กางเขนที่ช่วยให้รอดพ้น
ณ เวลาที่ทรงแจ้งให้บรรดาศิษย์ทราบว่า พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับทรมาน และถูกประหารชีวิต ก็เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ปีคริสตศักราช 29 ซึ่งในปีรุ่งขึ้นคือ คริสตศักราช 30 ประมาณเดือนเมษายน ก็จะเป็นเวลาที่พระองค์จะต้องถูกประหารด้วยการตายบนไม้กางเขน
การถามคำถามบรรดาอัครสาวก ในบทพระวรสารวันอาทิตย์สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อจะได้ทราบว่า ประชาชนคิดว่าพระองค์เป็นใคร และถามบรรดาอัครสาวกว่า ส่วนตัวอัครสาวกเองพวกเขาคิดว่าพระองค์เป็นใคร ก็เพื่อเป็นการทดสอบดูผลงานที่พระองค์ได้ทรงทำมาเป็นเวลา 2 ปี ว่าการทำงานของพระองค์ช่วยให้ประชาชนเข้าใจความจริงเกี่ยวกับตัวของพระองค์หรือยัง และการทำงานของพระองค์ได้ช่วยให้อัครสาวกและบรรดาศิษย์รู้จักพระองค์จริงๆหรือยัง
ผลก็คือท่านนักบุญเปโตรได้ให้คำตอบแทนเพื่อนๆอัครสาวกอีก 11 คน ว่าพระเยซูคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต หรือ พระเยซูคือพระเมสสิยาห์
คำว่าพระคริสต์ หรือ พระเมสสิยาห์ เป็นคำๆเดียวกันแต่เป็นคนละภาษา พระคริสต์เป็นภาษากรีก ส่วนพระเมสสิยาห์เป็นภาษาฮีบรู แต่ทั้ง 2 คำ มีความหมายว่าเป็น บุคคลที่พระเป็นเจ้าทรงแต่งตั้งหรือกำหนดไว้
วันนี้พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยความลับในขั้นต่อไปคือ พระคริสต์ หรือ พระเมสสิยาห์ ผู้นี้ จะต้องตายอย่างโหดเหี้ยมด้วยการถูกทรมานและถูกตรึงตายบนไม้กางเขน
ความลับวันนี้เป็นสิ่งที่ท่านเปโตรรับไม่ได้ จนท่านต้องบอกกับพระเยซูว่า “เรื่องอย่างนี้ต้องไม่เกิดขึ้น” “เรื่องแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้” จนพระเยซูต้องหันมาตำหนิเปโตรด้วยถ้อยคำรุนแรง “ไอ้ปีศาจ ถอยไปให้พ้น อย่ามาขวางทางของเราเจ้าคิดแบบมนุษย์ เจ้าไม่ได้คิดแบบพระเป็นเจ้า”
สรุปแล้ว แปลว่า การเป็นพระคริสต์ หรือ เป็นพระเมสสิยาห์ต้องยอมลำบาก ต้องยอมทุกข์ทรมาน และต้องยอมถูกตรึงตายบนไม้กางเขน
จากนั้นพระเยซูก็หันมาทางบรรดาศิษย์และบอกกับพวกเขาด้วยคำสั่งสำคัญ “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา…..”
แปลว่า การจะเป็นศิษย์ของพระคริสต์ต้องทำอย่างพระคริสต์ทำ และยังสามารถแปลต่อไปได้อีกว่า ถ้าจะเป็นคริสตชนก็ต้องยอมลำบาก ยอมแบกไม้กางเขน
แต่ไม้กางเขนของเราก็คือการเลิกคิดถึงตนเอง
ไม้กางเขนของเราก็คือการไม่เอาตัวตนของเราเป็นใหญ่
ไม้กางเขนของเราก็คือการตัดใจจากสิ่งที่อยากมีอยากได้
ไม้กางเขนของเราก็คือการลด ละ เลิก การแสวงหา หรือ การดำเนินชีวิตตามวิถีทางของโลก
ภาพแห่งไม้กางเขนต้องเตือนให้เรามองลงไปให้ลึก ถึงความหมายทางจิตวิญญาณของไม้กางเขนเอง นั่นคือ การตัดใจ ไม้ 2 ท่อนที่ตัดกันหมายถึง เราต้องตัดน้ำใจ ความยาก และความปรารถนาส่วนตัวด้วยน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า
สำคัญไม้กางเขนไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นคาทอลิกเท่านั้นแต่ แก่นของสำคัญไม้กางเขนคือ ชีวิตที่ยอมตัดใจ ตัดสละจากทุกสิ่ง
ไม้กางเขนคือ อัตลักษณ์ หรือ เอกลักษณ์ของความเป็นคริสตชน
และไม้กางเขน ยังน่าจะเป็นอัตลักษณ์ หรือ เอกลักษณ์ของคริสตชนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นกรณีพิเศษ เพราะถ้าเรามองย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันแรกที่เรามีประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่เป็นคนไทย ภาพแห่งไม้กางเขนจะปรากฏเป็นภาพที่โดดเด่น ผ่านทางพระอัครสังฆราชประมุขสังฆมณฑล เริ่มจากท่านแรกที่ได้ขึ้นปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯคือ พระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย ในปี 1965/2508 ท่านเป็นพระอัครสังฆราชที่ชอบสอนเรื่อง ความนบนอบ หรือ ความนอบน้อมเชื่อฟัง นับตั้งแต่ท่านเป็นอธิการบ้านเณรดาราสมุทร ที่ศรีราชา ท่านสอนสามเณรให้มีความนบนอบเชื่อฟัง และท่านสอนอยู่บ่อยๆจนเณรจำได้ และเมื่อท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชท่านก็ยังคงสอนพระสงฆ์และสัตบุรุษให้รู้จักนบนอบเชื่อฟัง
เราสามารถมองความนบนอบเชื่อฟังเป็นภาพแห่งไม้กางเขนได้ไม่ยากนัก
ต่อมาตั้งแต่ปี 1973/2516 ก็เป็นยุคสมัยขอพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ขึ้นเป็นประมุข ซึ่งคติพจน์ประจำตัวท่าน คือ Per Crucem ad Lucem/ผ่านทางไม้กางเขนสู่ความสุขใสรุ่งโรจน์
และสุดท้าย ปี 2009/2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาริช เป็นผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ คติพจน์ประจำตัวคือ “อานุภาพแห่งกางเขน อานุภาพแห่งความรัก”
เราดังนั้นบรรยากาศของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯตั้งแต่ปี 1965 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 49 ปี จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งไม้กางเขน หรือ ความนบนอบเชื่อฟัง
คงจะต้องมาพิจารณาดูให้ละเอียดและลงลึกว่าความจริงมันเป็นอย่างนั้นหรือไม่? คริสตชนเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้าด้วยการดำเนินชีวิต “เลิกนึกถึงตนเองและแบกกางเขนของตนติดตามพระเยซูเจ้าอย่างจริงๆหรือเปล่า?” หรือใครอยากจะทำอย่างไรก็ทำ