ข้อคิดอาทิตย์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา ปี B
มก 7: 1-8. 14-15. 21-23…ท่านทั้งหลายละเลยบทบัญญัติของพระเจ้า กลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์…สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละ ทำให้เขามีมลทิน… จากภายในคือจากใจมนุษย์นั้น เป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย…
เหตุผลประการแรกที่ทำไมเราจึงมาร่วมชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ก็เพื่อกราบไหว้นมัสการพระเจ้า…และพระเยซูจ้าได้ทรงพูดถึงชาวฟาริสีว่า “คนพวกนี้ให้เกียรติเราด้วยปาก แต่ว่าหัวใจของพวกเขาอยู่ห่างไกลจากเรา”…ดังนั้น การกราบไหว้นมัสการของพวกเขาจึงเป็นอะไรที่ว่างเปล่า ไม่มีคุณค่า…ดังนั้นเราควรจะต้องกราบไหว้นมัสการพระเจ้าอย่างสมพระเกียรติด้วยจิตวิญญาณและในความจริง อันจะเป็นการช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราด้วย…
ข้อคิด…ด้วยการยกตัวอย่างประเพณีบางอย่างของชนชาวยิว เช่นการล้างมือก่อนมื้ออาหาร การล้างถ้วยชามและภาชนะอื่นๆ พระเยซูเจ้าได้ถือโอกาสนี้ สอนความจริงอีกประการหนึ่งที่สูงส่งกว่า คือเรื่องของความใสสะอาดภายในของจิตวิญญาณซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและในสังคมมนุษย์ แน่นอนความสะอาดทางด้านภายนอก ก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่ว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่า คือความใสสะอาดความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสวดมนต์ภาวนาและการกราบไหว้นมัสการพระเจ้าและการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ
โดยทั่วๆไปตามที่เรารับรู้ในสังคมมนุษย์…ในการให้การศึกษาอบรม เรามักจะให้ความสำคัญแก่ “หัวสมอง” มากกว่า “หัวใจ” เพราะเราอยากให้ตัวเราและลูกๆหลานๆของเรา เป็นเด็ก “ฉลาด” มากกว่าเป็นเด็ก “ดี” และโลกของธุรกิจและการเมืองก็ให้รางวัล “ความฉลาด” มากกว่า “ความดี” แต่ถึงกระนั้นเวลาที่เราคุยกัน เราก็รับรู้ว่าเรื่องของ “หัวใจ” ต้องมาก่อนอย่างอื่น
เรามักจะตัดสินผู้อื่นโดยใช้ “หัวใจ” และสิ่งที่เรามักจะต่อว่าคนอื่น ก็คือกล่าวตำหนิเขาว่า “เป็นคนไม่มีหัวใจ” หรือ “เป็นคนใจเย็นชา” หรือ “เป็นคนใจแข็ง” แต่ว่าในทางกลับกัน สิ่งดีๆที่เรามักจะเอ๋ยถึงคนอื่น ก็คือ “เขาเป็นคนมีหัวใจ” หรือ “เขาเป็นคนมีหัวใจที่อบอุ่นและเป็นกันเอง” หรือ “เขาเป็นคนมีใจอ่อนโยน” ฯลฯ
เราตัดสินลำดับขั้นของการอุทิศตนให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งของคนใดคนหนึ่ง ก็ในเรื่องของ “หัวใจ” เช่นเรามักจะพูดว่า “ใจของเขาไม่ได้อยู่ที่งาน” หรือ “เขาให้ใจเพียงครึ่งเดียว” ซึ่งในกรณีนี้ พอเขาทำงานไป เขาอาจจะเลิกล้มได้เสียกลางคัน หรือแม้เขาอาจจะทำงานนั้นต่อ แต่เขาก็มิได้ทุ่มเทให้กับงานนั้นๆอย่างเต็มที่และอย่างดีที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับคนที่ “ทุ่มเทจนหมดหัวใจให้กับงานนั้นๆ” ดังนั้น เขามิใช่เพียงแต่ทำงานนั้นๆให้เสร็จเท่านั้น แต่ยังทุ่มเทให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองมี ให้กับงานนั้นๆอีกด้วย
ที่จริงเราสามารถยกตัวอย่างได้มากมายเกี่ยวกับเรื่องของหัวใจ อย่างไรก็ตามให้เราสรุปเรื่องของหัวใจด้วยตัวอย่างสองตัวอย่างจากพระวรสาร
ตัวอย่างแรกซึ่งพูดถึงเรื่องของการกราบไหว้นมัสการ สิ่งที่น่าตำหนิมากที่สุดเมื่อพูดถึงการกราบไหว้นมัสการของศาสนิกชนไม่ว่าจะเป็นของศาสนาใดก็ตาม ก็คือการที่ “หัวใจ” หรือ “ใจ” ของผู้กราบไหว้นมัสการมิได้อยู่ในพฤติกรรมนั้นๆ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะเป็นพิธีกรรมด้วยปากหรือลิ้นเท่านั้นซึ่งเหมือนกับพฤติกรรมของชาวฟาริสีซึ่งสรรเสริญพระเจ้าแต่ปาก ตรงข้าม พิธีกรรมที่ดีที่สุด ก็คือเป็นพิธีกรรมที่ออกมาจากหัวใจนั่นเอง
ตัวอย่างที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับความดีและความไม่ดี…หัวใจที่ชั่วร้ายและไม่ใสสะอาด เป็นรูปแบบที่เลวร้ายแบบสุดๆ…ส่วนหัวใจที่ซื่อใสสะอาดบริสุทธิ์ ก็เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของความดี
พระเยซูเจ้าได้ให้ค่านิยมอย่างมากๆเกี่ยวกับเรื่องของ “หัวใจ” และเราสามารถเห็นได้ว่า “ทำไม?”…เพราะ “หัวใจ” เป็นแหล่งที่มาของความคิด คำพูดและพฤติกรรมต่างๆ ถ้าหาก “หัวใจ” สะอาด อะไรต่างๆที่ออกมาจาก “หัวใจ” ก็จะใสสะอาดไปด้วย เหมือนกับน้ำที่ไหลมาจากต้นธารที่ใสสะอาด…แต่ว่าชาวฟาริสีได้ให้ความสนใจในเรื่องของภายนอกมากกว่าเรื่องของภายใน เช่นพวกเขารู้สึกวุ่นวายกับการล้างมือมากกว่าการชำระหัวใจให้สะอาด เราต้องอย่างลืมว่า “ภายนอก” สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ “ภายใน”
เราจึงต้องแสวงหาความใสสะอาดของ “หัวใจ” เพราะ “หัวใจ” ที่เปี่ยมด้วยความรัก ก็จะเป็น “หัวใจ” ที่บริสุทธิ์และเป็นหัวใจที่มี “สุขภาพดี”
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์