ข้อคิดอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา ปี B
มก 12: 38-44…เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่าหญิงม่ายยากจนคนนี้ ได้ทำทานมากกว่าทุกคนที่ได้ใส่เงินลงในตู้ทาน…
พระเยซูเจ้าได้ทรงชมเชยหญิงม่ายซึ่งได้ทำทานเพียงเล็กน้อย พระองค์ได้ทรงชมเชยนางเพราะว่านางซึ่งขัดสนอยู่แล้ว ยังนำเงินทั้งหมด นำทุกอย่างที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิต มาทำทาน…พระเยซูเจ้ามิได้ทรงตัดสินการทำทานจากขนาดหรือปริมาณของทาน แต่จากคุณค่าของผู้ที่ทำทานแสดงออกต่างหาก…บ่อยๆเรามักจะตัดสินการให้หรือการทำทานของเราและของคนอื่นจากมาตรฐานโดยทั่วๆไปมากกว่าจากมาตรฐานของพระวรสาร มิใช่หรือ?
ข้อคิด…ในสมัยของพันธสัญญาเดิม หญิงม่ายมักจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของคนที่ยากจนน่าสงสารที่สุดในสังคม…หญิงม่ายในบทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่หนึ่ง (พกษ 17: 10-16) นางมิใช่เป็นชาวยิวและนางต้องเลี้ยงลูกชายคนหนึ่ง นางกำลังจะต้องปรุงอาหารมื้อสุดท้ายด้วยแป้งและน้ำมันมะกอกที่เหลืออยู่เพียงหยิบมือเดียว หลังจากนั้นนางก็จะต้องอดตาย ถึงกระนั้นหลังจากที่นางได้แบ่งปันอาหารให้กับท่านประกาศกเอลียาห์ นางก็จะมีแป้งในไหไม่ขาดมือและน้ำมันในเหยือกก็ไม่แห้งตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้โดยทางท่านประกาศก…แม่ม่ายคนนี้ได้เป็นตัวแทนของคนเหล่านั้น แม้ว่าจะยากจนน่าสงสารและถูกกดขี่ ก็ได้มอบความหวังทั้งหมดของพวกเขาในพระเจ้า
ส่วนในพระวรสาร (มก 12: 38-44)พระเยซูเจ้าได้ทรงประณามพฤติกรรมของพวกธรรมาจารย์ซึ่งชอบทำอะไรเอาหน้าให้คนอื่นเขาชม อันตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของการถือศาสนาอย่างแท้จริงและใสสะอาดของแม่ม่ายคนนั้นซึ่งได้มอบความหวังไว้ใจทั้งสิ้นของนางในพระเจ้า ความใจกว้างของนางเป็นผลพวงจากการมอบความหวังทั้งหมดในชีวิตไว้ในพระหัตถ์พระเจ้า
การทดสอบในเรื่องของการทำทานหรือการให้ มิได้อยู่ที่ปริมาณใหญ่โตหรือจำนวนมากน้อยของการทำทาน แต่จะอยู่ที่การเสียสละของผู้ให้ต่างหาก
การให้ที่เป็นบุญกุศลคือเราต้องให้สิ่งที่ทำให้เราต้องเสียสละบางอย่าง มิใช่ให้จากสิ่งฟุ่มเฟือยหรือสิ่งที่เราไม่มีความต้องการแล้ว…เป็นการให้สิ่งที่ยังมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของเราอันเป็นการให้ที่เกิดจากการเสียสละอย่างแท้จริง
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณแม่เทเรซาว่าวันหนึ่งขณะที่คุณแม่กำลังเดินอยู่ที่ถนน มีชายขอทานคนหนึ่งเข้ามาหาคุณแม่และบอกกับคุณแม่ว่า “คุณแม่ครับ ทุกคนต่างก็ทำบุญให้กับคุณแม่ ผมก็อยากจะทำบุญให้กับคุณแม่บ้าง วันนี้ทั้งวัน มีคนทำบุญให้เงินผมมาสิบบาทและผมต้องการทำบุญเงินสิบบาทนี้ให้กับคุณแม่”
คุณแม่เทเรซาหยุดคิดชั่วครู่หนึ่ง “ถ้าฉันรับเงินสิบบาทนั้น ชายคนนี้ก็จะไม่มีอะไรกินในค่ำคืนนี้ แต่ถ้าฉันไม่รับเงินนี้ไว้ ฉันก็จะทำร้ายจิตใจความรู้สึกของเขา เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ฉันจึงยื่นมือออกไปรับเงินสิบบาทจากชายขอทานคนนั้น ฉันไม่เคยได้เห็นความปีติยินดีบนใบหน้าของผู้ใดที่แสดงออกมากมายเช่นนี้เหมือนกับที่ฉันได้เห็นบนใบหน้าของชายขอทานคนนี้ที่เขาเองก็รู้สึกภูมิใจที่สามารถทำบุญให้กับคุณแม่เทเรซาเหมือนกัน”
