แทนคิกสักนิด…สะกิดใจ
อะไรคือรากเหง้าของบาปทั้งปวง?
จากผลงานของนักบุญ โทมัส อไควนัสและคุณพ่อ Garrigou-Lagrange ได้ให้คำตอบแก่เราว่า รากเหง้าที่ลึกที่สุดของบาปทั้งปวงก็คือ “ความรักตัวเองมากเกินไป” จากรากเหง้านี้จึงทำให้เกิดบาปอื่นตามมา รวมทั้งบาปกำเนิดของอาดัมและบาปของบรรดาเทวดาตกสวรรค์ทั้งหมดด้วย ถึงแม้ว่าความผิดพลาดบางอย่างของเราอาจไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับความรักในตนเองมากเกินไป แต่การประจญล่อลวงในความผิดพลาดนั้นอาจมีสาเหตุจากเรื่องนี้มาก่อนแล้ว
ซาตานล่อลวงอย่างไรเมื่อมันพูดกับเอวา “แล้วเธอจะเป็นเหมือนพระเป็นเจ้า” (ปฐ. 3:5)? ส่วนลูซีเฟอร์และพรรคพวกของมันทั้งหมดก็เช่นเดียวกัน จิตใจของพวกมันตกต่ำลง เพราะพวกมันมีความรักในตนเองมากเกินไป เมื่อมันเป็นกบฏต่อพระเป็นเจ้า และมันประกาศว่า “ข้าจะไม่รับใช้พระเจ้า” อาดัมและเอวา ถึงแม้จะปราศจากบาปและจิตใจไม่ได้ตกต่ำลงเหมือนเทวดาตกสวรรค์เหล่านั้น แต่เพราะมีความรักตัวเองมากกว่ารักพระเป็นเจ้า ทำให้พวกเขาเลือกทำในสิ่งที่ผิดต่อคำสั่งของพระองค์ สภาพการณ์เช่นนี้ยังดำเนินอยู่ต่อไปสำหรับมนุษย์ทุกคน เราต้องเลือกว่าจะรักพระเป็นเจ้าหรือรักตนเองมากกว่า
ขอสรุปด้วยคำพูดของคุณพ่อ Garrigou-Lagrange ท่านเริ่มต้นด้วยวาจาจากพระคัมภีร์ “เพราะความรักตัวเองมากเกินไป ซึ่งเป็นรากเหง้าของบาปทุกชนิด จึงก่อให้เกิดตัณหา (ความลุ่มหลงมัวเมา) สามชนิด ซึ่งนักบุญยอห์นได้อ้างถึงเมื่อท่านกล่าวว่า “เหตุว่าตัณหาทุกชนิดในโลกมีต้นเหตุจาก ตัณหาที่มาจากเนื้อหนัง ตัณหาที่มาจากสายตา และตัณหาจากความหยิ่งทะนงภูมิใจในสถานะ/ความสามารถ/ชีวิตของตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากพระเป็นเจ้า แต่มาจากโลก” (1 ยน. 2:16)
ตัณหาของเนื้อหนังเป็นความปรารถนามากเกินควรของอารมณ์ในทางร่างกาย ซึ่งเป็นการหาความสุขความพอใจทางเนื้อหนังเพื่อตนเองและคนบางกลุ่ม (เป็นทั้งความโลภและความลุ่มหลง)…ความมักมากฝ่ายร่างกายนี้จึงได้กลายเป็นความลุ่มหลงมัวเมาของจิตใจ
ตัณหาของสายตาเป็นความปรารถนามากเกินควรและมีความพึงพอใจในสิ่งที่ได้เห็น นั่นคือการชอบมองดูความฟุ้งเฟ้อ ความร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทอง…จากสิ่งนี้ทำให้เกิดความโลภในจิตใจ ผู้มีความโลภบูชาทรัพย์สินเงินทองเป็นพระเจ้าของเขา เขาเทิดทูนมันและยอมทำทุกอย่างเพื่อมัน ด้วยพละกำลังทั้งหมดของเขา เวลาทั้งหมดของเขา ยอมเสียสละแม้แต่ครอบครัว และบางครั้งก็ยอมเสียสละแม้แต่ชีวิตนิรันดรของเขา…
ความหยิ่งทะนงและภาคภูมิใจในสถานะ/ความสามารถและชีวิตของตนเอง เป็นการรักตัวเองมากเกินไปในความดีเลิศบางอย่างของตนเอง…(จากสิ่งนี้ทำให้เกิดความหยิ่งจองหอง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และความเกียจคร้าน) ผู้ที่หยิ่งทะนงและภาคภูมิใจในชีวิต บูชาตนเองเป็นพระเจ้า เหมือนที่ลูซีเฟอร์ได้กระทำ
