ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา ปี A
มธ22: 34-40…ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน…และท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง
พระวรสารของวันนี้เตือนเราให้คิดถึงพระบัญญัติเอกสองประการคือ“รักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์” และในพระบัญญัติเอกสองประการนี้ก็ซ่อนไว้ซึ่งคำสอนทั้งหมดของพระคัมภีร์…ข้อบกพร่องอันสำคัญของเราคริสตชนก็คือข้อบกพร่องในเรื่องของความรัก
ข้อคิด…คริสตชนคาทอลิกหลายๆคนคงอยากจะตั้งคำถามว่า“เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องออกห่างจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อที่จะพบพระเจ้าหรืออย่างไร?”…หรือว่ามี“ผู้ที่ได้พบพระเจ้าแล้วยังสามารถกลับไปหาเพื่อนพี่น้องและเจริญชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างมีความสุขมีความสนใจเอาใจใส่พวกเขาและทำงานพร้อมๆกับพวกเขาและเพื่อพวกเขาหรือเปล่า?” …หรือพูดง่ายๆก็คือว่า“ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนพี่น้องสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่?”หรือว่าถ้า“มีความรักต่อพระเจ้าแล้วก็จะรักเพื่อนพี่น้องไม่ได้?”
เรามนุษย์ทุกคนต่างก็ชอบการได้สิ่งต่างๆตามที่ต้องการและชอบความสดวกสบายด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติหรือความเป็นเจ้าของคนที่เรารักหรือความเป็นเจ้าของสถานที่ที่เราชอบฯลฯส่วนโลกที่เราไม่คุ้นเคยนั้นก็อาจจะกลายเป็นโลกของคนแปลกหน้าและสิ่งแปลกปลอม…โลกของคนที่เราไม่รู้จักนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับความชอบหรือความไม่ชอบและความมีอคติของเราด้วยหรือพูดง่ายๆก็คือว่าคนแปลกหน้าที่ว่านี้“พวกเขาก็จะไม่ใช่เป็นคนหนึ่งแต่ในพวกของเรา”
ในบทอ่านที่หนึ่งจากหนังสืออพยพเราได้ยินว่าชนชาวอิสราแอลได้รับการคาดหวังว่าพวกเขาจะปฏิบัติตนต่อคนแปลกหน้าอย่างไร…“ท่านจะต้องไม่ข่มเหงหรือรังแกคนต่างชาติเพราะท่านทั้งหลายก็เป็นคนต่างชาติในแผ่นดินอียิปต์” …ชนชาวอิสราแอลได้เคยเป็นคนยากจนน่าสงสารและเป็นคนแปลกหน้ามาก่อนและพระเจ้าก็ได้แสดงความเมตตาสงสารต่อพวกเขาดังนั้นพวกเขาก็ควรจะต้องมีความรักและความเมตตาสงสารต่อคนแปลกหน้าด้วยเหมือนกันพวกเขาได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าว่า“เมื่อคนแปลกหน้าอาศัยอยู่กับเจ้าในแผ่นดินของเจ้าอย่าข่มเหงเขา…คนแปลกหน้าที่อาศัยอยู่กับเจ้านั้นก็เหมือนกับชาวเมืองของเจ้าเจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเองเพราะว่าเจ้าเคยเป็นคนแปลกหน้าในแผ่นดินอียิปต์…เราคือพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า” (ลนต19: 33-34)
ชนชาวอิสราแอลได้รับพระบัญชา“ให้เรารักคนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติเหมือนกับรักตัวเอง” เหตุผลที่สำคัญสำหรับพระบัญชานี้ก็ได้มาจากประสบการณ์ของพวกเขาเอง…พวกเขาจำเป็นต้องมองย้อนไปหาอดีตของพวกเขาและต้องจดจำใส่ใจอยู่บ่อยๆว่าเมื่อครั้งที่พวกเขาเป็นคนแปลกหน้านั้นพวกเขาอยากจะได้รับการปฏิบัติเช่นไร…การรักคนแปลกหน้านั้นเป็นอะไรบางอย่างที่จะต้องได้รับการปฏิบัติเพราะว่านั่นเป็นสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำต่อพวกเขามาก่อนนั่นเอง
