บทอ่านจากธรรมนูญด้านการแพร่ธรรมเรื่องพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน ของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
การเสริมสร้างสันติภาพ
สันติภาพไม่ใช่เป็นเพียงภาวะปราศจากสงคราม หรือเป็นเพียงการจัดให้ปรปักษ์สองฝ่ายมีดุลภาพแห่งอำนาจ สันติภาพมิใช่เกิดจากการปกครองแบบบังคับกดขี่ แต่เรียกได้อย่างถูกต้องว่า สันติภาพเป็น “งานที่เกิดจากความยุติธรรม” เป็นผลที่เกิดจากระเบียบ ซึ่งพระผู้สร้างได้ทรงจารึกไว้ในสังคมมนุษย์ และซึ่งมนุษย์กระหายให้มีความยุติธรรมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจะต้องทำให้สำเร็จไป
แม้ประโยชน์ส่วนรวมของมนุษยชาติ ถูกกำหนดไว้โดยกฎนิรันดรตามความหมายเดิม แต่กฎเกณฑ์ก็เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดหย่อน ดังนั้น สันติภาพจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้มาครั้งหนึ่งแล้วก็คงอยู่ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเสริมสร้างตลอดไป นอกจากนั้นเนื่อง จากเจตจำนงของมนุษย์ไม่มั่นคง และอ่อนแอลงเพราะบาป ฉะนั้น ถ้าอยากให้มีสันติภาพ ทุกคนจะต้องควบคุมกิเลสตัณหาอยู่เป็นนิตย์ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องมีความระมัดระวังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
แต่เท่านี้ยังไม่พอ สันติภาพที่เรากล่าวถึงนั่นจะมีขึ้นในโลกไม่ได้ เว้นแต่คุณค่าของบุคคลจะได้รับความคุ้มครอง และมนุษย์จะต้องสมัครใจที่จะไว้วางใจกันและกัน พร้อมที่จะแบ่งปันทางจิตและความสามารถพิเศษให้แก่กันและกัน ความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะเคารพมนุษย์ และชนชาติอื่นๆ ตลอดจนศักดิ์ศรีของพวกเขา ความกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมภราดรภาพก็ดี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสร้างสรรค์สันติภาพ
สันติภาพ จึงเป็นผลของความรัก มากกว่าเป็นผลของความยุติธรรม สันติภาพในโลกที่เกิดจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั้น เป็นเครื่องหมายและเป็นผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้า ซึ่งมาจากพระเป็นเจ้าพระบิดา เพราะพระบุตรเองผู้เสด็จมา เกิดเป็นมนุษย์และทรงเป็นเจ้าชายแห่งสันติภาพนั้น ได้ทำให้มนุษย์ทุกคนกลับคืนดีกับพระเป็นเจ้า โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนไม้กางเขน เมื่อทำให้ทุกคนกลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเป็นประชากรและกายเดียวกัน พระองค์ได้ทรงทำลายความเกลียดให้สูญไปในเนื้อหนังของพระองค์เอง ทรงฟื้นฟูมนุษยชาติให้เป็นชนชาติเดียวและมีกายเดียว และเมื่อได้รับเกียรติรุ่งโรจน์ในการกลับคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ได้ทรงหลั่งพระจิตแห่งความรักลงในจิตใจมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ คริสตชนทุกคนจึงถูกเชื้อเชิญให้ “เจริญชีวิตตามความจริงด้วยความรัก” และให้ร่วมมือกับทุกคนที่ใฝ่สันติอย่างแท้จริง เพื่อภาวนาและทำงานเสริมสร้างสันติภาพขึ้น เนื่องจากมีจิตตารมณ์อย่างเดียวกัน เราอดไม่ได้ที่จะชมเชยบรรดาผู้ที่ประณามความรุนแรงในการปกป้องสิทธิ แล้วหันไปใช้วิธีการป้องกันตัวแบบอื่น ซึ่งแม้แต่ผู้มีกำลังน้อยก็ใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าการทำเช่นนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นหรือของประชาคมอื่น
สารวัดตลอดเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม “สุข ทุกข์ ของพระแม่” (9/9)
