บทอ่านจากคำแนะนำในการอภิบาล โดยนักบุญเกรโกรี ผู้ยิ่งใหญ่ พระสันตะปาปา
ผู้แนะนำฝ่ายวิญญาณควรนั่งเมื่อต้องนิ่ง และควรพูดเมื่อมีประโยชน์
ผู้แนะนำวิญญาณควรนิ่งเมื่อต้องนิ่ง และควรพูดเมื่อมีประโยชน์ มิฉะนั้น เขาอาจพูดเมื่อต้องนิ่ง และนิ่งเมื่อต้องพูด คำพูดพร้ำเพรื่ออาจนำผู้อื่นไปสู่ความหลง และการนิ่งที่ไม่รอบคอบอาจทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับคำสั่งสอนเข้าใจผิด ชุมพาบาลผู้ขาดการมองไกลย่อมไม่กล้าพูดสิ่งที่ถูกต้องอย่างเปิดเผย เพราะกลัวเสียความดีความชอบต่อเพื่อนมนุษย์ พูดตามความจริงแล้วก็ต้องว่าผู้นำชนิดนี้ไม่ใช่ชุมพาบาลใจร้อนรนที่ปกป้องฝูงชุมพาของตน เขาเป็นลูกจ้างมากกว่า เขาหนีหาที่หลบภัยในการนิ่ง เมื่อสุนัขป่าปรากฏตัว
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงติเตียนชุมพาบาล โดยทางประกาศกว่า “เขาเป็นสุนัขใบ้ เห่าไม่เป็น” อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงปรารภว่า “ท่านมิได้ก้าวออกไปสู้ศัตรูหรือตั้งกำแพงไว้หน้าบ้านของอิสราเอล เพื่อต่อสู้อย่างเหนียวแน่น ในการรบในวันของพระเจ้า” ก้าวออกไปสู้ศัตรู หมายถึงการต่อสู้อย่างห้าวหาญกับอำนาจของโลกเพื่อป้องกันฝูงชุมพา ต่อสู้อย่างเหนียวแน่นในการรบในวันของพระเจ้า หมายความว่าขัดขวางศัตรูร้าย เพราะความรักต่อสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อชุมพาบาลกลัวการยืนยันความจริง ก็เท่ากับว่าเขาหันหลังและหนีด้วยการนิ่งเงียบ ถ้าเขาเข้าขัดขวางเพราะเห็นแก่ฝูงชุมพา ก็เท่ากับว่าเขาตั้งกำแพงต่อสู้ศัตรูไว้หน้าบ้านอิสราเอล ฉะนั้น พระเป็นเจ้าจึงตรัสกับประชากรผู้หลงผิดว่า “บรรดาประกาศกของพวกเจ้า เห็นความเท็จและความบ้าอยู่กับพวกเจ้า เขามิได้ปริปากชี้ให้เห็นความชั่ว เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นทุกข์ถึงบาปและกลับใจ” คำว่าประกาศกนี้ ในพระคัมภีร์บางทีเรียกว่าอาจารย์ซึ่งชี้ให้เห็นสิ่งปัจจุบันที่ต้องหนี และไขแสดงสิ่งที่จะเป็นมา พระเป็นเจ้าทรงตำหนิติเตียนประกาศกเหล่านี้ เพราะเมื่อเห็นความเท็จแล้วไม่กล้าติเตียนความผิดของเขา และเช่นนี้ก็เท่ากับว่าให้กำลังใจคนทำผิด ด้วยคำสัญญาเลื่อนลอยว่า เขาปลอดภัย เพราะไม่กล้าติเตียน เขาจึงนิ่งเงียบและไม่ชี้ให้เห็นความผิดของคนบาป
คำติเตียนเป็นกุญแจเปิดประตู เพราะคำติเตียนแสดงความผิดซึ่งคนทำผิดบ่อยครั้งไม่ทันสังเกต ฉะนั้น นักบุญเปาโลจึงกล่าวถึงพระสังฆราชว่า “เขาต้องสามารถให้กำลังใจแก่มนุษย์ด้วยคำสอนที่ถูกต้อง และต้องโต้ตอบคนที่โต้แย้ง” ด้วยเหตุผลเดียวกัน พระเป็นเจ้าตรัสกับเรา โดยทางประกาศกมาลาคีว่า “ปากของพระสงฆ์ต้องรักษาความรู้ และมนุษย์จะคอยฟังกฎหมายจากปากของเขา เพราะเขาเป็นผู้นำข่าวของพระเจ้าจอมโยธา” ที่สุด ด้วยเหตุผลเดียวกัน พระเป็นเจ้าได้ทรงเตือนเราโดยประกาศกอิสยาห์ว่า “จงร้องอย่าหยุด จงส่งเสียงร้องให้กีกก้องอย่างแตร”
