ข้อคิดอาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา ปี B
มก 9: 30-37…ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆเช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา…ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้ายและเป็นผู้รับใช้ของทุกๆคน…
ในฐานะที่เป็นคริสตชน ขอให้เราทุกคนถูกได้ใช้ชีวิตอย่างสันติและอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนพี่น้อง อย่าให้มีการแก่งแย่งชิงดีกัน แต่ให้รับใช้ซึ่งกันและกัน…สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้ ก็คือความทะเยอทะยานที่ผิดๆและไม่ถูกต้องสมควร ดังนั้นให้เราวอนขอองค์พระเยซูเจ้า โปรดอภัยความผิดบาปต่างๆของเราและโปรดช่วยเราให้ใช้ชีวิตตามค่านิยมแห่งพระวรสารของพระองค์…
ข้อคิด…บทอ่านที่หนึ่ง (ปชญ 2: 12. 17-20) กล่าวถึง ”ผู้ชอบธรรม” ซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือของคนชั่ว แต่ว่ายอมรับใช้ความถูกต้องและยอมทนทุกข์ยากลำบากเพราะความชอบธรรม…“ผู้ชอบธรรม” คือผู้ที่มีความเชื่อศรัทธาในองค์พระเจ้าและนอบน้อมปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์…ในธรรมประเพณีของคริสตศาสนาซึ่งมองดูข้อความดังกล่าวนี้ว่าเป็นบทนำของความเป็นอริศัตรูจากผู้นำทางศาสนาของชนชาวยิวที่องค์พระเยซูเจ้าต้องสู้ทนรับแบกไว้ พระองค์ทรงเป็น “ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” ชั้นเลิศ…บทอ่านจากหนังสือปรีชาญาณนี้นำเสนอเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับพระวรสารและกับบทอ่านที่สองจากจดหมายของนักบุญยากอบที่บอกว่า “ที่ใดมีความอิจฉาริษยาและความทะเยอทะยาน ที่นั่นย่อมมีแต่ความวุ่นวายและความชั่วร้ายนานาชนิด…” (ยก 3: 16-4: 3)
ในพระวรสาร…พระเยซูเจ้าได้ทรงทำนายถึงพระทรมานของพระองค์เป็นครั้งที่สอง และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกอัครสาวกไม่เข้าใจ ตรงข้าม เนื่องจากพวกเขาถูกขับเคลื่อนจากความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัว พวกเขากลับถกเถียงกันว่าใครแต่ในพวกเขา จะเป็นคนใหญ่สุด ความทะเยอทะยานแบบนี้จะถูกพระเยซูเจ้าและนักบุญยากอบตำหนิเอา
มิใช่ความทะเยอทะยานในตัวของมันเองที่ถูกสาปแช่ง แต่เป็นความทะเยอทะยานในทางที่ผิดที่ทำเพื่อตัวเองต่างหาก…ความทะเยอทะยานในทางที่ผิดเป็นความทะเยอทะยานที่ต้องการมีอำนาจและเป็นใหญ่เหนือคนอื่น ความทะเยอทะยานแบบนี้ที่สร้างควาขัดแย้งและความแตกแยก และเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งที่จะทำลายเอกภาพของหมู่คณะ ตรงข้าม ความทะเยอทะยานในทางที่ถูกต้องและตรงไปตรงมา เป็นความต้องการที่จะรับใช้คนอื่น และการรับใช้แบบที่ดีที่สุดและโปร่งใส ก็คือการรับใช้คนยากจน คนที่น่าสงสาร คนที่ด้อยโอกาส คนที่สังคมไม่เหลียวแล คนที่ไม่สามารถให้อะไรเป็นการตอบแทนได้ ฯลฯ
การเป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน มิใช่เป็นสิ่งผิด…ตรงข้ามกลับเป็นสิ่งที่ดีที่ในชีวิตของแต่ละคน…การเป็นคนมีความทะเยอทะยาน จะทำให้เรามีเป้าหมายในชีวิต มีความต้องการที่จะเป็นคนดี และมีความพยายามที่จะบรรลุให้ถึง แต่เราก็ควรจะต้องระมัดระวังมิให้เราต้องยอมสละสิ่งอื่นๆที่มีค่านิยมสูงส่งกว่า เช่น ชีวิตครอบครัว ความชอบธรรม ความมีใจโอบอ้อมอารี ฯลฯ เพื่อความสำเร็จของความทะเยอทะยานนั้น
ความทะเยอทะยานในทางที่ผิดอันเป็นพลังขับเคลื่อนในชีวิตของเรานั้น สามารถเป็นสาเหตุให้เราปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างโหดร้ายหรืออย่างอยุติธรรม…เพราะ “มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่จะได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต”
ในพระวรสาร เราเห็นพวกอัครสาวกกำลังถกเถียงแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อจะได้เป็นที่หนึ่งในพระอาณาจักรสวรรค์ ภาพที่ว่านี้มิได้เป็นภาพที่สร้างสรรค์เลย เพราะว่าพวกเขากำลังถูกขับเคลื่อนจากความเห็นแก่ตัวและความทะเยอทะยานในทางที่ผิดอันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้จากองค์พระเยซูเจ้าช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน พวกเขายังแทบไม่ได้เข้าใจถึงพันธกิจที่พวกเขาต้องกระทำหลังจากที่พระองค์จะไม่ได้อยู่กับพวกเขา พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกพวกเขาให้เข้ามาพร้อมหน้าพร้อมตากันพลางให้บทเรียนถึงความหมายของความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง
พระเยซูเจ้ามิได้ทรงลบล้างความทะเยอทะยาน แต่พระองค์ได้ทรงปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นความทะเยอทะยานที่จะเข้ามาแทนที่ความอยากที่จะเป็นเจ้านายมีอำนาจเหนือคนอื่น ให้กลับกลายเป็นความทะเยอทะยานที่คอยรับใช้ผู้อื่น
ความทะเยอทะยานในทางที่ผิดเกิดจากความอิจฉาริษยาและความเห็นแก่ตัวที่สามารถก่อให้เกิดความชั่วร้ายอย่างอื่นๆอีกมากมาย เช่นการใช้ความรุนแรง การคิดที่จะทำร้ายและทำลายผู้อื่น ฯลฯ
พระเยซูเจ้ามิได้บอกพวกอัครสาวกว่าไม่ให้มีความทะเยอทะยาน แต่พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นว่าความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนั้นสามารถพบได้ที่ไหน มิใช่อยู่ที่การเป็นนายเหนือคนอื่น แต่อยู่ที่เป็นผู้รับใช้เพื่อนพี่น้องต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับใช้เพื่อนพี่น้องที่น่าสงสาร ที่ด้อยโอกาสของสังคมหมู่คณะ
เป็นการง่ายกว่าที่จะรับใช้คนใหญ่คนโต เพราะเรารู้สึกว่าเราได้รับเกียรติจากการที่เราคบหาสมาคมกับคนเหล่านั้น ทั้งมีโอกาสที่ดีกว่าที่จะได้รับรางวัลตอบแทน แต่ว่าการทดสอบที่แท้จริงจะอยู่ที่การรับใช้คนที่ต่ำต้อยที่สุด เพราะเราไม่สามารถที่จะได้รับการตอบแทนจากคนพวกนี้ พระเยซูเจ้าเองได้ทรงกล่าวไว้ว่า “ใครก็ตามที่ต้อนรับเด็กเล็กๆเช่นนี้ ก็เท่ากับต้อนรับเรา” คำว่า “ต้อนรับ” ในที่นี้ก็คือ “การรับใช้” นั่นเอง และคำว่า “เด็กเล็กๆ” ก็คือ “เพื่อนพี่น้องที่อ่อนแอที่สุดของสังคมหมู่คณะซึ่งเป็นผู้ที่มีความต้องการมากที่สุด” ดังนั้นการรับใช้ที่เราให้กับคนที่น่าสงสารมากที่สุด จึงเป็นการรับใช้ที่ดีที่สุด และพระเยซูเจ้าเองได้ทรงวางแบบอย่างให้แก่พวกเราในเรื่องนี้ แม้ว่าพระองค์จะได้รับอำนาจอาชญาสิทธิ์จากพระเจ้าที่จะมีอำนาจเหนือบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลาย ตรงข้าม พระองค์กลับใช้อำนาจนั้นในการรับใช้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนน่าสงสาร คนป่วย คนด้อยโอกาส ฯลฯ
เราจะได้ยินคำกล่าวเช่นนี้ขององค์พระเยซูเจ้าในภาพของการพิพากสุดท้ายว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่าท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25: 40)
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์