สวัสดีครับ
สัปดาห์ละครั้ง 21 มิ.ย. 2015
“ความเพียรพยายาม”
สัปดาห์ที่แล้วได้พูดถึงเรื่อง ความอดทน ซึ่งเป็นคุณธรรมประการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการเจริญชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา วันนี้อยากจะนำคุณธรรมอีกประการหนึ่งมาแบ่งปัน นั่นคือ “ความเพียรพยายาม” หรือจะใช้ว่า พากเพียร ก็ได้
ความหมายที่เข้าใจกันทันทีก็คือ การที่จะต้องมีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ แม้ต้องลงทุนลงแรง ไม่ถอดใจล้มเลิกง่ายๆ ด้วยเหตุนี้กระมัง ทำให้มีคำพูดที่ใช้กันบ่อยๆ คือ “ความเพียรอดทน” แปลกันให้เห็นภาพก็คือ “สู้ไม่ถอย” อันนี้ไม่ใช่คำคุ้นเคยที่ใช้กันเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานะครับ แต่เป็นบริบทของการมีชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับคุณธรรมความอดทน เราได้รับคำอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยเหมือนกัน ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการกระทำหน้าที่ของตนในชีวิตในการงานที่ต้องรับผิดชอบ
ถ้าจะพิจารณากันให้ละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรคนเราถึงจะมีความเพียรพยายาม หนที่สุดแล้ว ก็ต้องสรุปว่า สำคัญที่ใจ กล่าวคือ จิตใจของคนนั้นจะต้องเข้มแข็งเสียก่อน เรียกว่า “ใจสู้” ก็ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วคือ ไม่ถอดใจ
เขาบอกกันว่า คนเราจะมีจิตใจที่เข้มแข็งนั้น มันต้องมีการฝึกฝน ผ่านประสบการณ์ชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาบ้าง จะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ต้องรู้จักกับความสมหวัง ความผิดหวัง ความสำเร็จและความล้มเหลว ผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ กันมาพอสมควร เมื่อล้มแล้วต้องรีบลุกขึ้น วิ่งต่อไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้
สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกันที่คนเราจะมีจิตใจที่เข้มแข็งได้นั้น จำเป็นต้องมี “ตัวช่วย” อันหมายถึงกำลังใจที่มาจากคนอื่นเป็นสำคัญด้วย ดังนั้น มนุษย์เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องมีต่อกันและกัน หน้าที่นั้นคือ การให้กำลังใจกันและกัน เช่น พ่อแม่คอยดูแลช่วยเหลือลูกๆ ของตน ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง หัวหน้า… ก็ต้องให้กำลังใจกับลูกศิษย์ลูกหา หรือลูกน้องผู้ร่วมงาน
การให้กำลังใจกันนั้น ง่ายและได้ผลดีที่สุดประการหนึ่ง คือ คำพูด ซึ่งมีอยู่มากมายหลายคำ เช่น “ไม่เป็นไร เอาใหม่” “สู้ๆ อย่าถอย” “พยายามใหม่นะ วันหนึ่งต้องสำเร็จแน่ๆ” หรือเพียงแค่ไลน์ไปบอกว่า “ขอเป็นกำลังใจให้นะ” ฯลฯ แต่น่าเสียดายมีหลายครั้งที่คนเรามักจะตอกย้ำซ้ำเติมกันด้วยคำพูดเหมือนกัน แทนที่จะให้กำลังใจ กลับทับถม ดูถูก ดุด่าอย่างรุนแรง คำที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “สมน้ำหน้า” เป็นต้น
นอกจากการให้กำลังใจกันด้วยคำพูดแล้ว ยังมีการให้กำลังใจด้วยรางวัล วัตถุสิ่งของ หรือให้เกียรติแก่กันและกันก็ได้ เช่น การประกาศเกียรติคุณ การให้โบนัส รางวัล และที่สำคัญ คือการคอยเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน
การให้กำลังใจกันนี้ เป็นเรื่อง “ซึ่งกันและกัน” หมายถึง ผู้น้อยก็ให้กำลังผู้ใหญ่ได้ มิใช่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็นผู้ให้ผู้น้อย เช่น ลูกๆ ก็เป็นกำลังใจแก่พ่อแม่ได้ ด้วยการเป็นลูกที่ดี ดังนี้เป็นต้น… สวัสดีครับ