แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
สำหรับวันแพร่ธรรมสากล 2020
“ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด” (อสย. 6: 8)
พี่น้องชายหญิงที่รัก
พ่อปรารถนาที่จะแสดงความกตัญญูต่อพระเจ้าสำหรับ ความมุ่งมั่นที่พระศาสนจักรทั่วโลกได้ปฏิบัติในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนแห่งการแพร่ธรรมพิเศษ พ่อเชื่อมั่นว่าคำขวัญเมื่อปีที่แล้ว ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านธรรมทูตในหลายชุมชน ตามแนวทางที่ปรากฏอยู่ภายใต้หัวข้อ “รับศีลล้างบาปและส่งออกไป: พระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าในการปฏิบัติพันธกิจในโลก”
ในปีนี้ที่เต็มไปด้วยการเผชิญกับความทุกข์ยากและความท้าทายที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 การเดินทางธรรมทูตทั่วทั้งพระศาสนจักรยังคงเดินหน้าต่อไป ในแสงสว่างแห่งพระวาจาที่พบในเรื่องกระแสเรียกของประกาศกอิสยาห์ “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด” (อสย. 6: 8) นี่คือการตอบสนองที่มีความใหม่อยู่เสมอต่อคำถามขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “เราจะส่งใคร” (อสย. 6: 8) การเชื้อเชิญจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเจ้าท้าทายทั้งพระศาสนจักรและมนุษยชาติทั้งมวลท่ามกลางวิกฤตปัจจุบันของโลก “เช่นเดียวกับบรรดาศิษย์ในพระวรสาร เราถูกพายุโหมกระหน่ำอย่างไม่คาดฝัน เราตระหนักว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เราทุกคนเปราะบาง และสับสน แต่ในขณะเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เราทุกคนถูกเรียกร้องให้พายเรือไปด้วยกัน เราแต่ละคนต้องปลอบโยนกัน บนเรือลำนี้… เราทุกคน เหมือนกับบรรดาอัครสาวกที่พูดด้วยความกังวลใจเป็นเสียงเดียวกันว่า“พวกเรากำลังจะตายอยู่แล้ว” (มก. 4:38) ดังนั้น เราตระหนักเช่นกันว่าเราไม่สามารถที่จะคิดถึงแต่ตัวเองได้ แต่เราสามารถทำสิ่งนี้ร่วมกันได้” (การรำพึง ณ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร วันที่ 27 มีนาคม 2020) เราตกใจจริงๆ สับสนและหวาดกลัวอย่างแน่นอน ความเจ็บปวดและความตายทำให้เรามีประสบการณ์ความอ่อนแอแบบมนุษย์ของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนเราให้สำนึกในความปรารถนาลึกๆ สำหรับชีวิตและความเป็นอิสระจากความชั่วร้าย ในบริบทนี้การเรียกไปสู่การแพร่ธรรม เชื้อเชิญให้เราก้าวออกจากตัวเอง เพื่อความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แสดงให้เห็นในตัวมันเองว่าเป็นโอกาสสำหรับการแบ่งปัน การรับใช้ และการอธิษฐานภาวนาแทนผู้อื่น พันธกิจที่พระเจ้ามอบให้เราแต่ละคนนำเราออกจากความกลัวและการปิดตนเอง ไปสู่การค้นพบตนเองและฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ เมื่อเรามอบตนเองให้กับผู้อื่น
ในการถวายบูชาบนกางเขน เมื่อพันธกิจของพระเยซูเจ้าสำเร็จสมบูรณ์(เทียบ ยน. 19: 28-30) พระเจ้าทรงเผยแสดงแก่เราว่าความรักของพระองค์นั้นมีต่อเราทุกคนและเพื่อทุกคน (เทียบ ยน. 19: 26-27) พระองค์ทรงขอให้เรามีความเต็มใจที่จะถูกส่งออกไป เพราะพระองค์ทรงเป็นความรัก ความรักที่มีอยู่เสมอ” ในพันธกิจ” ทรงยื่นมือออกไปเสมอเพื่อให้ชีวิต จากความรักของพระองค์ที่มีต่อเรามนุษย์ พระเจ้าพระบิดาทรงส่งพระเยซูเจ้าพระบุตรของพระองค์ลงมา (เทียบ ยน. 3: 16) พระเยซูเจ้าทรงเป็นธรรมทูตของพระบิดา ชีวิตและพันธกิจของพระองค์แสดงให้เห็นถึงความนอบน้อมอย่างสิ้นเชิงต่อพระประสงค์ของพระบิดา (เทียบ ยน. 4: 34; 6: 38; 8: 12-30; ฮบ. 10: 5-10) พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนและทรงกลับคืนพระชนม์ชีพเพื่อเรา พระองค์ทรงดึงดูดเราเข้าร่วมในพันธกิจแห่งความรักของพระองค์ และพร้อมกับพระจิตของพระองค์ผู้ทรงทำให้พระศาสนจักรมีชีวิตชีวา ทรงทำให้เราเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า และทรงส่งเราออกไปปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อโลกและต่อประชากรโลก
