สวัสดีครับพี่น้องที่รักในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือในวันที่2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเรามีวันฉลองที่เก่าแก่และสำคัญในพระศาสนจักรของเราคือวันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหารซึ่งตามธรรมเนียมของพระศาสนจักรก็จะมีการเสกเทียนและแห่เทียนบริเวณหน้าโบสถ์กันด้วยดังนั้น“คอลัมน์คิดสักนิด..สะกิดใจ”ในอาทิตย์นึ้จึงขอนำเรื่องราวของวันฉลองดังกล่าวมาแบ่งปันให้กับพี่น้องสักนิดนะครับ
การฉลองถวายพระกุมารในพระวิหารในอดีตเราเรียกวันนี้ว่า“วันแม่พระถือศีลชำระ”เพราะในอดีตเราเชื่อว่าวันฉลองในวันนี้คือวันที่เราระลึกถึงพระนางมารีย์ที่ทรงถวายบุตรชายคนแรกในพระวิหารตามธรรมบัญญัติของโมเสสที่กำหนดไว้ว่า“หญิงที่คลอดบุตรจะถือว่ามีมลทินเป็นเวลา40 วันหลังการให้กำเนิดบุตรและเธอจะต้องมาแสดงตนต่อพระสงฆ์ที่พระวิหารเพื่อถวายบูชาเป็นการชำระมลทินให้บริสุทธิ์และทำการไถ่บุตรของเธอคืนมา”ถ้าไม่ทำเช่นนี้บุคคลนั้นจะถูกขับออกจากการกราบไหว้นมัสการแบบชาวยิวซึ่งแน่นอนกฎหมายเรื่องนี้ไม่สามารถผูกมัดกับพระนางมารีย์ได้เพราะพระนางมารีย์นั้นไม่มีบาปมลทินใดๆ แต่ด้วยความนอบน้อมของพระนางมารีย์และให้สอดคล้องกับกฎหมายของชาวยิวพระนางมารีย์จึงทรงยอมรับพิธีกรรมนี้และได้ถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้าโดยถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่ หรือ นกพิราบสองตัว(เพื่อไถ่บุตรคืนมา) ซึ่งเป็นการถวายของคนจน(ถ้าเป็นคนรวยจะถวายลูกแกะ) ตามบันทึกเหตุการณ์ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา(ลก. 2:22-39)
วันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหารเป็นวันฉลองเก่าแก่ที่มีบันทึกครั้งแรกของเอเจเรียผู้แสวงบุญ(ประมาณค.ศ.386) ซึ่งเล่าว่าที่กรุงเยรูซาเล็มมีงานฉลองใหญ่ในวันที่40 หลังจากวันสมโภชพระคริสตแสดงองค์(ซึ่งที่นั่นถือเป็นการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้า) และจะตรงกับวันที่14 กุมภาพันธ์โดยจะมีขบวนแห่ไปที่วัดแห่งการกลับคืนชีพและพระสงฆ์และพระสังฆราชที่นั่นจะเทศน์และอธิบายเหตุการณ์ถวายพระเยซูในพระวิหาร(ลก. 2:22-39) และปิดท้ายการฉลองด้วยมิสซาบูชาขอบพระคุณโดยเอเจเรียไม่ได้บอกว่างานฉลองนี้มีชื่อว่าอะไร? จนประมาณกลางศตวรรษที่5 เราพบการฉลองนี้มีชื่อว่า“วันฉลองการแห่งการพบปะ” เพื่อเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงเข้าไปในพระวิหารของพระบิดาเป็นครั้งแรกและที่นั่นพระองค์ทรงพบปะกับผู้เฒ่าสิเมโอนและนางอันนา
ต่อมาประมาณปลายศตวรรษที่7 พระสันตะปาปาแซร์จิอุสที่1 (Pope Sergius I) ได้จัดให้มีการฉลองนี้ที่กรุงโรมโดยทรงริเริ่มให้มีขบวนแห่อย่างสง่าสำหรับบรรดาสมณะและฆราวาสและถือเทียนที่จุดอยู่เพื่อเข้าไปในวัดเพื่อบอกเป็นนัยๆให้ระลึกถึง“แสงสว่างแก่คนต่างชาติ“และ“การเสด็จเข้าไปในพระวิหารของพระบุตรพระเจ้า” ตามถ้อยคำของผู้เต่าสิเมโอนที่กล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่า“แสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์” (ลก.2:32) โดยการเสกเทียนและการถือเทียนในขบวนแห่เช่นนี้ทำให้มีคนเรียกวันฉลองนี้ว่า“วันแห่เทียน”ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาสำคัญของการฉลองนี้เพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับชื่อ“ฉลองแม่พระรับศีลชำระ”อันเป็นชื่อทางการของวันฉลองนี้
จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1969 พระศาสนจักรได้เปลี่ยนชื่อของวันฉลองในปฏิทินคาทอลิกจาก“วันฉลองแม่พระถือศีลชำระ”เป็น“วันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร”เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของวันฉลองว่าเป็นวันฉลองของพระเยซูและเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของบรรดากลุ่มคริสตชนเพราะตามคำสอนของพระศาสนจักรเราถือว่าพระนางมารีย์นั้นไม่มีบาปมลทินใดๆเลยในการให้กำเนิดองค์พระเยซูเจ้าการถือศีลชำระตามธรรมเนียมของชาวยิวจึงไม่มีความจำเป็นใดๆสำหรับพระนางมารีย์และเช่นนี้เราจึงได้เรียกวันฉลองวันนี้ว่าเป็น“วันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(ที่มา: http://www.shd.or.th)
“โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า… ชายผู้หนึ่งชื่อสิเมโอน
เป็นคนชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้าเขารอคอยความรอดพ้นของอิสราเอลพระจิตเจ้าสถิตอยู่กับเขา
และทรงเปิดเผยให้เขารู้ว่าเขาจะไม่ตายก่อนที่จะได้เห็นพระคริสต์ของพระเจ้า” (ลก. 2:22-28)
…พ่อปลัด…