“พระองค์ประทานความยุติธรรมแก่ลูกกำพร้าและแม่หม้าย และทรงรักคนแปลกหน้าประทานอาหารและเครื่องนุ่งห่มแก่เขา เพราะฉะนั้นท่านจงมีความรักต่อคนแปลกหน้า เพราะท่านทั้งหลายก็เป็นคนแปลกหน้าในแผ่นดินอียิปต์”(ฉธบ10: 18-19)
คนแปลกหน้าจะหมดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแปลกหน้าก็ต่อเมื่อพวกเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างเพื่อนฝูงจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการต้อนรับอย่างเพื่อนฝูงจึงถูกถือว่าเป็นคุณธรรมในระดับต้นๆประการหนึ่งของเรามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องเร่ร่อนพเนจรอยู่เสมอๆการต้อนรับอย่างเพื่อนฝูงจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นความตายของตัวพวกเขาเองโดยปรกติแล้วคนเดินทางมักจะผูกชีวิตของพวกเขากับการได้รับการต้อนรับอย่างเพื่อนฝูงของคนแปลกหน้า…ดังนั้นคนแปลกหน้าคนเดินทางหรือทุกคนที่เดินทางเข้าไปในถิ่นของคนที่ไม่รู้จักก็สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ
ในธรรมประเพณีของชนชาวอิสราแอลคำถามง่ายๆเพื่อที่จะรู้จักคนแปลกหน้าก็คือ…“คุณเป็นใคร?…มาจากไหน?…มาทำไม?”…แต่ก็ควรจะถามกันหลังจากที่ได้ให้การต้อนรับแล้วคือเมื่อพวกเขาได้ชำระตัวอาบน้ำพักผ่อนและทานอาหารอิ่มแล้วเท่านั้นต่อเมื่อเขาจะได้รับประสบการณ์ของการต้อนรับอย่างเพื่อนฝูงแล้วและในบรรยากาศอย่างนี้แขกแปลกหน้าจึงจะรู้สึกว่าปลอดภัยและมั่นใจที่จะเปิดเผยตัวเอง
ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงพูดถึงพลังแห่งความรักที่สามารถเอาชนะใจผู้อื่นได้ว่า
“ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”
ในขณะที่ชนชาวอิสราแอลได้รับการร้องขอให้รักคนแปลกหน้าเหมือนรักตนเองชนชาวคริสตชนซึ่งเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้าก็ได้รับการร้องขอเช่นเดียวกันกันคือให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองเพราะสิ่งที่เราให้กับเพื่อนพี่น้องด้วยการต้อนรับนั้นก็เป็นการให้ความรักและการต้อนรับองค์พระเยซูเจ้าเอง
บ่อยๆครั้งคนแปลกหน้าที่แท้จริงก็มิใช่คนที่เราไม่รู้จักแต่ว่าเป็นคนที่เราไม่อยากรู้จักคนที่เราไม่อยากรักเขาและคนๆนั้นอาจจะเป็นเพื่อนบ้านของเราหรืออาจจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวหรือในหมู่คณะของเราก็เป็นไปได้เราอาจจะมีคนแปลกหน้าในบ้านของเราเองที่ยังกำลังรอคอยการต้อนรับรอคอยคำกล่าว“สวัสดี”และรอคอยความรักจากเราเพราะถ้าหากเราปิดประตูหัวใจของเราหลังประตูหัวใจนี้ก็อาจจะมีคนที่กำลังหมดอาลัยตายอยากเพราะไม่มีใครไปเยี่ยมไปเหลียวแล
เราทุกคนมีความต้องการคนต่างด้าวหรือคนแปลกหน้าและเพื่อนพี่น้องเพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงคุณภาพของความรักของเราที่มีต่อเพื่อนพี่น้องของเราว่า…
“เรารักเพื่อนพี่น้องของเราเหมือนรักตนเองหรือเปล่า?”
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์