พี่น้องที่รัก อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมแล้ว เราได้รำพึงความสุข ความทุกข์ของแม่พระ ได้เรียนรู้ ได้เลียนแบบอย่างพระแม่ พ่อขอให้วันนี้เราคริสตชนได้ยกถวายให้กับแม่พระเป็นพิเศษ ถึงแม้จะมีเหตุการณ์โรคภัยที่เกิดขึ้นจนเกิดวิกฤต เกิดความหวาดกลัวของประชาชนชาวไทยหลายต่อหลายครอบครัวในหลาย ๆ จังหวัดได้รับความเดือนร้อนมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีเรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้น คือ น้ำใจแห่งการแบ่งปัน การช่วยเหลือกันที่มีอย่างไม่ขาดสาย นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะช่วยด้านวัตถุสิ่งของไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้คือ “คำภาวนา” ในวิกฤตก ในยามยากลำบาก สิ่งที่เป็นอาวุธ สิ่งที่เป็นหลัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เราทุกครั้งที่สวดภาวนา ให้เราได้คิดถึงคนอื่น ๆ บ้าง ไม่ใช่อะไรก็สวดขอให้กับตนเอง นั่นไม่ใช่การสวดภาวนาที่แท้จริงในการสวดภาวนานั้น มีจุดประสงค์ของการสวดภาวนา 4 ประการด้วยกัน คือ 1) สรรเสริญ 2) วอนขอ 3) ขอบคุณ และ 4) ขอโทษ ในการภาวนาแต่ละวัน เราคริสตชนควรที่ภาวนาให้ครบทั้ง 4 แบบ ไม่ใช่เพียงวอนขออย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่เคยขอบคุณเมื่อได้รับตามที่วอนขอเลย หรือแม้แต่เมื่อเราทำผิด ไม่จำเป็นต้องรอมาขอโทษพระโอกาสที่มารับศีลอภัยบาปเท่านั้น แต่เราสามารถสวดขอโทษพระองค์ได้เสมอและควรทำทุกวันก่อนเราจะเข้านอน ซึ่งนอกจากเราจะได้ขอโทษพระองค์แล้ว เรายังได้มีโอกาสไตร่ตรองการกระทำของตนเองในแต่ละวันด้วย เพื่อเราจะได้เริ่มต้นวันต่อไปด้วยความตั้งใจใหม่ ๆ เสมอ
ดูความสุข ความทุกข์แม่พระที่ประสบความสุข 7 ประการของแม่ 1. พระทูตสวรรค์แจ้งข่าวการบังเกิดของพระเยซูเจ้า 2. การประสูติของพระเยซูเจ้า 3 พระเยซูเจ้าทรงเจริญวัยที่เมืองนาซาเร็ธ 4 การถวายพระกุมารในพระวิหาร 5. งานสมรสที่หมู่บ้านคานา 6. พระเยซูเจ้ากับพระมารดาแทบเชิงไม้กางเขน 7. พระคูหาว่างเปล่า
ความทุกข์7 ประการของแม่พระ 1. คำพยากรณ์ของท่านซีเมโอน 2. พาพระกุมารหนีไปอิยิปต์ 3. พระเยซูเจ้าทรงหายไปในพระวิหาร 4.พระมารดาพบพระเยซูเจ้าระหว่างทางสู่เนินเขากัลวาลิโอ 5.พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน 6.พระมารดารับพระศพพระเยซูลงจากกางเขน และ7. ฝังพระศพพระเยซูเจ้า
ในหนังสือปรีชาญาณบอกกับเราว่า “พระองค์ทรงพระเมตตาต่อทุกคน เพราะพระองค์ทรงกระทำได้ทุกอย่าง ทรงมองข้ามบาปของมนุษย์….” (ปชญ 11:23) นี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ พร้อมจะอภัยเสมอเมื่อเขากลับใจ สิ่งนี้สะท้อนอย่างชัดเจนในพระวรสารวันนี้ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเสด็จไปพักที่บ้านของศักเคียส หัวหน้าคนเก็บภาษี ซึ่งชาวฟาริสีและชาวยิวถือว่าเขาเป็นคนบาป แต่พระเมตตาและการให้อภัยที่พระเยซูเจ้าหยิบยื่นให้ และการเปิดใจตอบรับความรักนี้เอง ทำให้ศักเคียสเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่ จะเห็นว่าโอกาสที่พระเจ้าทรงมอบให้มนุษย์นั้นมีอยู่เสมอ เพียงแต่เราต้องร่วมมือกับพระองค์ด้วยความสำนึกในความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราด้วย
อยากจะบอกกับพี่น้องว่า เราคิดว่า “สุข” มันก็สุข เราคิดว่า “ทุกข์” มันก็ทุกข์ เรามีมากแค่ไหนแค่คิดว่าขาด ไม่พอ บกพร่อง มันก็ “ทุกข์” อีกด้านหนึ่งถ้าเรามีน้อยแค่ไหน คิดว่าเหลือก มันก็ “สุข” จะสุข จะทุกข์ของชีวิตอยู่มุมมอง มองด้านไหน ก็เห็นเป็นด้านนั้น