ข้อคิดวันอาทิตย์ที่สิบสาม เทศกาลธรรมดา ปี C
ข้อคิด…พระวาจาของพระเจ้าจากบทอ่านทั้งสามบท ต่างก็พูดถึงการสนองตอบการเรียกของพระเจ้าด้วยท่าทีที่เด็ดเดี่ยว…ในกรณีของประกาศกเอลีชาในบทอ่านที่หนึ่ง หลังจากที่ท่านกลับไปบ้านแล้ว ท่านก็ออกเดินทางติดตามไปรับใช้ประกาศกเอลียาห์…ส่วนในบทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลก็บอกว่าพระเจ้าได้ทรงเรียกเราให้มารับอิสรภาพ ก็อย่าใช้อิสรภาพนั้นเป็นข้อแก้ตัวที่จะท่ำตามใจตน แต่จงรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก และเพราะความรักต่อพระคริสตเจ้า ท่านก็พอใจในความอ่อนแอต่างๆของท่าน เช่นเมื่อโดนสบประมาท เมื่อมีความคับแค้น เมื่อถูกข่มเหงอับจน ฯลฯ…และในพระวรสารซึ่งพูดถึงการเดินทางของพระเยซูเจ้าที่กำลังมุ่งสู่กรุงเยรูซาเล็ม…พระองค์ทรงทราบดีถึงโชคชะตาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพระองค์ที่นั่น แต่พระองค์ก็ทรงยินดีรับไว้เพราะเป็นพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า…ในสมัยของพระเยซูเจ้า ชาวสะมาเรียและชาวยิวเป็นศัตรูกัน ดังนั้นการเดินทางผ่านหมู่บ้านของชนชาวซามาเรีย พระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์จะต้องฝ่าความรู้สึกที่เป็นศัตรูของพวกชาวบ้านที่มีต่อชนชาวยิว ดังนั้นเมื่อชาวเมืองที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านชาวสะมาเรียทราบว่าพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม จึงปฏิเสธที่จะต้อนรับพระองค์
พวกศิษย์ที่กำลังติดตามพระเยซูเจ้าอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากอบและยอห์นรู้สึกขุ่นเคืองเพราะปฏิกริยาดังกล่าวของพวกชาวซามาเรีย พวกเขาต้องการแก้แค้นให้พระเยซูเจ้าด้วยการสั่งให้ไฟจากฟ้าลงมาเผาผลาญคนทั้งหมู่บ้านของพวกเขา…เราจะแลเห็นว่าข้อเสนอแนะของศิษย์สองพี่น้องนี้ เป็นการทำลายและทำร้ายกับผู้ที่คิดต่างทำต่างมากกว่า มิได้เป็นความคิดที่สร้างสรรค์เพื่อการอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข พวกเขาคิดแต่เพียงว่าพวกชาวซามาเรียที่ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่อพวกเขา มิใช่เป็นเพียงศัตรูกับชนชาวยิวเท่านั้น แต่ยังแสดงตนเป็นศัตรูกับพระเจ้าอีกด้วย…ในเมื่ออารมณ์ของศิษย์บางคนของพระองค์เป็นดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะไม่ทำตามคำขอร้องของพวกเขา เพราะพระองค์ต้องการที่จะรวบรวมบรรดาชนชาวอิสราเองที่ได้ถูกทำให้กระจัดกระจายออกไป ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงตัดสินใจที่จะทำอย่างรอบคอบด้วยการส่งตัวแทน ให้ล่วงหน้าเข้าไปในหมู่บ้านของชนชาวซามาเรีย และพระองค์ได้ทรงถือโอกาสนี้ที่จะแบ่งปันข่าวดีของพระองค์กับพวกชนชาวซามาเรียอีกด้วย…การไม่ยอมแก้เผ็ดนั้นต้องใช้ความกล้าหาญและความเข้มแข็ง
การเดินทางมุ่งสู่กรุงเยรูซาเล็มในครั้งนี้ น่าจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าและด้วยใจเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง พระองค์ได้พยายามที่จะซ่อนความรู้สึกที่เจ็บปวดอันเกิดจากพันธกิจที่พระองค์ได้รับมอบหมายต้องทำให้สำเร็จจากพระบิดาเจ้า…เป็นพันธกิจแห่งปัสกาที่พระองค์จะต้องรับทนทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อช่วยให้ประชากรของพระองค์รอดพ้นจากการเป็นทาสของบาปเพื่อนำชีวิตใหม่ในพระเจ้ามาให้พวกเขา พระองค์ได้ทรงปรับเปลี่ยนความเจ็บปวดเหล่านี้ให้เป็นเครื่องบูชาแห่งความรัก พระองค์ไม่ทรงรู้สึกหวั่นไหวหรือสะทกสะท้านต่อไม้กางเขนหรือความเจ็บปวดต่างๆอันเกิดจากการเป็นบุตรแห่งมนุษย์ของพระองค์
การปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้า โดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ตอบโต้นั้น ต้องการความเข้มแข็งอย่างพิเศษและความรักอย่างชนิดที่น่าอัศจรรย์ เราคริสตชนต้องขัดขวางความชั่ว เพราะด้วยความดีเท่านั้นที่สามารถเอาชนะความชั่วได้ ความขัดแย้งทางศาสนาสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เราก็สามารถก้าวข้ามมันโดยอาศัยความดี
พระองค์ได้ทรงบอกกับพวกสาวกของพระองค์ว่าการเป็นศิษย์ของพระองค์นั้น มิใช่เป็นชีวิตง่ายๆสบายๆโดยต้องไว้วางใจในพระญาณสอดส่อง นอกจากนั้นพระเยซูเจ้ายังได้เสนอแนะต่อไปอีกว่ากระแสเรียกของการเป็นศิษย์นั้น จะต้องมาเป็นอันดับแรก ต้องมาก่อนความรับผิดชอบต่อครอบครัวด้วยซ้ำไป และที่สุด การเป็นศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูเจ้า จะต้องเป็นการมุ่งไปข้างหน้าเข้าหาพระเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์อยู่ตลอดเวลา และจะต้องไม่หันหลังกลับไปหาการใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีก…เราไม่สามารถแสร้งทำเป็นติดตามพระเยซูเจ้าและรับใช้พระองค์โดยไม่ยอมละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งรวมทั้งอดีตของเราด้วย นี่เป็นสิ่งที่นักบุญเปาโลเข้าใจเมื่อท่านร้องอุทานออกมาว่า
“นับแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่า คือการรู้จักพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยอมสูญเสียทุกสิ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้า มาเป็นกำไรและอยู่ในพระองค์”(ฟป 3: 8-9)