ทุกคนที่เข้ามารับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ต้องรับหน้าที่เทศน์สอนด้วยเสียงร้องประกาศของเขา เขาจะเดินนำหน้าผู้พิพากษาที่น่าเกรงขามซึ่งจะติดตามมา ถ้าเขาไม่รู้จักเทศน์สอน ผู้ประกาศใบ้เช่นนี้จะร้องประกาศด้วยเสียงอะไรเล่า? ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จมายังชุมพาบาลพวกแรกในรูปลิ้นไฟ เมื่อเขาเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า พระองค์ก็ทรงบันดาลให้เขาพูดได้ทันที
สารวัดตลอดเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม “สุข ทุกข์ ของพระแม่” (5/9)
ความสุขประการที่ 4 ของแม่พระ “การถวายพระกุมารในพระวิหาร” เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน ตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า (ลก. 2: 22) เป็นความสุขของผู้หญิงชาวยิวคนหนึ่งที่เมื่อได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกและได้ถวายแด่พระเจ้า คือการให้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของตนแก่พระเจ้า แม่พระมึความสุขที่ได้ให้ชีวิตแต่พระเจ้า พระนางมีความสุขที่ได้ให้ชีวิตครอบครัวแต่พระองค์ และพระนางมีความสุขอที่ได้ให้ชีวิตแด่ผู้อื่นในโลกและถึงพวกเราทุกคนด้วย
ในการรับศีลล้างบาปของคริสตชนก็เป็นการมอบถวายคืนชีวิตแด่พระเจ้าเช่นกัน ดังนั้นความสุขของเราคริสตชนคือในทุกๆวันเป็นการถวายตนเองแด่พระเจ้า การได้เป็นคนของพระเจ้ามอบตนเองแด่พระเจ้าและพระองค์ก็จะให้เราเป็นเครื่องมือของพระองค์ผ่านชีวิตของเรา ดังที่เราได้เห็นจากชีวิตของแม่พระที่ได้ให้ชีวิตแก่พระเจ้า แก่ทุกครอบครัว และแก่ทุกคนในโลกนี้
ในด้านความทุกข์ประการที่ 4 ของแม่พระ “พระมารดาพบพระเยซูเจ้าระหว่างทางสู่เนินเขากัลวาลิโอ” ประชาขนจำนวนมากตดตามพระองค์รวมทั้งสตรีกลุ่มหนึ่งซึ่งข้อนอกคร่ำครวญถึงพระองค์ (ลก. 2: 23-27) แม่พระเองเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางในพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า และในช่วงหนึ่งมีโอกาสได้พบกับพระเยซูเจ้าที่กำลังแบกไม้กางเขน ความเจ็บปวดของแม่พระประการนี้คือการต้องทนดูพระบุตรทรมานทั้งที่แม่พระอยากจะแบกรับเอาความเจ็บปวดนี้ไว้กับตนเองมากกว่า ในธรรมชาติของความเป็นแม่นั้นความรู้สึกของแม่คือไม่อยากให้ลูกต้องรับในความทุกข์ แม่พร้อมที่จะรับทุกสิ่ง เพื่อให้ลูกไม่ต้องบอบช้ำ ความเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นเพราะแม่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ได้ แต่ในความเจ็บปวดของแม่พระขณะเดียวกันกลับเป็นความบรรเทาใจของพระเยซูเจ้า
เหตุการณ์การเดินทางสู่เขากัลวารีโอเป็นธรรมล้ำลึก และในความเป็นคริสตชนความเจ็บปวดคือการที่เราเห็นความทุกข์ทรมานของเพื่อนพี่น้องในชีวิตประจำวัน ไม่มีคำใดสามารถอธิบายความเจ็บปวดในการพบกันตอนนี้ของแม่พระและพระเยซูเจ้าได้ บางครั้งการพบกันในความเจ็บปวดนั้นไม่ต้องการคำปลอบโยน ไม่ต้องการคำพูดใด แค่การอยู่ด้วย ณ ที่นั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญพอแล้ว เหตุการณ์นี้จึงเป็นการพบกันในความเจ็บปวด เห็นและพบหน้าบรรเทาใจกันโดยไม่ต้องมีคำพูดใด หลายครั้งที่เราไปเยี่ยมคนเจ็บป่วย สิ่งสำคัญคือการที่เราไปอยู่ต่อหน้าเขาโดยไม่ต้องมีคำพูดคำถามอะไรมากมาย เป็นการอยู่เพื่อเป็นความบรรเทาใจให้แก่กัน…