อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา ปี B
ยน1: 35-42…เมื่อศิษย์ทั้งสองคนเห็นที่ประทับของพระเยซูเจ้าก็พักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น…
ในพระวรสารของวันนี้เราจะได้ยินได้ฟังพระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สองคนแรกของพระองค์ว่า“มาดูซิ”…ศิษย์ทั้งสองก็ได้ตอบรับคำเชิญของพระองค์และได้พบกับพระองค์ซึ่งได้ช่วยให้ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง…ทุกๆครั้งเวลาที่เรามาร่วมเฉลิมฉลองพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเราก็มีโอกาสพบปะกับพระองค์…ให้เราได้เตรียมตัวเตรียมจิตใจของเราให้พร้อมสำหรับการพบปะนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ข้อคิด…แม้ว่าปีพิธีกรรมปีนี้ในวันอาทิตย์จะใช้พระวรสารของนักบุญมาระโกแต่เพื่อเป็นการเคารพต่อธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของพระศาสนจักรที่ได้นำเสนอการเผยแสดงให้กับผู้คนที่แตกต่างกันออกไปขององค์พระเยซูเจ้าจึงในวันอาทิตย์ที่สองเทศกาลธรรมดานี้ได้เลือกเอาพระวรสารของนักบุญยอห์นซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ที่ค่อยเป็นค่อยไปต่อองค์พระเยซูเจ้าว่าพระองค์เป็นใครโดยผ่านทางการเป็นประจักษ์พยานของท่านยอห์นบัปติสต์และการยืนยันถึงความเชื่อศรัทธาที่สานุศิษย์รุ่นแรกๆมีต่อพระองค์…จากพระวรสารของวันนี้เราจะเห็นว่าท่านยอห์นบัปติสต์ได้เรียกพระเยซูเจ้าว่า“นี่คือลูกแกะของพระเจ้า”และนักบุญอันดรูว์เรียกพระองค์ว่า“พระเมสสิยาห์”
เนื้อหาที่สำคัญของบทอ่านในวันอาทิตย์นี้ก็คือ“การเรียกและการตอบสนอง” …ในบทอ่านแรก(1 ซมอ3: 3-10. 19) เราเห็นกระแสเรียกของท่านซามูเอลซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติอิสราเอลการที่พระเจ้าทรงเรียกท่านนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเวลาใหม่เพราะผ่านทางท่านชนชาวอิสราเอลจะได้มีกษัตริย์พระองค์แรก…กระแสเรียกของท่านซามูเอลนี้จะเป็นรูปแบบของการเรียกอัครสาวกรุ่นแรกๆของพระเยซูเจ้าด้วยคืออันดรูว์ยอห์นและเปโตรและการเรียกนักบุญเปโตรนั้นจะต้องถือว่าเป็นจุดเด่นของการเรียกและการเลือกอัครสาวกขององค์พระเยซูเจ้าเพราะบทบาทที่สำคัญที่ท่านได้รับจากพระองค์ในคณะอัครสาวก
ในกระแสแห่งชีวิตของเราแต่ละคนเราก็มีการพบปะกับผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มิใช่เป็นการพบปะที่มีความสำคัญมากมายนักเพราะในที่สุดเราก็มักจะลืมมันไป
เราอาจจะพบปะกับคนบางคนทุกๆวันแต่เราก็ไม่เคยได้ใกล้ชิดกับเขาเหล่านั้นเรารู้จักเขาแต่เพียงผิวเผินเราสามารถพูดคุยกับใครบางคนเป็นชั่วโมงๆหรือเป็นเดือนๆปีๆโดยที่ไม่รู้สึกว่าเราได้เผยความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราให้กับเขาคนนั้น…เราสามารถมีชีวิตอยู่ในหมู่คณะหรือในสังคมเดียวเป็นปีๆโดยที่ไม่รู้จักคนอื่นๆที่อยู่ในสังคมเดียวกันนั้นหรือพูดคุยกับพวกเขาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆของชีวิตอย่างลึกซึ้งพูดง่ายๆก็คือเราไม่ได้ให้อะไรที่เป็นแก่นสารและอย่างเป็นประโยชน์แก่กันและกันเลย…และนี่แหละที่เป็นความน่าเสียดายของชีวิต
แต่ก็ยังมีการพบปะกันอีกบางครั้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะช่วยทำให้ชีวิตของเรามั่งคั่งร่ำรวยขึ้นและทำให้ชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมากอีกด้วยและนี่แหละที่เป็นการพบปะกันที่นำความชื่นชมยินดีมาให้ทั้งเป็นรางวัลแห่งชีวิตอีกด้วย
หลายๆครั้งการพบปะกันอย่างมีความหมายและมีคุณค่าก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างบังเอิญก็เป็นไปได้โดยไม่ต้องไปใช้เวลาอย่างมากมายบ่อยๆการพบปะกันเป็นครั้งแรกก็จะเป็นสิ่งที่ลืมยากเพราะอาจจะทำให้เรารักใครหรือเกลียดใครขึ้นมาได้เพราะความประทับใจหรือไม่ประทับใจที่เราได้รับจากเขาซึ่งอาจจะทำให้เราสามารถจำทุกรายละเอียดได้ของการพบปะครั้งแรกนั้นเช่นในกรณีของนักบุญยอห์นอัครสาวก
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะช่วยเราให้ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการพบปะครั้งแรกระหว่างพระเยซูเจ้ากับบุคคลสามคนซึ่งต่อมาภายหลังได้กลายเป็นอัครสาวกในหัวแถวของพระองค์คือเปโตรอันดรูว์และยอห์นเพราะอีกหลายๆปีต่อมาเมื่อยอห์นได้เขียนพระวรสารท่านสามารถจำเวลาของวันที่ท่านได้พบปะกับพระเยซูเจ้าว่าเป็นกี่โมงกี่ยาม…คือเป็นเวลาบ่ายสี่โมง
การพบปะกับพระเยซูเจ้าเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ท่านทั้งสามรู้สึกติดอกติดใจในองค์พระเยซูเจ้าเพราะพระองค์ได้ให้เวลาแก่พวกเขามากตามที่พวกเขาต้องการพวกเขารู้สึกว่าพระเยซูเจ้าเป็นผู้ที่อบอุ่นเป็นเพื่อนมีอัธยาศัยดีพวกเขารู้ดีว่าพวกเขาได้พบกับบุคคลสำคัญและทำให้ได้มาซึ่งมิตรภาพอันหาได้ยาก
พระเยซูเจ้าได้ผ่านไปผ่านมาในชีวิตของพวกเราแต่ละคนพระองค์พร้อมอยู่เสมอสำหรับคนที่กำลังมองหาพระองค์อย่างจริงใจพระองค์มิได้ไปบังคับใครให้มารู้จักพระองค์สำหรับคนที่สนใจอยากจะรู้จักพระองค์มากขึ้นพระองค์ก็ทรงเชื้อเชิญอย่างที่พระองค์ทรงบอกกับยอห์นและอันดรูว์ว่า…“มาดูซิ”
แน่นอนมิใช่เป็นการพบปะกันครั้งเดียวแล้วก็เลิกรากันไปแต่นี่หมายถึงความสัมพันธ์หรือความผูกพันธ์กับองค์พระเยซูเจ้าที่จะค่อยๆเจริญเติบโตและพัฒนาไปทุกๆวัน…
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์