คุณแม่เทเรซาพลางคิดในใจต่อไปว่า “เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่สำหรับชายขอทานคนนั้นซึ่งได้นั่งตากแดดขอทานตลอดทั้งวันและได้รับเงินทานเพียงแค่สิบบาทเท่านั้น เงินสิบบาทนี้ในตัวของมันเองอาจมีค่าน้อยมากเพราะแทบจะซื้ออะไรไม่ได้ แต่เงินสิบบาทที่ชายขอทานคนนั้นให้และฉันรับมันเอาไว้ มีค่ามากกว่าเงินนับพันนับหมื่นเสียอีก เพราะว่าถูกให้และถูกรับไว้ด้วยความรัก…พระเจ้ามองดู มิใช่ที่ความใหญ่โตหรือจำนวนของสิ่งที่กระทำ แต่พระองค์ทรงมองดูที่ความรักในสิ่งที่กระทำต่างหาก”
พระวาจาที่เราได้ฟังในวันนี้ ก็บอกเรื่องราวอย่างเดียวกันของความใจกว้างทั้งจากบทอ่านที่หนึ่งและจากพระวรสารที่ได้กล่าวถึงคนยากจนน่าสงสารคือแม่ม่ายทั้งสองคน พวกเราคงจะรู้สึกประหลาดใจว่าทำไมคนบางคนที่ยากจนน่าสงสารเช่นหญิงม่ายในพระวรสาร จึงสามารถสร้างพฤติกรรมที่น่าชมสรรเสริญได้เช่นนี้? แน่นอนคนที่จะสามารถสร้างพฤติกรรมความใจกว้างเช่นนี้ได้ จะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นเวลาหลายๆปีเพื่อจะได้มีหัวใจเช่นเดียวกับหญิงม่ายคนนี้ พฤติกรรมเช่นที่ว่านี้ มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่จะต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเริ่มจากพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆก่อนเท่านั้น
เราจะต้องไม่สร้างพฤติกรรม เพียงเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้อยู่รอบข้าง โดยที่มิได้ออกมาจากหัวใจของเราจริงๆเหมือนกับพวกธรรมาจารย์เหล่านั้นในพระวรสาร
แม้ว่าจะไม่มีใครสังเกตุเห็นหญิงม่ายเวลาที่นางให้ทาน แต่องค์พระเยซูเจ้าก็ได้เฝ้าสังเกตุดูและได้ชมเชยนาง จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจที่ทำให้เราได้รู้ว่าแม้พฤติกรรมเล็ก ก็ไม่ได้รอดพ้นไปจากสายพระเนตรและความสนใจขององค์พระผู้เป็นเจ้าไปได้ เราก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสนใจและใส่ใจในพฤติกรรมแม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดของเราและของเพื่อนพี่น้องที่อยู่กับเรา เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ตัวเราเองและแก่พวกเขา…หลายๆครั้งการให้มิใช่เป็นการสูญเสีย แต่กลับเป็นกำไร และที่จริงเราสามารถแบ่งปันสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เรามีให้กับเพื่อนพี่น้องของเราได้ โดยที่เรามิได้สูญเสียอะไรจากตัวเราเลย เช่นพ่อแม่แบ่งปันความรักให้กับลูกๆ ครูแบ่งปันความรู้ให้กับลูกศิษย์ ฯลฯ
การแสวงหาเครื่องมือทางเศรษฐกิจหรือทางการเงินสำหรับกิจการงานด้านอภิบาลและเมตตาสงเคราะห์ แม้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานของพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน แต่จะต้องไม่ทำให้เราต้องประนีประนอมกับอำนาจทางการเมืองหรือทางเศรฐกิจอันจะทำให้พระศาสนจักรโดยส่วนรวม ต้องรู้สึกอึดอัดใจและเป็นอุปสรรคในการทำตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์