แทนคิดสะนิด…สะกิดใจ
วันพุธรับเถ้า
วันพุธรับเถ้าเป็นวันหนึ่งที่พระศาสนจักรเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทุกคนทำการจำศีลอดอาหาร นั่นคือให้อดมื้ออาหารที่สำคัญที่สุดของวัน ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเสียสละและการรู้จักร่วมสุขร่วมทุกข์กับคนอื่น เป็นต้นเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระทรมานของ พระองค์
ความพร้อมที่เริ่มต้นด้วยการรู้จักฟังเสียงของพระเจ้า พร้อมที่จะรับรู้ค่านิยมแห่งพระวาจาของพระองค์ อันเป็นเครื่องหมายของการกลับใจ โดยนัยนี้การจำศีลอดอาหารของคริสตชนก็จะละม้ายคล้ายกับของพระอาจารย์เจ้า เวลาที่พระองค์ทรงเริ่มปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์ ทรงภาวนาจำศีลอดอาหาร 40 วันในถิ่นทุรกันดาร
การจำศีลอดอาหารของคริสตชนในวันนี้ จะต้องยืดออกไปหรือต่อเนื่องออกไปตลอดเทศกาลมหาพรต ด้วยการริเริ่มส่วนตัวในการรู้จักเสียสละทรัพย์สมบัติเงินทอง ความสนุกสนาน ความสะดวกสบายส่วนตัว แม้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยด้วย ทั้งนี้ให้คริสตชนแต่ละคนทำด้วยความสมัครใจและด้วยความยินดี ดังนี้ การจำศีลอดอาหารแบบพิธีการที่คริสชนทำด้วยจิตตารมณ์ ไม่ใช่แบบภายนอก ก็จะกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความเชื่อ และหนทางแห่งการช่วยให้รอดพ้นสำหรับเราแต่ละคน
จากอีกด้านหนึ่ง โดยการยอมสู้ทนกับการรู้จักอดอะไรบ้าง ก็จะทำให้เรารู้จักร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ คนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุ้นเคยกับการที่ต้องอดอาหารเพราะความจำเป็น การขาดสิ่งที่จำเป็นสำหรับยังชีพ การขาดการศึกษา และการขาดสิ่งที่จะช่วยให้เขาได้พัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ดังนี้ การจำศีลอดอาหารก็กลายเป็นพฤติกรรมทางสัญลักษณ์ และเป็นการประนามความอยุติธรรมอันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ที่สุดเป็นการรู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนที่อาภัพน่าสงสาร เพราะฉะนั้นการเตรียมฉลองปัสกาก็จะกลายเป็น “มหาพรตแห่งความรักฉันท์พี่น้อง” และการทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสตเจ้าจะกลายเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสุภาพถ่อมตนอย่างที่สุด และการรู้จักรับใช้ผู้อื่นขององค์พระเจ้า พระผู้ยอมเสด็จลงมารับสภาพมนุษย์เหมือนกับเราทุกอย่างเว้นแต่บาป ทั้งยังเป็นการประกาศว่าอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว
ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในพระทรมานของพระคริสตเจ้าอย่างจริงจัง จะทำให้เขาได้รู้จักว่าการเสด็จกลับไปห าพระบิดาเจ้านั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว ทั้งยังทำให้เขาได้รู้จักอีกว่าการรู้จักตายต่อเนื้อหนังของตัวเองวันละเล็กละน้อย ก็จะทำให้จิตแห่งการกลับคืนชีพและจิตแห่งชีวิตใหม่ขององค์พระเยซูเจ้า พระผู้ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ สามารถเบ่งบานและออกผลได้ในที่สุด
เทศกาลมหาพรต
โมเสสได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาซีนายเป็นเวลาสี่สิบวัน เพื่อรับบทบัญญัติแห่งพันธสัญญา พระเยซูเจ้าทรงจำศีลอดอาหารสี่สิบวันในถิ่นทุรกันดารก่อนเริ่มภารกิจของพระองค์ คริสตชนจึงเตรียมตัวเพื่อฉลองธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ด้วยเทศกาลใช้โทษบาปซึ่งยาวนานสี่สิบวันเช่นกัน
การใช้โทษบาปเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาชีวิตของคริสตชน วิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่จะแยกความคิดนี้ออกจากชีวิตคริสตชนไม่ได้ การใช้โทษบาปเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบาปและการกลับใจ หมายถึงการเกลียดชังความชั่วร้ายภายในและรอบข้างตัวเรา และสิ่งสำคัญคือการกลับใจหาพระเจ้าด้วยความรัก
วิธีบรรลุถึงการกลับใจภายในนี้คือ การถือมหาพรตด้วยการภาวนา การทำกิจเมตตาและการจำศีลอดอาหาร สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถือเป็นเรื่องล้าสมัย อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าความสำคัญของ “การทำกิจการใช้โทษบาป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวดภาวนาให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้นเป็นพิเศษ การทำบุญให้ทาน การทำความดีให้กับคนอื่นมากขึ้น การจำศีล การอดเนื้อ อดอาหาร การอดหรือละเว้นสิ่งที่ชอบ ฯลฯ ในระหว่างเทศกาลมหาพรตอาจเคยได้รับการย้ำจนเกินไปในอดีต แต่ก็ไม่ควรละเลยหรือทำเป็นหูทวนลมไม่ใส่ใจ
สิ่งที่เราอดและละเว้นในเทศกาลมหาพรตเป็นการตัดสินใจส่วนตัว แต่ควรสัมพันธ์กับการกลับใจภายในหาพระเจ้า “เมื่อแต่ละคนบำเพ็ญศาสนกิจ ประกอบกิจเมตตาปรานีโดยขะมักเขม้นยิ่งขึ้น อีกทั้งรับศีลศักดิ์สิทธิ์อันนำชีวิตใหม่มาให้แล้ว จะได้รับพระหรรษทาน บันดาลให้เป็นบุตรพระเจ้าโดยสมบูรณ์” (บทเริ่มขอบพระคุณสำหรับเทศกาลมหาพรต แบบที่ 1)
ตัวเลข 40 แห่งเทศกาลมหาพรต มีความหมายต่อคริสตชนในหลายแง่มุม ตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระลึกถึงการอดอาหาร 40 วัน ของพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารก่อนที่ปฏิบัติภารกิจของพระองค์ ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวอิสราเอลต้องรอนแรมอยู่ในถิ่นทุรกันดารถึง 40 ปี ในสมัยโมเสส ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำให้มีฝนตกติดต่อกัน 40 วัน 40 คืน ในสมัยของโนอาห์ ส่วนโมเสสก็ได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาซีนายเป็นเวลา 40 วัน เพื่อรับพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า นอกนั้นยังรวมไปถึง 40 วัน ของการที่ประกาศกโยนาห์ประกาศ การกลับใจแก่ชาวเมืองนินะเวห์
สำหรับคริสตชน 40 วัน แห่งเทศกาลมหาพรต จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการดำเนินชีวิตร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในพระทรมานบนเส้นทา งแห่งไม้กางเขนของพระองค์ เพื่อจะได้กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ เพราะฉะนั้น เทศกาลมหาพรตจึงเป็นเทศกาลแห่งการสำนึกในความผิดบาปและการกลับใจเสียใหม่ เป็นเทศกาลแห่งการสำรวจตนเองว่า ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ของเราหรือไม่
ข้อกำหนดของพระศาสนจักรในเทศกาลมหาพรต
เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามจิตตารมณ์ของเทศกาลมหาพรต ขอให้ปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของพระศาสนจักรดังต่อไปนี้
1. ตามพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า คริสตชนทุกคนต้องชดเชยใช้โทษบาปของตนตามวิธีการของแต่ละคนและเพื่อการปฏิบัติร่วมกัน จึงได้กำหนดวันชดเชยใช้โทษบาปซึ่งคริสตชนจะได้สวดภาวนา ปฏิบัติกิจเมตตาปรานีและความรักเป็นพิเศษ เสียสละตนเองและทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ (ม.1249)
2. ทุกวันศุกร์ตลอดปี และทุกวันในเทศกาลมหาพรต เป็นวันพลีกรรมในพระศาสนจักรทั่วไป (ม.1250)
3. ทุกวันศุกร์ตลอดปี ยกเว้นวันฉลองใหญ่ เป็นวันอดเนื้อหรืออดอาหารอื่นตามข้อกำหนดของสภาพระสังฆราชฯ วันพุธรับเถ้าและวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันอดเนื้อและอดอาหาร (ม.1251)
4. คริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องอดเนื้อ และคริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึง 59 ปีบริบูรณ์ ต้องอดอาหาร
เป็นหน้าที่ของผู้อภิบาลและบิดามารดาที่จะต้องอบรมผู้น้อยที่ยังไม่ต้องถือกฎการอดเนื้อและอดอาหารให้เข้าใจจิตตารมณ์ของการพลีกรรม ( ม.1252)
สำหรับประเทศไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 1253 ของกฎหมายพระศาสนจักร สภาพระสังฆราชฯ จึงกำหนดวิธีการอดเนื้อและอดอาหารดังต่อไปนี้
การอดเนื้อ
ผู้ที่ได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำหนดนี้ ถือว่าได้ถือตามกฎการอดเนื้อ คือ
ก. อดเนื้อ
ข. ปฏิบัติกิจศรัทธานอกเหนือไปจากที่เคยปฏิบัติ อาทิ เดินรูป 14 ภาค เฝ้าศีลมหาสนิท สวดสายประคำฯลฯ
ค. ปฏิบัติกิจเมตตาปรานี เช่น ให้ทานคนจน เยี่ยมคนเจ็บป่วย ฯลฯ
ง. งดเว้นอาหารหรือสิ่งที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ อาทิ งดดื่มสุราและเบียร์ งดสูบบุหรี่
จ. รู้จักอดออมและละเว้นความฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ
การอดอาหาร
หมายถึง การรับประทานอาหารอิ่มเพียงมื้อเดียว
พระเจ้าตรัสว่า : “การถืออดอาหารอย่างที่เราต้องการเป็นดังนี้ แก้โซ่ที่ล่ามคนที่เจ้ากดขี่เสียเถิดและเลิกทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ปล่อยคนที่เจ้ากดขี่ข่มเหงไปเสีย แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่หิวโหย เปิดประตูรับคนยากจนไร้ที่อยู่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีใส่ อย่าละเลยต่อการช่วยเหลือญาติพี่น้องของเจ้า” (อสย.58 : 6 – 7)
จากเว็บไซต์ http://www.shb.or.th โดย…..คพ. วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช