บทอ่านจากจดหมายถึงปรอบา โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
ให้เราออกกำลังภาวนาขอสิ่งที่เราต้องการ
ทำไมเมื่อเรากลัวว่า เราจะไม่ได้ภาวนาดังที่ควร เราจึงหันไปหาหลายๆสิ่ง เพื่อพบสิ่งที่เราควรจะขอ? ทำไมเราจึงไม่กล่าวตามคำในเพลงสดุดีว่า “สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าทูลขอพระเจ้า คือขอให้ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าตลอดวันเวลาชีวิตของข้าพเจ้า เพื่อจะได้ชมความงามของพระองค์ และพิจารณาพระวิสุทธิสถานของพระองค์” ณ ที่นั้นวันเวลาไม่มีการหมุนเวียน ไม่มีการจบสิ้น และชีวิต ดำเนินอยู่ในวันเหล่านั้นก็ไม่จบสิ้นเช่นกัน
เพื่อเราจะได้รับชีวิตบรมสุขนี้ องค์ชีวิตเองทรงสอนเราให้ภาวนา ไม่ใช่ด้วยคำพูดยืดยาว ประหนึ่งว่าการพูดยาวกว่าจะทำให้พระองค์สดับฟัง แท้จริง เราภาวนาขอต่อพระองค์ผู้ทรงทราบแล้วว่าเราต้องการสิ่งใดก่อนที่เราจะภาวนาขอเสียอีก ตามองค์พระผู้เป็นเจ้าเองตรัสแก่เรา
ทำไมพระองค์จึงทรงขอให้เราภาวนา เมื่อพระองค์ทรงทราบความต้องการขอ เราแล้วก่อนที่เราขอพระองค์ อาจจะทำให้เรางง ถ้าเราไม่เข้าใจว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้าของเราไม่ทรงมีพระประสงค์ที่จะทราบสิ่งที่เราต้องการ (เพราะพระองค์ทรงล่วงรู้อยู่แล้ว) แต่ทรงมีพระประสงค์ยิ่งกว่าอีก ที่จะให้เราออกกำลังภาวนาขอสิ่งที่เราต้องการ เพื่อว่าเราจะได้สามารถรับสิ่งที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้เรา สิ่งประทานของพระองค์ยิ่งใหญ่ แต่ความสามารถที่จะรับของเรานั้นน้อยและจำกัด ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสแก่เราว่า “จงทวีความปรารถนาของท่าน จงอย่าร่วมวงกับผู้ที่ไม่มีความเชื่อ”
ความเชื่อของเรายิ่งลึกซึ้งเพียงไร ความหวังของเราก็ยิ่งมั่นคงเพียงนั้น ความปรารถนาของเรายิ่งใหญ่เพียงไร ความสามารถที่จะรับของประทานนั้นซึ่งยิ่งใหญ่จริงๆ ก็ยิ่งจะมากขึ้นเพียงนั้น “ดวงตามองไม่เห็น” เพราะสิ่งนั้นไม่มีสี “หูฟังไม่ได้ยิน” เพราะสิ่งนั้นไม่มีเสียง “สิ่งนั้นไม่ได้เข้าในจิตใจมนุษย์” จิตใจมนุษย์ต่างหากต้องเข้าไปในสิ่งนั้น
ในความเชื่อ ความหวังและความรัก เราภาวนาเสมอด้วยความปรารถนาอัน มิรู้เหน็ดเหนื่อย อย่างไรก็ดี ตามเวลาและฤดูกาลที่เรากำหนดไว้ เราก็อธิษฐาน ภาวนาต่อพระเจ้าด้วยวาจา เพื่อว่าด้วยเครื่องหมายเหล่านี้ เราอาจเตือนตัวเองและ สังเกตการก้าวหน้าในความปรารถนาของเรา และกระตุ้นตัวเราเองให้หยั่งลึกในสิ่งนั้น ยิ่งความปรารถนาของเราร้อนรนเท่าไร ผลของความปรารถนาก็จะยิ่งเหมาะสมเท่านั้น เมื่อท่านอัครสาวกกล่าวแก่เราว่า “จงภาวนาโดยไม่หยุดหย่อน” ท่านหมายถึง ปรารถนาชีวิตบรมสุขนั้น โดยไม่หยุดหย่อน ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากนิรันดรภาพ และวอนขอต่อพระองค์ผู้เดียวผู้ทรงสามารถประทานชีวิตนั้นแก่เรา
สารวัดตลอดเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม “สุข ทุกข์ ของพระแม่” (7/9)