ความรักตัวเองมากเกินไปนำไปสู่ความตาย ดังที่องค์พระผู้ไถ่ตรัสไว้ “ผู้ที่รักชีวิตของตน จะสูญเสียชีวิตไป แต่ผู้ที่ยอมสละชีวิตของตนในโลกนี้ จะรักษาชีวิตนิรันดรของตนเองไว้ (ยน.12:25)….มีเพียงความรักที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือความรักในพระเป็นเจ้าเท่านั้น ที่สามารถพิชิตความรักตัวเองได้ (Lagrange, The Three Ages of the Interior Life (Tan Publications) Vol 1: 300-301, 368-370)
น.โทมัส กล่าวว่า “บาปทั้งหลายเกิดมาจากความรักตัวเองมากเกินไป มันเป็นอุปสรรคต่อการที่จะรักพระเป็นเจ้าเหนือสิ่งใด มันล่อลวงทำให้เราหันหลังให้กับพระองค์” (Summa Theologica I, IIae, q. 77 a. 4; et 84, a. 4).
บาปทุกชนิดมาจากความปรารถนาในบางสิ่งเพื่อตนเองมากเกินไป และความปรารถนานั้นมาจากการที่เขารักตัวเองมากเกินไป เพราะผู้ที่ปรารถนาในบางสิ่งเพื่อตัวเองก็เป็นความรักในตนเอง เพราะฉะนั้น นี่เป็นหลักฐานว่า ความรักตัวเองมากเกินไปเป็นต้นเหตุของบาปทั้งปวง (Summa Theologica 77.4 respondeo).
ต่อข้อโต้แย้งในคำพูดที่กล่าวว่า “ความรักในเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกอย่าง”(1 ทม. 6:10) น.โทมัสตอบว่า
ที่กล่าวว่า ความปรารถนาในเงินทองเป็นรากเหง้าของบาปนั้น ใช่ว่าเศรษฐีทุกคนจะแสวงหาเงินทองเพื่อตัวของเขาเอง แต่เป็นเพราะพวกเขาแสวงหาเพื่อใช้ประโยชน์จากมัน และด้วยเหตุที่สิ่งของจำเป็นทั่วๆไปนั้นเป็นที่ปรารถนามากกว่าสิ่งของที่ไม่จำเป็น พวกเขาจึงใช้เงินทองเพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็นมากกว่าสิ่งของที่ไม่จำเป็น (Summa Theologica I, IIae, 84, 1 ad 2).
นั่นคือความปรารถนาใน “เงินทอง” เป็นความปรารถนาที่มิใช่เพื่อตนเองโดยตรง แต่เงินทองเป็นสิ่งที่ใช้บำรุงบำเรอความรักในตนเองมากเกินไป ดังนั้น ความรักในตนเองมากเกินไปจึงเป็นรากเหง้าที่ลึกมากกว่าความรักในเงินทอง ความปรารถนาในเงินทองเป็นเพียงสิ่งอำนวยประโยชน์และมีต้นกำเนิดมาจากความรักตัวเองมากเกินไป
น.โทมัสอธิบายต่อไปถึงเหตุผลที่บาปกำเนิดมีรากเหง้ามาจากความรักในตนเองมากเกินไป
1. ความหยิ่งจองหอง– เรารักและภาคภูมิใจในความดีเลิศของตนเองมากกว่าความดีเลิศของพระเป็นเจ้า หรือความดีเลิศของผู้อื่น
2. ความตะกละ– เรารักในสิ่งของมากเกินไปและไม่มีที่สิ้นสุด มีสาเหตุมากจากความรักในตนเองมากเกินไปและต้องการสิ่งของต่างๆเพื่อตนเอง
3. ความลุ่มหลง (อุลามก)– เรารักตัวเราเองมากเกินไปและปรารถนาที่บำเรอตนเองให้มีความสุขความพึงพอใจ เราปรารถนาให้ผู้อื่นมาบำเรอความพึงพอใจให้แก่เรา มากยิ่งกว่าที่จะรักผู้อื่นและทำความดีเพื่อผู้อื่น
4. ความโกรธ– การที่เรารักตัวเราเองมากเกินไปเป็นสาเหตุให้เราไม่เคารพนับถือคนอื่น (รวมทั้งพระเป็นเจ้าด้วย) เราโกรธโมโหและเก็บความแค้นเคืองเอาไว้ในใจและทำสิ่งที่ผิดต่อความยุติธรรมต่อผู้อื่น
