วันอาทิตย์นี้ พวกเรามีโอกาสร่วมแสดงความยินดีกับพระสงฆ์ใหม่ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา คุณพ่อใหม่ทั้ง 4 ท่านได้แก่ คุณพ่อยอห์นบอสโก รัฐพล งามอัชฌา คุณพ่อยอแซฟ ณัฐชัย อิ่มไพร คุณพ่ออันเดร ธนบูรณ์ พูนผล และคุณพ่อมัทธิว สาโรช เมธีพิทักษ์กุล คุณพ่อใหม่ได้มาถวายมิสซาแรกที่วัดของเราเพื่อพวกเราจะได้ร่วมความชื่นชมยินดีกับคุณพ่อ ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงประทานพระพรการเป็นพระสงฆ์ เพื่อรับใช้พระเจ้าตลอดไป
กว่าที่คนหนึ่งจะได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ก็จะมีกระบวนการการอบรมยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ที่สังกัดในคณะนักบวชหรือพระสงฆ์ของสังฆมณฑล ก็มักมีรูปแบบการอบรมคล้ายๆกัน ใช้เวลาในบ้านอบรมเพื่อผู้สมัครบวชจะเป็นผู้มีวุฒิภาวะ และอาจจะมีบางอย่างที่แตกต่างไปบ้าง หากเป็นพระสงฆ์ที่สังกัดคณะนักบวช ก็จะมีจิตตารมณ์หรือเป้าหมายที่เน้นเป็นพิเศษตามแนวทางของผู้ก่อตั้งคณะ
การอบรมในบ้านเณรซึ่งเป็นสถานที่อบรมผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ สำหรับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรามีบ้านเณรเล็กที่สามพราน เปิดรับเด็กที่มีความสนใจเริ่มตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นม. 1 หรือในชั้นที่สูงกว่านั้น และอาจจะมีบางคนที่เรียนจบชั้นม.6 แล้ว จึงตัดสินใจเข้าเป็นเณรก็มีเหมือนกัน แต่ก็ยังมีอีกบางคน พวกเขาเรียนจบ มีงานทำแล้ว ต่อมาเกิดมีความสนใจจากมอบชีวิตเพื่อพระเจ้า อยากบวชเป็นพระสงฆ์ ในปัจจุบันมีที่มีกระแสเรียบแบบนี้มากขึ้นด้วย
วัดอัสสัมชัญเคยมีเด็กที่สนใจสมัครเข้ารับการอบรมในบ้านเณร แต่ก็ว่างเว้นไปนานแล้ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายวัดที่อยู่ในเมือง ย้อนไปในช่วงเวลาที่พ่อเณรในบ้านเณรเล็ก จะมีเพื่อนเณรเล็กจากวัดต่างๆในกรุงเทพฯ วัดอัสสัมชัญ วัดเซนต์หลุยส์ วัดกาลหว่าร์ วัดตรอกจันทร์ในช่วงหลังก็จะมีบ้างแต่น้อยมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เคยมีบางคนแสดงความคิดเห็นว่า สมัยนี้แต่ละครอบครัวมีลูกน้อย บางครอบครัวก็มีลูกคนเดียวหรือสองคน พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกไปบวชซึ่งเป็นเพียงความคิดเห็นของบางคน และไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เพราะมีหลายครอบครัวที่ยินดีส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกได้เป็นพระสงฆ์แม้จะมีลูกเพียงคนเดียว คริสตชนทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อจะได้มีพระสงฆ์ทำงานในพระศาสนจักร และพระสงฆ์ก็คือลูกหลานของพี่น้อง อยากให้พี่น้องได้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย หลายครั้งที่พ่อแม่มักจะวางแผนและเสนอรูปแบบชีวิตอนาคตให้ลูกเลือก หากมีโอกาสก็เสนอให้ลูกได้เลือกรูปแบบชีวิตการเป็นพระสงฆ์ด้วย
เคยมีการใช้วลีเรียกประเทศไทยว่าดินแดนมิสซัง หมายถึงประเทศที่จะมีพระสงฆ์มิชชันนารีเข้าไปประกาศความเชื่อ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้คำนี้กับประเทศไทยแล้ว เรามีสถานะเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่น มีพระสังฆราชปกครองเขตสังฆมณฑลของตน มีพระสงฆ์และนักบวชทำงานในสังฆมณฑล ประกาศข่าวดีในเขตปกครอง ซึ่งแต่ละสังฆมณฑลก็จะต้องพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนชายหญิงสนใจ ให้มีกระแสเรียกเพื่อเป็นพระสงฆ์และนักบวช การส่งเสริมกระแสเรียกเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราทุกคน ที่บอกว่าเป็นของทุกคน ก็เพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วม เริ่มจากพระสังฆราช พระสงฆ์ บรรดานักบวช และทุกคน สำหรับครอบครัวที่ไม่มีลูกชายหรือบางครอบครัวที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว อาจจะคิดว่าเขาไม่อยู่ในสถานะสนับสนุนส่งเสริมกระแสเรียก ปล่อยให้เป็นเรื่องของบางครอบครัวที่มีลูกชายที่อยู่ในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อได้คิดถึงเรื่องนี้ก็ ทำให้พ่อคิดถึงช่วงเวลาที่อยู่บ้านเณรแสงธรรม เวลานั้นพวกเราที่เป็นเณรได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนซึ่งอยู่ในประเทศออสเตรีย พวกเขาส่งเงินมาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านเณร พวกเณรจะต้องเขียนจดหมายไปขอบคุณผู้สนับสนุน ซึ่งมีทั้งเป็นบุคคลและเป็นกลุ่มสัตบุรุษของวัด ที่พวกเขาเหล่านั้นยินดี ที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน โดยมีคุณพ่อท่านหนึ่งได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และประสานงาน เงินที่ส่งมานั้นเป็นการรวบรวมเงินของสัตบุรุษและส่งมาช่วยเหลือ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนกระแสเรียก เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ สิ่งแรกที่สุดที่เราทุกคนสามารถทำได้ก็คือการสวดภาวนา วอนขอพระเจ้าได้ดลใจเด็กๆให้เกิดความสนใจ ความคิดเรื่องการให้ลูกได้มีโอกาสรับการอบรมในบ้านเณร หลายท่านไม่เคยคิด รวมทั้งอาจไม่กล้าคิดเรื่องนี้ คิดว่ากระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์เป็นเรื่องของคนอื่น บางทีก็คิดว่าลูกหลานชายของตนคงบวชไม่ได้ เลยไม่กล้า แม้แต่จะออกปากชักชวนซึ่งเหมือนกับการไม่เปิดโอกาสในเรื่องนี้เลย พระศาสนจักรยังต้องการผู้ที่จะสมัครมาเป็นพระสงฆ์อีกมากและพระเยซูเจ้ายังคงต้องการผู้ที่มาช่วยงานของพระองค์.
สวัสดี…พ่ออดิศักดิ์