ความสุขประการที่ 6 ของแม่พระ “พระเยซูเจ้ากับพระมารดาแทบเชิงไม้กางเขน” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดากับศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของท่าน” (ยน. 19: 26) ณ เชิงกางเขนได้กลายเป็นความยินดีของแม่พระได้ เพราะเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของพระเยซูเจ้าที่แม่พระได้เก็บมารำพึงถึงอยู่ตลอดเวลาได้สำเร็จลง ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในเวลานี้นี่เอง บนไม้กางเขนนั้นคือความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าที่มีต่อมวลมนุษยชาติ ความสุขของแม่อาจเป็นความรักที่มีต่อลูกเพียงแค่คนเดียวแต่สำหรับพระเยซูเจ้า ความสุขของพระองค์คือความรักที่มีต่อมวลมนุษย์ทุกคน คือความรักที่มีบนไม้กางเขน เป็นเครื่องหมายความรักที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่เท่ากับการที่คนคนหนึ่งยอมตาย สละชีวิตของตนเอง และนี่คือสิ่งที่แม่พระได้มองเห็นบนไม้กางเขนที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึง กางเขนเป็นเครื่องหมายความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรา กางเขนของชาวยิวเป็นเครื่องหมายของฆาตรกร คนชั่ว คนที่ทำผิด
แต่สำหรับเราคริสตชนกางเขนเป็นเครื่องหมายของความรอด เป็นเครื่องหมายของความรัก เพราะผ่านไม้กางเขนนี้เองที่ทำให้เราได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท ศีลอภัยบาป ศีลสมรส ศีลเจิมคนป่วย ต่างก็หลั่งไหลออกมาจากไม้กางเขน เพราะ ณ ที่นี่คือความรักแท้ และความสุขของแม่พระยังคือการที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสมอบพระนางให้เป็นมารดาของมนุษยชาติ ไม่ใช่พระแม่ที่วอนขอ แต่เป็นลูกคือพระเยซูเจ้าที่ได้มอบให้พระนางเป็น ณ บนไม้กางเขนที่ซึ่งพระเยซูเจ้ากำลังแสดงออกถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ และบอกแม่พระว่าถ้าแม่รักลูก แม่ก็จะต้องรักทุกคนที่อยู่รอบข้างแม่ด้วย ตั้งแต่นั้นแม่พระจึงได้เป็นมารดาของมนุษย์ทุกคนด้วย
ในด้านความทุกข์ประการที่ 6 ของแม่พระ “พระมารดารับพระศพพระเยซูลงจากกางเขน” โยเซฟจากอาริมาเธียซึ่งเป็นสมาชิกสภาและเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นคนที่กำลังคอยแผ่นดินของพระเจ้า ไปหาปีลาตด้วยความกล้าหาญเพื่อขอพระศพของพระเยซู ปีลาตก็ประหลาดใจที่พระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว จึงเรียกนายร้อยมาถามว่า ตายแล้วหรือ เมื่อรู้เรื่องจากนายร้อยแล้ว ท่านจึงมอบพระศพให้แก่โยเซฟ แล้วโยเซฟก็ไปซื้อผ้าป่าน และอัญเชิญพระศพลงมา เอาผ้าป่านพันหุ้มไว้ แล้วอัญเชิญพระศพไปวางไว้ในอุโมงค์ซึ่งสกัดจากศิลา แล้วกลิ้งก้อนหินปิดปากอุโมงค์ไว้ (มก. 15: 43-46) แท้จริงแล้วบุคคลที่มีส่วนร่วมติดตามนับตั้งแต่หลังจากบรรดาสาวกได้หนีไปตั้งแต่ตอนที่พระเยซูเจ้าแบกกางเขนจนถูกตรึงสิ้นพระชนม์และนำพระศพลงมาฝังคือพระมารดานี่เอง ไม่มีความทุกข์ใดเท่าการพลัดพรากสูญเสียระหว่างแม่ลูก เป็นแม่พระได้อยู่เคียงข้างลูกตลอดเวลา
สำหรับเราคริสตชน พระมารดาผู้ระทมทุกข์ พระนางรับพระศพมาไว้ในอ้อมแขนอย่างทะนุถนอม แล้วโอบพระองค์ไว้แนบสนิทกับดวงใจอันปวดร้าวของพระนาง พ่อเชื่อว่าโลกทั้งใบคงขาวโพลน มีเพียงภาพพระเยซูเจ้าในออกกอดของพระนางที่ชัดแจ้ง ขอให้ร่วมใจพร้อมกับพระนาง ไม่ว่าหนทายากลำบากแทบเป็นสายเลือดเพียงใด แต่สายตา สายใจ กอดพระเยซูเจ้าไว้ตลอดลมหายใจของเรา ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากพระองค์ ข้าแต่พระเยซูองค์ความรัก โปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เสมอ เหมือนที่พระแม่รักพระองค์ แล้วจงทำกับข้าพเจ้าตามน้ำพระทัยเถิดเหมือนกับพระแม่ทรงเป็นแบบอย่าง….