วันอาทิตย์ 14 พฤศจิกายน 2021
บทอ่านจากคำบรรยายเพลงสดุดี โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
เราอย่าได้ขัดขวางการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องกลัวการเสด็จมาครั้งที่สอง
“บรรดาต้นไม้ในป่าจะยินดีปรีดาเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า เพราะพระองค์ เสด็จมาพิพากษาโลก” พระองค์ได้เสด็จมาแล้วครั้งแรก และพระองค์จะเสด็จมาอีก ในการเสด็จมาครั้งแรก พระองค์เองได้ทรงประกาศในพระวรสารว่า “ภายหน้าท่านจะเห็น บุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาเหนือเมฆ” ภายหน้า นี้พระองค์ทรงหมายถึงอะไร? พระองค์ มิได้ทรงหมายถึงว่าพระองค์จะเสด็จมาในอนาคต เมื่อทุกๆ ชาติในโลกจะข้อนอกด้วยความทุกข์ระทมหรือ? ก่อนนั้นพระองค์ได้เสด็จมา โดยทางผู้ประกาศพระวาจาของพระองค์ทั่วโลก เราอย่าได้ขัดขวางการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ เพื่อเราจะได้ไม่ ต้องกลัวการเสด็จมาครั้งที่สอง
คริสตชนจึงควรทำอย่างไร? เขาควรใช้โลกให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่เป็นทาสของโลก วาจานี้หมายความว่ากระไร? หมายความว่า มีก็เหมือนไม่มี ท่านอัครสาวก กล่าวไว้ดังนี้ “พี่น้องทั้งหลาย เวลาที่กำหนดไว้นั้นสั้นมาก นับแต่นี้ไปขอให้ผู้ที่มีภรรยาเจริญชีวิตเหมือนไม่มีภรรยา และให้ผู้ที่ทุกข์โศกเหมือนกับว่าไม่ทุกข์โศกเลย ให้ผู้ที่ยินดีเหมือนกับว่าไม่ยินดีเลย ให้ผู้ที่ซื้อเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลย ให้ผู้ที่ทำการติดต่อกับโลกเหมือนกับว่าเขาไม่ได้ติดต่อกันเลย เหตุว่า โลกที่เป็นอยู่นี้จะผ่านพ้นไป แต่ข้าพเจ้าอยากให้ท่านหมดกังวล” ผู้ที่ไม่มีกังวลย่อมคอยการเสด็จมาของพระเจ้าโดยปราศจากความกลัว เรารักพระคริสตเจ้าแบบไหนกัน จึงจะต้องกลัวพระองค์เสด็จมา? พี่น้องทั้งหลาย เราจะไม่ละอายหรือ ในเมื่อเรารักพระองค์ แล้วยังกลัวพระองค์เสด็จมา? เราแน่ใจหรือว่าเรารักพระองค์? หรือว่าเรารักบาปของเรามากกว่า? ดังนั้น ให้เราเกลียดบาปของเรา และรักพระองค์ผู้จะเสด็จมาลงโทษบาปของเรา เราอยากหรือไม่อยาก พระองค์ก็จะเสด็จมา อย่าได้คิดว่าเพราะพระองค์ไม่เสด็จมาเวลานี้ พระองค์ก็จะไม่เสด็จมาเลย พระองค์จะเสด็จมา ท่านไม่ทราบว่าเมื่อไร ขอแต่ให้พระองค์ทรงพบท่านเตรียมพร้อมอยู่ แม้ว่าท่านไม่รู้เวลาท่านก็ไม่เสียหายอะไร
“บรรดาต้นไม้ในป่าจะยินดีปรีดา” พระองค์ได้เสด็จมาครั้งแรกแล้ว และพระองค์จะเสด็จมาอีกเพื่อพิพากษาโลก พระองค์จะพบผู้ที่เชื่อว่าพระองค์จะเสด็จมานั้นกำลังชื่นชมยินดี ที่พระองค์เสด็จมา”
“พระองค์จะทรงพิพากษาโลกด้วยความเที่ยงธรรม และพิพากษาประชากรด้วยความจริงของพระองค์” ความเที่ยงธรรมและความจริงคืออะไร? คือพระองค์จะทรง รวบรวมผู้เลือกสรรของพระองค์ไว้ใกล้พระองค์เพื่อพิพากษา แต่คนอื่นๆ พระองค์จะทรงแยกไว้ต่างหาก เพราะพระองค์จะให้พวกหนึ่งอยู่ทางขวาและอีกพวกหนึ่งอยู่ทางซ้าย อะไรจะเที่ยงธรรมและจริงยิ่งไปกว่านี้ คือผู้ที่ไม่ยอมแสดงความเมตตาปรานีก่อนที่ผู้พิพากษาจะเสด็จมา จะหวังในพระกรุณาของพระองค์ไม่ได้ เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ที่ยินดีแสดงความเมตตาปรานี เขาก็จะถูกพิพากษาด้วยพระทัยเมตตาปรานี เพราะพระองค์จะตรัสแก่ผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า “มาเถิด ท่านที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา จงมารับอาณาจักรที่ได้เตรียมไว้สำหรับท่าน ตั้งแต่แรกสร้างโลก” แล้วพระองค์ทรงประกาศกิจเมตตาปรานีของเขาว่า “เพราะเมื่อเราหิวท่านได้ให้ เรารับประทาน เมื่อเรากระหายท่านก็ได้ให้เราดื่ม”
ผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายจะถูกกล่าวหาเรื่องอะไร? เพราะเขาไม่ยอมแสดงความเมตตาปรานี และพวกเขาจะไปไหน? “จงไปสู่ไฟนิรันดร” คำตัดสินลงโทษอันน่าสะพรึงกลัวนี้ จะทำให้พวกเขาคร่ำครวญ แต่เพลงสดุดีบทหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างไร? ผู้ชอบธรรมจะมีคนระลึกถึงเขาอยู่เป็นนิตย์ เขาจะไม่กลัวคำกล่าวร้าย” คำกล่าวร้ายคืออะไร? “จงไปสู่ไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้สำหรับมารและสมุนของมัน” ผู้ที่ชื่นชมเมื่อได้ยินคำกล่าวที่ดี จะไม่กลัวคำกล่าวร้าย นี่คือความเที่ยงธรรม นี่คือความจริง
หรือว่าเพราะท่านไม่ยุติธรรม ท่านจึงหวังให้ผู้พิพากษาท่านไม่ยุติธรรมด้วย? หรือว่าเพราะท่านเป็นคนมุสา องค์ความสัตย์จริงจะไม่ตรัสความจริงหรือ? ยิ่งกว่านั้น ถ้าท่านปรารถนาจะได้รับความเมตตากรุณา จงมีความเมตตากรุณา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมา จงอภัยแก่ผู้ที่ผิดต่อท่าน บริจาคสิ่งที่ท่านมีอย่างเหลือเฟือ สิ่งที่ท่านบริจาคนี้เป็นของใคร ถ้ามิใช่ของพระองค์? ถ้าท่านบริจาคสิ่งที่เป็นของท่านก็จะนับว่าท่านใจกว้าง แต่ในเมื่อท่านบริจาคสิ่งที่เป็นของพระองค์ก็เป็นแต่เพียงการชดใช้ “เพราะว่าท่านมีอะไรที่ท่านมิได้รับมาหรือ?” นี่แหละเป็นการเสียสละที่พอพระทัยพระเจ้ามากกว่า คือความเมตตากรุณา ความสุภาพ คำสรรเสริญ สันติสุขและความรัก ถ้าเรานำสิ่งเหล่านี้ขึ้นถวาย เราก็จะไม่กลัว แต่จะคอยการเสด็จมาขององค์ผู้พิพากษา “ผู้จะทรงตัดสินโลกและประชากรด้วยความเที่ยงธรรมและความจริงของพระองค์”
แบ่งปัน
เดือนพฤศจิกายน ยังคงเต็มเปลี่ยมด้วยกลิ่นไอที่เราคิดถึงกันและกัน คิดถึงผู้ล่วงหลับ ผู้ล่วงลับ และพ่อยังสังเกตเห็นบรรดาพี่น้องสัตบุรุษ จะเขียนของมิสซา และจะมีประโยชน์หนึ่งที่เห็นได้บ่อยมาก อุทิศแก่ดวงวิญญาณในไฟชำระ และวิญญาณที่ไม่มีใครคิดถึง เป็นการแสดงออกถึงการเรียนคำสอน การได้เรียนรู้ความเชื่อของคริสตชน เชื่อถึงชีวิตการกลับคืนชีพ
ซึ่งธรรมเนียมอุทิศแด่ผู้ล่วงลับแต่ละชาติ แต่ละศาสนา และวัฒนธรรม จะมีธรรมเนียมปฏิบัติอุทิศแก่บรรพบุรุษ หรือ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับแตกต่างกันไป ชาวพุธมีพิธี เผาศพ ชาวมุสลิม ชาวยิว ชาวคริสต์ มีการฝังศพเป็นการให้ความเคารพผู้ตายด้วย
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า “ผู้ใกล้จะตายควรได้รับความสนใจและเอาใจใส่เพื่อช่วยเหลือเขาให้ดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรี และมีสันติ พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือโดยการสวดภาวนาของญาติพี่น้อง ต้องเอาใจใส่ดูแลให้คนเจ็บป่วยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ในเวลาอันเหมาะสม เพื่อเตรียมให้เขาพบกับพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”
เมื่อคริสตชนล่วงลับ ร่างกายของเขาต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรัก และความเคารพ เพราะเราเชื่อและหวังในการกลับคืนชีพ ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมสอนว่า การฝังผู้ตายเป็นงานแห่งความเมตตา เป็นการให้เกียรติแก่บุตรของพระเจ้าผู้เป็นวิหารของพระจิต
