สมัชชาพระศาสนจักรไทย 2015
บทสนทนาของเจ้าอาวาสในวันนี้นำมาจากสิ่งที่สะดุดตา สะดุดความคิด จากบทอ่านหนังสือกิจการอัครสาวกของเช้าวันเสาร์ที่ 18 เมษายน วันเสาร์สัปดาห์ที่สองเทศกาลปัสกา
หนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 6 ข้อ 1 ถึง 7 เริ่มต้นดังนี้
“เวลานั้น ศิษย์มีจำนวนมากขึ้น บรรดาศิษย์ที่พูดภาษากรีกไม่พอใจศิษย์ที่พูดภาษาฮีบรู เพราะในการแจกทานประจำวัน บรรดาแม่ม่ายของตนถูกละเลยมิได้รับแจก อัครสาวกสิบสองคนจึงเรียกบรรดาศิษย์มาประชุม กล่าวว่า “ไม่สมควรที่เราจะละทิ้งการประกาศพระวาจาของพระเจ้าเพื่อไปแจกอาหาร”
อัครสาวกสิบสองคนจึงเรียกบรรดาศิษย์มาประชุม
การประชุมนี้ทำให้คิดถึงการประชุมสมัชชาครั้งที่หนึ่งของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 24 เมษายน ค.ศ. 2015
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเรียกประชุมก็คือเนื้อหาของการประชุม ที่ผู้นำการประชุมซึ่งน่าจะเป็นท่านนักบุญเปโตรเอ่ยขึ้นมานั่นคือ
“ไม่สมควรที่เราจะละทิ้งการประกาศพระวาจาของพระเจ้าเพื่อไปแจกอาหาร”
ที่ประชุมของอัครสาวกเห็นความสำคัญของการประกาศพระวาจาของพระเจ้า พวกท่านมองเห็นว่า สิ่งนี้สำคัญมากกว่าการแจกอาหาร
ที่เกิดหัวข้อนี้ขึ้นมาในการประชุมอัครสาวกในครั้งนั้นก็น่าจะเกิดจากการที่บรรดาอัครสาวกเริ่มสังเกตเห็นว่าพระศาสนจักรตอนนั้นกำลังเริ่มต้นให้ความสำคัญแก่การแจกอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมฝ่ายร่างกายภายนอก หรือเป็นกิจกรรมที่เรียกว่า กิจกรรมเมตตาสงเคราะห์มากกว่าการประกาศพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นงานหลักและสำคัญสุดของพระศาสนจักร
บรรดาอัครสาวกคงจะได้สังเกตเห็นความหมกมุ่นของบรรดาคริสตชน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการฝ่ายร่างกาย คือ การแจกอาหาร จนจะลืมการประกาศพระวาจาของพระเจ้า
เวลาที่คนเราหมกมุ่นกับกิจการฝ่ายร่างกายภายนอก เราก็จะลืมแก่นสาระของชีวิตไปในที่สุด
และแน่นอนเวลาที่เราพาตัวเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องภายนอกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ภายนอก (ณ ที่นี้ คือการแจกอาหาร) สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ อาการของการหมกมุ่นติดพันอยู่กับวัตถุและบุคคล นอกนั้นความไม่เสมอภาคถือพวกเขาพวกเรา ก็เกิดขึ้นตามมา ตามที่กิจการอัครสาวกเขียนไว้ “บรรดาศิษย์ที่พูดภาษากรีก ไม่พอใจศิษย์ที่พูดภาษาฮีบรู เพราะในการแจกทานประจำวัน บรรดาแม่ม่ายของตนละเลยมิได้รับแจก”
และนี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เราได้เห็นในยุคสมัยนั้นของอัครสาวกจนถึงยุคปัจจุบัน
