป็นความคิดจากพระคัมภีร์โดยตรง ในพันธสัญญาเดิม ประกาศกเอลียาห์ “ถูกรับขึ้นไป”จากโลกนี้โดยรถเพลิง (2 พกษ 2) ธรรมประเพณีของชาวยิวก็กล่าวว่าโมเสส “ถูกพระเจ้ารับขึ้นไป” เช่นเดียวกัน
ความสำคัญของ อัสสัมชัญ ในคำสอนของคาทอลิก
ลูดวิก อ็อต (Ludwig Ott 1906-1985) นักเทววิทยาชาวเยอรมัน ได้อธิบายในข้อความเชื่อพื้นฐานของคาทอลิกไว้ว่า “ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระนางได้รับการยอมรับจากพระสงฆ์และนักเทววิทยาทั้งหลาย และข้อความเชื่อนี้แสดงออกทางศาสนพิธีของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์”ลูดวิก อ็อต ได้สรุปข้อคิดเห็นสนับสนุนอื่น ๆ และเสริมว่า
“พระนางมารีย์ได้รับการปลดเปลื้องจากบาปกำเนิดและบาปของตน ดังนั้น ความตายที่เกิดกับพระนางจึงไม่ใช่บทลงโทษจากบาปความผิด หากแต่เป็นสิ่งที่สมควรเกิดกับร่างกายของพระนางตามธรรมชาติ คือเป็นร่างเนื้อหนังที่รู้ตาย เสื่อมสลายได้ ดังนั้น ความตายของพระนางจึงเป็นการปลดปล่อยพระนางตามกฎของธรรมชาติ เพื่อให้พระนางได้ไปอยู่ร่วมกับพระบุตรสุดที่รักของพระนางในสวรรค์นั่นเอง” แต่เรื่องความตายที่เกิดกับพระนางนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความตายเกิดกับพระนางจริงหรือไม่ คือพระนางสิ้นพระชนม์และได้รับการยกขึ้นสวรรค์ หรือพระนางไม่ได้เสียชีวิตลงเลยแต่แรก หากแต่ได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทันที ซึ่งข้อความเชื่ออัสสัมชัญ ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพระนางผ่านประสบการณ์ของความตายทางกายหรือไม่ หากแต่ยืนยันอย่างแน่นอนว่า พระนางมารีย์ได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณจริง………