บทอ่านจากบทเทศน์เกี่ยวกับจดหมายถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2 โดยนักบุญยอห์น ครีโซสตม พระสังฆราช
ข้าพเจ้าปีติยินดีอย่างล้นเหลือ ในความยุ่งยากทั้งมวลของข้าพเจ้า
ท่านเปาโลกลับมาพูดถึงความรักอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คำว่ากล่าวรุนแรงของท่านอ่อนโยนลง เพราะเมื่อท่านได้กล่าวติเตียนพวกเขาว่า ไม่รักท่านเท่ากับท่านรักพวกเขา ตัดสัมพันธ์ความรักของท่าน ไปผูกพันกับคนที่ชอบก่อความยุ่งยาก ท่านยังทำให้คำติเตียนของท่านอ่อนลง โดยกล่าวว่า “จงเปิดใจของพวกท่านให้เรา” ซึ่งแปลว่า “จงรักเราเถิด” ท่านขอไมตรีจิตที่จะไม่เป็นภาระแก่พวกเขา แต่จะยังประโยชน์แก่ผู้ให้มากกว่าแก่ผู้รับ และท่านก็มิได้ใช้คำว่า “รัก” แต่พูดในเชิงขอร้องมากกว่า “จงเปิดใจของพวกท่านให้เรา”
ท่านว่าใครกำจัดเราออกจากความคิดของท่าน ใครผลักไสเราออกจากใจท่าน? ทำไมท่านจึงรู้สึกคับใจกับเรา? ในเมื่อท่านได้กล่าวไว้ก่อนแล้วว่า “ท่านถูกจำกัดอยู่ในความรักตนเอง” บัดนี้ ท่านแสดงตนอย่างเปิดเผยยิ่งกว่าและกล่าวว่า “จงเปิดใจของพวกท่านให้เรา” ดังนี้ ท่านจึงชักนำเขามายังท่าน เพราะไม่มีสิ่งใดชนะความรักได้ดีกว่า ที่จะรู้ว่าคนรักของตนปรารถนาความรักมากกว่าสิ่งอื่นใด
ท่านให้ข้อสังเกตว่า “ข้าพเจ้าได้บอกไว้แล้ว ท่านอยู่ในใจเรา เพื่อจะได้ตายหรือเจริญชีวิตร่วมกัน” นี่แหละคือความรักสุดยอด แม้ในเวลาที่มิได้รับความชอบพอ ท่านก็ยังปรารถนาที่จะตายและมีชีวิตร่วมกับพวกเขา เพราะพวกท่านอยู่ในใจเรา ไม่ใช่ทำนองใดทำนองหนึ่ง แต่ในทำนองที่ข้าพเจ้าได้พูดไว้ เป็นไปได้ที่จะรัก แต่ก็ยังถอนตัวออกเมื่อมีภัยคุกคาม แต่ความรักของข้าพเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น
“ข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมด้วยความบรรเทาใจ” ความบรรเทาใจชนิดไหน? ความบรรเทาใจที่มาจากท่าน เพราะท่านได้กลับใจแล้ว สิ่งที่ท่านได้กระทำไปนั้นได้บรรเทาใจข้าพเจ้า เป็นธรรมดาที่คนรักมักจะคร่ำครวญว่า ตนมิได้รับความรักตอบ ทั้งกลัวที่จะก่อให้เกิดความเสียใจ เพราะได้คร่ำครวญมากไป ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมด้วยความบรรเทาใจ ข้าพเจ้าปีติยินดีอย่างล้นเหลือ”
ประหนึ่งท่านกล่าวว่าข้าพเจ้าเศร้าใจมากเพราะพวกท่าน แต่ท่านก็ได้ชดใช้ให้ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่แล้วและได้ให้กำลังใจข้าพเจ้า เพราะพวกท่านมิใช่แต่ยกเอาเหตุแห่งความเศร้าเสียใจของข้าพเจ้าไปเสียเท่านั้น แต่ยังทำให้ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความยินดีมากมายกว่าด้วย
ท่านจึงแสดงความยินดียิ่งใหญ่นี้ มิใช่โดยเพียงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปีติยินดีอย่างล้นเหลือ” แต่ยังกล่าวต่อไปว่า “ในความยุ่งยากทั้งมวลของข้าพเจ้า” ท่านว่าความปีติยินดีที่พวกท่านให้ข้าพเจ้านั้นใหญ่หลวง จนแม้ความยุ่งยากมากมายก็ไม่สามารถทำให้ลดน้อยลงได้ แต่มีชัยต่อความเศร้าเสียใจ ที่ร้าวรานใจข้าพเจ้า อาศัยพลังอันแรงกล้า จนข้าพเจ้าไม่รู้สึกความยุ่งยากนั้นเลย
โอกาสใกล้ฉลองวัดของเรา โอกาสเราทบทวนความเชื่อชุมชนอัสสัมชัญ แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ แต่เรารู้หรือไม่ว่า พวกเราคาทอลิกเชื่อว่า พระแม่มารีอา คือ
พระมารดาขององค์พระคริสต์ ปฏิสนธิอันนิรมลด้วยอานุภาพแห่งองค์พระเจ้า พระนางได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ พระนางเป็นคนกลางแจกจ่ายพระหรรษทานทุกประการ
คริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก มีความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารี หรือคริสตชนเรียกว่า “แม่พระ” คำว่า “แม่พระ” เป็นคำที่ยกย่องพระนางมารีอามาตั้งแต่สมัยศตวรรษแรกๆ
บรรดาคริสตชนถึงกับถวายพระนามว่า “มารดาพระเจ้า” (Mater Dei) นักเทววิทยาได้อธิบาย และอ้างข้อความในพระคัมภีร์ สนับสนุนข้อความเชื่อนี้ และข้อความเชื่ออื่นๆอีกหลายประการเกี่ยวกับพระนางมารีอา เช่น
“แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” เป็นความเชื่อว่าเมื่อพระนางมารีอาสิ้นใจ ได้รับเกียรติ
จากพระเป็นเจ้าให้ออกจากโลกนี้พร้อมทั้งร่างกายและวิญญาณไปสู่สวรรค์ คริสตชนยุคแรกๆ เชื่อกันมาดังนี้เป็นเวลายาวนาน.. ก่อนที่พระสันตะปาปาจะประกาศเป็นข้อความเชื่อที่คริสตชนต้องเชื่อเสียอีก
แต่ที่คริสตชนมีความศรัทธาภักดีต่อแม่พระ ก็เนื่องจากชีวิตและฤทธิ์กุศลความดีงามต่างๆในชีวิตของพระนาง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในการดำเนินชีวิตคริสตชน ฤทธิ์กุศลที่สำคัญในชีวิตแม่พระคือ
ความบริสุทธิ์ หมายถึงพระนางมารีอาบังเกิดมาไม่มีบาปกำเนิด และยังดำเนินชีวิตถือพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างครบถ้วน ไม่กระทำบาป อีกทั้งได้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าตั้งแต่ยังเด็ก โดยตั้งใจว่าจะถือพรหมจรรย์ แต่พระเป็นเจ้าก็ทรงมีแผนการโดยการใช้ให้เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่แม่พระว่า พระนางจะตั้งครรภ์และกำเนิดบุตรชาย และให้ตั้งชื่อว่า “เยซู” พระนางมารีอาถามว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะพระนางยังเป็นพรหมจารีอยู่ เทวดาตอบว่าการตั้งครรภ์นั้นมิได้เกิดตามธรรมชาติฝ่ายเนื้อหนัง แต่เกิดจากฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าเด็กที่เกิดมาจะเป็นพระผู้ไถ่โลกพระนางมารีจึงตอบว่า
“ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้าตามวาทะของท่าน”(ลก. 1:38)แล้วนั้นพระวจนาตถ์ก็ทรงรับเอากาย และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา (ยน. 1:14)
ความสุภาพนอบน้อมเชื่อฟัง
พระนางมารีอามีความสุภาพนอบน้อมเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า อันเป็นฤทธิ์กุศลที่บรรดาคริสตชนพึงมี ระเยซูเจ้าสอนเราให้แสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าก่อนอื่นใดแล้วที่เหลือพระเป็นเจ้าจะแถมให้แก่เราเอง หมายถึงจัดการทุกสิ่งทุกอย่างแก่เราเอง คริสตชนยินดีรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความนอบน้อมราบเรียบด้วยความไว้วางใจในพระเป็นเจ้า
ความรัก
การยินดีเสียสละน้ำใจตนเอง เพื่อรับน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เพราะรักพระของพระนางมารีอา เป็นตัวอย่างในเรื่องการเลือกเอาพระเป็นเจ้ามาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิตคริสตชน เพราะรักพระเป็นเจ้า พระนางจึงยอมรับทุกอย่าง เพื่อให้สำเร็จตามแผนการณ์ไถ่บาปมนุษย์ของพระเป็นเจ้า คริสตชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกอบกู้มนุษยชาติให้กลับมาเป็นลูกของพระ
จากประสบการณ์ จากธรรมประเพณี จากพระคัมภีร์ อำนาจของพระศาสนจักรได้ประกาศข้อความเชื่อเกี่ยวกับพระนางมารีย์ มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน
1.พระนางมารีย์ เป็นพระมารดาพระเจ้า (โดยสภาพระสังคายนาแห่งเมืองเอเฟซัส ปี 431)
2.พระนางมารีย์ เป็นพรหมจารีเสมอ (โดยสภาพระสังคายนาแห่งลาเตรัน ปี 649)
3.พระนางมารีย์ เป็นผู้ปฏิสนธินิรมล (โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 / 8 ธันวาคม 1854)
4.พระนางมารีย์ ได้รับเกียรติสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ (โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 / 1 พฤศจิกายน 1950)…