ยุ่งกับเรื่องของวัตถุจนลืมเรื่องทางฝ่ายจิตวิญญาณ
การละเลย หรือ การทิ้งการประกาศพระวาจา นี่ก็เป็นประโยคสำคัญมากๆ การละเลยหรือการทิ้งการประกาศพระวาจาไม่ได้หมายความถึง การหยุดสอนคำสอนหรือการหยุดสอนพระคัมภีร์
การละเลยหรือการละทิ้งการประกาศพระวาจา ก็คือ การละเลยหรือการละทิ้งการเป็นสักขีพยานของพระวาจา เพราะการประกาศพระวาจาแท้ที่จริงก็คือ การเป็นสักขีพยานของพระวาจาด้วยการเจริญชีวิตตามพระวาจานั้น
เมื่อเราเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องฝ่ายร่างกาย(กิจกรรมต่างๆ โครงการต่างๆ ฯลฯ) มากจนเกินเหตุเราก็จะลืมการเป็นสักขีพยานด้วยชีวิต เพราะเราจะหันไปสนใจกิจกรรมฝ่ายร่างกายมากกว่าการจะเป็นสักขีพยานพระวาจาด้วยการเจริญชีวิตตามพระวาจานั้น
ดังนั้นบรรดาอัครสาวกจึงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการฝ่ายร่างกาย ส่วนตัวของพวกบรรดาอัครสาวกก็หันกลับมาให้ความสำคัญแก่กิจการฝ่ายจิตวิญญาณ ดังที่หนังสือกิจการอัครสาวกบันทึกไว้ดังต่อไปดังนี้
“พี่น้องทั้งหลาย จงเลือกบุรุษเจ็ดคนจากกลุ่มของท่านทั้งหลาย เป็นคนที่มีชื่อเสียงดี เปี่ยมด้วยพระจิตเจ้าและปรีชาญาณ แล้วเราจะแต่งตั้งเขาให้ทำหน้าที่นี้ ส่วนเราจะอุทิศตนอธิษฐานภาวนาและประกาศพระวาจา ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นชอบกับข้อเสนอนี้”
อุทิศตนภาวนาและประกาศพระวาจา คือ งานหลักของผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณ การภาวนาไม่ใช่การอ่านหรือสวดหนังสือสวด การภาวนา คือ การเรียนรู้สิ่งที่พระต้องการและทำตามสิ่งที่พระต้องการ หลายคนบอกว่า เขาสวดเยอะเหลือเกิน แค่พอดูๆไป พวกเขาโกหก เพราะดูชีวิตจริงๆในภาคปฏิบัติมันตรงข้ามกับสิ่งที่พระต้องการ สวดเยอะ แต่โกรธ เกลียด อาฆาตมาดร้าย กอบโกยทั้งเงินทอง ชื่อเสียง ความสุขทางโลก ฯลฯ
ส่วนการประกาศพระวาจาก็เป็นผลของการภาวนา เพราะการประกาศพระวาจาก็คือการเป็นสักขีพยานของพระวาจา ด้วยการดำเนินชีวิตตามที่พระวาจาบอก คือ พระวาจาบอกอะไร ผู้ฟังพระวาจาก็จะทำตามที่พระวาจาบอก ณ ตรงนี้ หลายคนก็โกหกเช่นกัน เช่นตัวอย่าง พระวาจาบอกให้มีใจยากจน แต่ผู้อ้างตัวเองว่าเป็นผู้ประกาศพระวาจา กลับใช้ชีวิตร่ำรวย หรูหรา ฟู่ฟ่า ใช้ของดี ของแพง รวมทั้งการเก็บสะสมสิ่งเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็พยายามจัดกิจกรรมประกาศข่าวดีชนิดสร้างผลงานให้มากไว้
ให้เราร่วมกันภาวนาเพื่อให้การประชุมสมัชชาครั้งสำคัญของพระศาสนจักรไทยในครั้งนี้ ได้มองเห็นสิ่งสำคัญนี้ และให้การประชุมสมัชชาในครั้งนี้อยู่ภายใต้การชี้แนะของพระจิตเจ้า เพื่อให้การประชุมสมัชชาในครั้งนี้ได้เริ่มต้น และ จบลง อย่างดีเช่นเดียวกับการประชุมในสมัยของอัครสาวก