ในรัชสมัยของแชลมาเนเสอร์ ข้าพเจ้าได้ให้ท่านแก่พี่น้องร่วมชาติของข้าพเจ้าบ่อยๆ ข้าพเจ้าเอาอาหารของข้าพเจ้าไปเลี้ยงผู้หิวโหยและเอาเสื้อผ้าของข้าพเจ้าไปให้แก่ผู้ที่ไม่มี เมื่อข้าพเจ้าเห็นร่างเพื่อนร่วมชาติที่ถูกฆ่าและโยนทิ้งนอกกำแพงนีนะเวห์ ข้าพเจ้าก็นำไปฝังเสีย หากกษัตริย์เซนนา เดอริบ ทรงประหารชีวิตผู้ที่หลบหนีมาจากยูเดีย ข้าพเจ้าก็นำไปฝังอย่างลับๆ เหตุว่า พระองค์ทรงประหารคนเป็นจำนวนมากในยามพิโรธ เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งให้แสวงหาศพของคนเหล่านั้นก็หาไม่พบ (โทบิต 1:16-18)
สำหรับการชันสูตรศพ เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้ทรงศีลธรรม เพื่อปฏิบัติตามการเรียกร้องทางกฎหมาย หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การมอบอุทิศอวัยวะให้หลังจากที่ตายแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นกุศล
พระศาสนจักรอนุญาตให้เผาศพได้ ถ้าการกระทำนั้นไม่ได้แสดงถึงการปฏิเสธต่อความเชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นมาของร่างกาย (คำสอนพระศาสนจักร 2299-2301;เทียบกฎหมายพระศาสนจักร 1176.3)
นักบุญโอติโล แห่งคลูนี ได้ริเริ่มการภาวนาอุทิศแด่วิญญาณในไฟชำระ (Purgatory) ประมาณปี 1000 ท่านสอนนักพรตเบเนดิกตินให้ถวายมิสซาและภาวนาแด่ผู้ล่วงลับ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน พระสันตะปาปาที่กรุงโรมทรงรับรองความคิดที่ดีนี้ และะเผยแพร่ไปทั่วพระศาสนจักร เราจึงมิได้ภาวนาได้ทุกวันตลอดปีเท่านั้น
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ในปี 1915 อนุญาตให้พระสงฆ์ถวายมิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับได้ 3 มิสซา ให้ผู้ที่เรารัก ผู้ล่วงลับได้รับความช่วยเหลือและพระเมตตา
กิจปฏิบัติหลักสำหรับอุิทิศแด่ผู้ล่วงลับ คือร่วมิสซา จึงมีธรรมเนียมในหลายประเทศ หลายวัดเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัวไปวัด นอกจากนี้ยังมีการสวดสายประคำ สวดทำวัตร และทำกิจการกุศลอุิทิศให้
โดยในสถานการณ์ปกติ การเยี่ยมสุสาน ตั้งแต่บ่ายวันที่ 1 พฤศจิกายน สมโภชนักบุญทั้งหลาย จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์มอบให้กับผู้ที่เราคิดถึง
1.ใครที่ไปเยี่ยมสุสานหรือ สวดภาวนาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ให้สวดบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า บทข้าแต่พระบิดา วันทามารีอา และภาวนาเพื่อวิญญาณในไฟชำระ จะได้รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์
2. ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ระลึกถึงวิญญาณในไฟชำระให้ไปเยี่ยมวัด หรือ วัดน้อย ด้วยความศรัทธา สวดบทข้าพเจ้าเชื่อ และ สวดบทข้าแต่พระบิดา ได้รับพระคุณการุณครบบริบูรณ์
ดังนั้น เราควรไปเยี่ยมสุสานที่หลุมฝังศพของผู้ที่เราเคารพรัก ทำความสะอาดหลุมศพ ประดับด้วยดอกไม้ และจุดเทียน บิดามารดา ครูคำสอน ควรสอนบุตรหลานและเด็กๆ ให้สวดอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เป็นพิเศษในโอกาสนี้
ที่มา : สารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ปีที่ 4 ฉบับที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2006