“ในพันธกิจ ‘พระศาสนจักรที่กำลังก้าวออกไป’ ไม่ใช่โครงการ ไม่ใช่ความประสงค์ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามของอำเภอใจ แต่เป็นพระคริสตเจ้าผู้ทรงทำให้พระศาสนจักรออกจากตนเอง ในพันธกิจแห่งการประกาศข่าวดี ท่านมีการขับเคลื่อนเพราะพระจิตทรงผลักดันท่านและโอบอุ้มท่าน” (ปราศจากพระองค์เราทำอะไรไม่ได้เลย:เป็นธรรมทูตในโลกปัจจุบัน การสนทนากับ Gianni Valente, Liberia Editrice Vaticana: San Paolo, 2019, 16-17) พระเจ้าทรงรักเราก่อนเสมอ และด้วยความรักนี้พระองค์ทรงเสด็จมาหาเราและเรียกเรา กระแสเรียกส่วนตัวของเรามาจากความจริงที่ว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้าในพระศาสนจักร เป็นครอบครัวของพระองค์ เป็นพี่น้องชายหญิงในความรักที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็น อย่างไรก็ตาม เราทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีรากฐานอยู่ในการเชื้อเชิญของพระเจ้าให้เป็นบุตรของพระองค์ ในศีลล้างบาปและในความเชื่ออย่างอิสระ เราจะกลายเป็นบุตรที่อยู่ในดวงพระทัยของพระเจ้าเสมอ
ชีวิตเป็นของประทานที่ได้รับมาเปล่าๆ จึงเป็นการเชื้อเชิญให้เป็นการมอบตนเองโดยปริยาย ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ในผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป จะเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นการตอบสนองต่อความรักในการสมรสหรือในการถือโสดเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า ชีวิตมนุษย์เกิดจากความรักของพระเจ้า เติบโตขึ้นในความรัก และมุ่งไปสู่ความรัก ไม่มีผู้ใดเลยถูกแยกไปจากความรักของพระเจ้า และในการถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูพระบุตรของพระองค์บนไม้กางเขน พระเจ้าทรงมีชัยต่อบาปและความตาย (เทียบ รม. 8: 31-39) สำหรับพระเจ้า ความชั่ว แม้แต่บาป กลายเป็นความท้าทายที่เราจะต้องตอบสนองด้วยความรัก และเป็นความรักมากยิ่งขึ้นเสมอ (เทียบ มธ. 5: 38-48; ลก. 23: 33-34) ด้วยเหตุนี้ในธรรมล้ำลึกปัสกา พระเมตตาของพระเจ้าทรงรักษาบาดแผลดั้งเดิมของมนุษยชาติ และหลั่งไหลไปทั่วสากลจักรวาล พระศาสนจักรซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรักของพระเจ้าต่อโลก ยังคงดำเนินพันธกิจของพระเยซูเจ้าต่อไปในประวัติศาสตร์ และได้ส่งเราออกไปในทุกหนทุกแห่ง โดยอาศัยการเป็นประจักษ์พยานความเชื่อของเราและการประกาศข่าวดี พระเจ้ายังคงแสดงความรักของพระองค์ ด้วยวิธีนี้จะสัมผัสและเปลี่ยนแปลงจิตใจ ความนึกคิด ร่างกาย สังคม และวัฒนธรรมในทุกที่และทุกเวลา
การแพร่ธรรมเป็นการตอบรับต่อการเรียกของพระเจ้าอย่างอิสระและรู้ตัว แต่เราจะสามารถรับรู้การเรียกนี้ได้ต่อเมื่อเรามีความสัมพันธ์ส่วนตัวแห่งความรักกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ ให้เราถามตัวเองว่า เราพร้อมที่จะต้อนรับการประทับอยู่ของพระจิตในชีวิตของเราหรือไม่? พร้อมที่จะฟังเสียงเรียกเพื่อการแพร่ธรรม ไม่ว่าชีวิตของเราจะอยู่ในสถานะของการสมรส หรือชีวิตผู้ได้รับเจิม หรือการเรียกสู่ศาสนบริการการบวชเป็นบาทหลวง หรือในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน? เราเต็มใจที่จะถูกส่งออกไปทุกเวลาหรือทุกแห่ง เพื่อเป็นประจักษ์พยานชีวิตถึงความเชื่อของเราในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงเมตตา เพื่อประกาศข่าวดีแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อแบ่งปันชีวิตพระเจ้าของพระจิตโดยการสร้างพระศาสนจักรหรือไม่? เราพร้อมเหมือนกับพระแม่มารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า ที่จะรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างครบถ้วนหรือไม่? (เทียบ ลก. 1: 38) การเปิดกว้างภายในนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะสามารถตอบรับพระเจ้าได้ว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี้ พระเจ้าข้า โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด” (เทียบ อสย. 6:8) และนี่มิใช่นามธรรม แต่อยู่ในประวัติศาสตร์และชีวิตปัจจุบันของพระศาสนจักร
การเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับเราในช่วงเวลาแห่งการระบาดที่กระจายไปทั่วนี้ ยังหมายถึงความท้าทายต่อพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย ความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความหวาดกลัว และการแยกจากกันท้าทายเรา ความยากจนของผู้ที่ตายตามลำพัง ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้สูญเสียงานและรายได้ ผู้ไม่มีบ้านและอาหาร สถานการณ์เช่นนี้ท้าทายเรา การถูกบังคับให้รักษาระยะห่างทางสังคมและอยู่แต่ภายในบ้าน เชื้อเชิญเราให้ค้นพบอีกครั้งว่าเราต้องการความสัมพันธ์ทางสังคม เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในชุมชนของเรากับพระเจ้า นอกเหนือจากการเพิ่มความไม่ไว้วางใจและความเฉยเมยแล้ว สถานการณ์นี้ควรทำให้เราใส่ใจกับวิธีการที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และการอธิษฐานภาวนาซึ่งพระเจ้าทรงสัมผัสและผลักดันหัวใจของเราทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้นต่อความต้องการความรัก ศักดิ์ศรี และเสรีภาพของพี่น้องชายหญิงของเรา รวมถึงความรับผิดชอบของเราที่ต้องเอาใจใส่ดูแลสิ่งสร้างทั้งมวลด้วย ความเป็นไปไม่ได้ของการรวมตัวกันในฐานะพระศาสนจักรเพื่อเฉลิมฉลองพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ซึ่งทำให้เราได้แบ่งปันประสบการณ์ของชุมชนคริสตชนหลายแห่งที่ไม่สามารถถวายมิสซาทุกวันอาทิตย์ ในทุกสิ่งนี้ คำถามของพระเจ้า : “แล้วเราจะส่งใครไป?” จึงเป็นการถามเราอีกครั้งหนึ่งและทรงรอคอยการตอบรับด้วยความใจกว้างและความน่าเชื่อถือจากเรา “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด” (อสย. 6:8) พระเจ้ายังทรงมองหาบุคคลที่พระองค์สามารถส่งออกไปในโลกและไปยังชนชาติต่างๆ เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระองค์ การที่พระองค์ทรงช่วยให้พ้นจากบาปและความตาย การที่พระองค์ทรงปลดปล่อยจากความชั่วร้าย (เทียบ มธ. 9: 35-38; ลก. 10: 1-12)
การเฉลิมฉลองวันแพร่ธรรมสากล ยังเป็นโอกาสในการยืนยันอีกครั้งว่าการอธิษฐานภาวนา การไตร่ตรอง และความช่วยเหลือทางด้านวัตถุของการมอบถวายของท่าน เป็นโอกาสอย่างมากที่พวกท่านจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับพันธกิจของพระเยซูเจ้าในพระศาสนจักรของพระองค์ ความรักเมตตาที่แสดงออกในในการเรี่ยไรเงินบริจาคที่กระทำในระหว่างพิธีกรรมวันอาทิตย์ที่สามของเดือนตุลาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานธรรมทูตที่ดำเนินการในนามของพ่อ โดยสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม (PMS) เพื่อสนองตอบความต้องการทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุของประชาชน และของพระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลก เพื่อความรอดพ้นของทุกคน
ขอพระแม่มารีย์พรหมจารี ดวงดาราแห่งการประกาศพระวรสาร และผู้บรรเทาของผู้มีความทุกข์ ทรงเป็นศิษย์ธรรมทูตของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระแม่ โปรดทรงวอนขอเพื่อเราและทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเราตลอดไปด้วยเทอญ.
กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน
31 พฤษภาคม 2020
วันสมโภชพระจิต
ฟรังซิส