ข้อคิดวันสมโภชพระจิตเจ้า ปี B
กจ 2:1-11…ศิษย์ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และเริ่มพูดภาษาอื่นๆตามที่พระจิตเจ้าประทานให้พูด…และประชาชนแต่ละคนได้ยินพวกอัครสาวกพูดภาษาของตน…
ข้อคิด…ในวันสมโภชพระจิตเจ้า เราได้แลเห็นหมู่คณะใหม่คณะหนึ่งได้เกิดขึ้น คือพระศาสนจักร…เป็นวันที่บรรดาอัครสาวกได้ออกจากห้องชั้นบน ที่ซึ่งพวกเขาได้ซ่อนตัวอยู่เพราะกลัวพวกยิว พวกเขาได้ออกจากห้องไปอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด ออกไปประกาศพระวรสาร…เพราะในวันนี้เป็นวันที่พระเยซูเจ้า พระผู้ทรงซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับบรรดาอัครสาวก ได้ทรงส่งพระจิตเจ้ามายังพวกเขา…
การเสด็จมาขององค์พระจิตเจ้าได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในตัวพวกอัครสาวก ทั้งได้เห็นการเปิดตัวของพระศาสนจักรใหม่ของพระเยซูเจ้าด้วย
วันสมโภชพระจิตเจ้าในวันนี้ จะต้องเป็นการรื้อฟื้นพระพรขององค์พระจิตเจ้าในบรรดาสัตบุรษแต่ละคนและในพระศาสนจักรโดยส่วนรวมด้วย พระพรของพระจิต มีพระดำริ สติปัญญา ความคิดอ่าน พละกำลัง ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า…พระดำริ สติปัญญา และความคิดอ่าน จะช่วยนำทางจิตใจของเราและช่วยเหลือมโนธรรมของเราในการแยกแยะว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด พละกำลังจะช่วยเราให้กระทำสิ่งที่ถูกต้องแม้สิ่งนั้นจะยากลำบากหรือไม่เป็นที่ชื่นชอบ ความยำเกรงพระเจ้าจะทำให้เรายำเกรงพระเจ้าอย่างแท้จริง
นักบุญเปาโล กล่าวถึงผลของพระจิตว่า ”ผลของพระจิตเจ้าคือความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งงดงาม และทำให้ชีวิตมีความชื่นชมยินดี “(กท 5:22)
ส่วนนักบุญลูกากล้าที่จะมองดูธรรมประเพณีของชนชาวยิวว่าวันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองการที่พระยาเวห์ทรงประทานธรรมบัญญัติให้กับพวกเขาบนภูเขาซีนัย ในวันนั้นได้มีลมพัดแรงกล้า มีเปลวไฟ และได้มีพระสุรเสียงหนึ่งได้ประกาศธรรมบัญญัติ ต่อมาเปลวไฟนั้นได้แยกตัวออกเป็นลิ้นไฟ 70 ลิ้นด้วยกันอันสอดคล้องกับ 70 เชื้อชาติของสากลโลก ธรรมบัญญัติที่ว่านี้ได้รับการประกาศ มิใช่แก่ชนชาติอิสราแอลเท่านั้น แต่ได้ประกาศให้กับมนุษยชาติทั้งหมดด้วย เช่นเดียวกันสำหรับนักบุญลูกา ในวันที่พระจิตเสด็จลงมายังพวกอัครสาวก ก็มีลมพัดกรรโชกแรงและลิ้นไฟที่ได้ลงมายังกลุ่มของพวกศิษย์ แต่การประกาศนั้น มิใช่เป็นการประกาศธรรมบัญญัติ แต่เป็นการประกาศข่าวดีที่ได้ยกเลิกคำสาปแช่งของหอบาแบลและเป็นการรวบรวมประชาชาติที่ได้กระจัดกระจายไป ให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน
ส่วนสำหรับนักบุญยอห์น การประทานพระจิตนั้นได้บังเกิดขึ้นในวันปัสกา วันที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับคืนพระชนมชีพซึ่งจริงๆแล้วก็มิได้ขัดแย้งอะไรกับเรื่องเล่าของนักบุญลูกาในหนังสือกิจการของอัครสาวก เพราะทั้งนักบุญยอห์นและนักบุญลูกาต่างก็ได้พูดถึงเรื่องเดียวกันคือพระผู้ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพได้ทรงประทานพระพรขององค์พระจิตเจ้าและได้ทรงเปิดตัวพระภารกิจของพระศาสนจักร มีแต่เรื่องของวันเวลาที่แตกต่างกันสำหรับทั้งสองท่านเท่านั้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะทั้งสองท่านต่างมีมุมมองทางเทววิทยาที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง จึงมิใช่เป็นประเด็นที่จะต้องนำมาถกเถียงกันให้ยืดยาว
ภาษาใหม่ขององค์พระจิตเจ้า
ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่งในการสื่อสารของเรามนุษย์ ถ้าหากว่าเราไปในประเทศที่เราใช้ภาษาของเขาไม่ได้ เราก็จะรู้สึกอึดอัดเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไปไหนมาไหน เรื่องอาหารการกิน เรื่องการสื่อสารกับคนอื่นๆ ฯลฯ ตรงข้าม เรากลับรู้สึกเป็นสุขและดีใจเมื่อคนอื่นที่เราพูดจาด้วยเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารกับเขา
ส่วนใหญ่แล้วโดยอาศัยการพูดจาที่เรามนุษย์แสดงออกซึ่งความต้องการ อารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับรู้
แต่ว่าภาษาเพียงอย่างเดียวก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะนำมนุษย์ให้มาอยู่ด้วยกัน เพราะถึงกับมีบางคนพูดว่า “คำพูดเป็นต้นเหตุของการเข้าใจผิด” ก็มี ซึ่งยอมหมายถึงว่าแม้เราจะพูดภาษาเดียวกัน ก็มิใช่ว่าเราจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะหัวใจและจิตวิญญาณของแต่ละคนไม่ได้มีโอกาสมาพบกันและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม คนเราแม้จะพูดภาษาที่ต่างกัน ถึงจะเป็นคนแปลกหน้าไม่รู้จักกัน แต่ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่สามารถเป็นพี่น้องกันได้อีกด้วย และ ณ วันที่มีความปีติยินดี หรือวันที่มีความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง หรือในวันที่มีอันตรายต่อหมู่คณะหรือต่อประเทศชาติ ความแตกต่างทางภาษาก็คงจะต้องถูกยกยอดออกไป เราคงจะต้องยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันและจะต้องรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆเหล่านั้น
นอกจากคำพูดซึ่งเป็นวิธีการอันหนึ่งในการสื่อสารแล้ว ก็ยังมีวิธีการอื่นๆอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถถูกนำมาใช้ในการสื่อสารได้อีกด้วย เช่นเดียวกับในวันที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมายังบรรดาอัครสาวกและศิษย์คนอื่นๆของพระเยซูเจ้า ลมพัดแรงและลิ้นไฟอันเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการสื่อสารด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาษาก็ยังมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเรามนุษย์อยู่นั่นเอง เราได้รับการบอกเล่าว่าในวันพระจิตเสด็จลงมา ทุกคนได้ฟังเข้าใจพวกอัครสาวก
พวกอัครสาวกได้พูดภาษาใหม่หรือ?
ภาษาใหม่ที่พวกอัครสาวกพูดนั้น เป็นภาษาของสันติสุข มิใช่เป็นภาษาของการทำสงคราม เป็นภาษาของการปรองดองคืนดีกัน มิใช่เป็นภาษาของความขัดแย้งกัน เป็นภาษาของความร่วมมือกันมากกว่าของการแก่งแย่งชิงดีกัน พวกเขาพูดภาษาของการให้อภัยแทนที่จะเป็นภาษาของการแก้แค้น พูดภาษาของความหวังมากกว่าภาษาของความหมดหวัง พูดภาษาของการอยู่ร่วมกัน มากกว่าภาษาของการมีทิฐิ พูดภาษาของมิตรภาพมากกว่าภาษาของความเป็นศัตรูกัน พูดภาษาของเอกภาพมากกว่าภาษาของการแตกแยก และสุดท้ายพวกเขาพูดภาษาของความรักมากกว่าที่จะพูดภาษาของความเกลียด
ภาษาใหม่ที่ว่านี้ก่อให้เกิดกลุ่มชนแบบใหม่ขึ้น เป็นกลุ่มชนของบรรดาผู้ที่เชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า เป็นกลุ่มชนแห่งความเชื่อและความรัก ตามที่มีบรรยายไว้ในหนังสือกิจการของอัครธรรมทูต บรรดาศิษย์รุ่นแรกๆของพระเยซูเจ้าว่าเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (กจ 1: 14)
โดยอาศัยพระพรของพระจิตเจ้า บรรดาสัตบุรุษที่พูดภาษาต่างกัน ต่างก็เรียนรู้ที่จะยืนยันความเชื่อเดียวกัน ร่วมใจกันสรรเสริญองค์พระเจ้าเดียวกันและปฏิบัติความรักที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกำชับไว้ นี่แหละที่เป็นอัศจรรย์ที่แท้จริงของวันพระจิตเสด็จลงมา และก็ยังเป็นอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นทุกๆวันในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ เวลาที่พวกเขามาร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณ
ขอขอบพระคุณพระเจ้า
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์