5 โลภอาหาร– ความรักตัวเองมากเกินไปทำให้เราแสวงหาความพอใจเพื่อตนเองในอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่ใส่ใจในสุขภาพของตนเอง ทำให้เราลุ่มหลงในสิ่งของของโลกไม่ให้ความเคารพต่อพระเป็นเจ้าหรือผู้อื่น
6. ความอิจฉาริษยา– ความรักตัวเองและเห็นแก่ตัวทำให้เราอิจฉาในความดีของผู้อื่น เพราะเราต้องการให้ผู้อื่นมาสรรเสริญยกย่องเรา
7. ความเกียจคร้าน– ความรักตัวเองมากเกินไป ทำให้เราคิดว่าพระเป็นเจ้ามาทำให้ชีวิตของเรายุ่งยาก มารบกวนเวลาของเรา รบกวนความคิดเห็นของเราและรบกวนความพึงพอใจของเรา ดังนั้นเราจึงพยายามหลีกหนีแผนการณ์ของพระเป็นเจ้าที่ต้องการให้เรามีความสุขในนิรันดรภาพ
เราไม่อาจไปตำหนิปีศาจหรือโลกว่าเป็นสาเหตุแห่งการตกต่ำของเรา แต่เป็นเพราะเรารักในตัวเองมากเกินไป ทำให้ปีศาจและโลกสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของเราได้ง่าย
มีเพียงความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าเท่านั้น นั่นคือความรักของพระเป็นเจ้า ที่สามารถเอาชนะความรักในตัวเราเองได้ ด้วยเหตุนี้พระบัญญัติของพระเป็นเจ้าจึงเริ่มต้นด้วย “ท่านจงรักพระเป็นเจ้าของท่านด้วยสิ้นสุดจิตใจของท่าน ด้วยสิ้นสุดวิญญาณของท่านและด้วยสิ้นสุดสติปัญญาของท่าน นี่เป็นบัญญัติประการแรกและสำคัญที่สุด ส่วนบัญญัติประการที่สองก็คล้ายกันคือ จงรักเพื่อนบ้านของท่านเหมือนรักตัวเอง คำสอนของประกาศกและกฎบัญญัติทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับบัญญัติทั้งสองนี้ (มท. 22:37-40)
ปัญหาพื้นฐานที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่นั้นมิใช่ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือ การไม่ได้รับการศึกษา หรือแม้แต่เรื่องความหิวโหย เราพบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงมีความเป็นอยู่ที่ดีก็มีความโลภ ความเกลียดชัง ความลุ่มหลงมัวเมา และสิ่งชั่วร้ายต่างๆ สิ่งเหล่านี้การศึกษาไม่ได้กำจัดให้หมดไป รากเหง้าของบาปในมนุษย์แต่ละคนนั้นฝังรากลึกมาก นี่คือสาเหตุพื้นฐานของปัญหาทั้งหลายในโลก มีแต่เปลวเพลิงแห่งความรักของพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่จะเผาทำลายมันให้สูญสิ้นไป และสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกนี้ พระองค์ไม่ได้มาเพียงเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้เลวร้ายลงเนื่องจากโรคร้ายในหัวใจ แต่พระองค์มาเพื่อกำจัดโรคร้ายให้หมดสิ้นไปจากหัวใจของมนุษย์
บทภาวนาข้าแต่พระบิดา โปรดกำจัดรากเหง้าของบาปให้หมดไปจากหัวใจของลูก และเติมเต็มหัวใจของลูกด้วยความรักของพระองค์ แล้วลูกจะสามารถต่อสู้กับปีศาจและความชั่วร้ายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้ได้
(แปลและเรียบเรียง โดยคุณประวิทย์ เว็บไซต์ จิตอิสระ)