บทอ่านจากคำอธิบายจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
เราจงเข้าใจผลของพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า
นักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึงชาวกาลาเทีย เพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจว่า โดยอาศัยพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า พวกเขาไม่อยู่ใต้กฎบัญญัติอีกต่อไป พวกเขาได้รับพระวรสารแล้ว ยังมีบางคนในท่ามกลางชนชาวยิวที่ได้เข้าสุหนัดแล้ว แม้พวกเขาจะเรียกตนเองว่าคริสตชน พวกเขาก็ไม่ได้ยึดมั่นในพระคุณที่ได้รับ พวกเขายังต้องการที่จะอยู่ใต้แอกของกฎบัญญัติ บัดนี้ พระเป็นเจ้าทรงวางแอกนั้นแก่ผู้ที่เป็นทาสของบาป แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ที่เป็นข้ารับใช้ของความเที่ยงธรรม กล่าวคือ พระเป็นเจ้าประทานกฎบัญญัติที่เที่ยงตรงแก่คนอธรรม แสดงให้พวกเขาเห็นบาปของตน ไม่ใช่ลบล้างบาป เพราะบาปได้รับการอภัยโดยอาศัยความเชื่อที่แสดงออกเป็นการกระทำด้วยความรัก ชาวกาลาเทียได้รับพระหรรษทานอันนี้แล้ว แต่ผู้ที่เข้าสุหนัดทักท้วงว่า พระวรสารช่วยพวกเขาให้รอดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ผ่านการเข้าสุหนัด พวกเขาปรารถนาที่จะถือตามขนบธรรมเนียมและจารีตของชาวยิวด้วย
ดังนั้น ชาวกาลาเทียจึงเริ่มซักถามเปาโลเรื่องการเทศน์ถึงพระวรสารของท่าน เพราะท่านไม่ได้เชิญชวนคนต่างชาติให้มาถือตามชาวยิว ตามที่ท่านอัครสาวกองค์อื่นๆ ได้กระทำกัน แม้นักบุญเปโตรเองก็ยอมจำนนกับพวกเข้าสุหนัด ที่ยืนยันว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด ท่านแสร้งทำเป็นเชื่อว่าพระวรสารไม่ทำให้คนต่างชาติรอดได้ นอกจากพวกเขาจะได้ถือตามแอกแห่งบทบัญญัติ แต่เปาโลเตือนท่านในการเสแสร้งนี้ ดังที่ปรากฏอยู่ในจดหมายฉบับเดียวกัน เรื่องคล้ายๆ กันนี้มีอยู่ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรมด้วย แต่ด้วยหลักฐานที่ต่างกัน โดยทางจดหมายถึงพวกเขา นักบุญเปาโลสามารถแก้ไขการโต้แย้งซึ่งขยายตัวขึ้นระหว่างชาวยิวและชาวต่างชาติที่กลับใจได้
ในจดหมายฉบับที่ปรากฏนี้ นักบุญเปาโลเขียนถึงผู้ที่ตกอยู่ในอิทธิพลและ ความวุ่นวายจากผู้ที่เข้าสุหนัด ชาวกาลาเทียพากันเชื่อพวกเขาและคิดว่าท่านเปาโลเทศนาสั่งสอนไม่ถูกต้อง เพราะท่านไม่ได้สั่งให้พวกเขาเข้าสุหนัด ดังนั้น ท่านอัครสาวกจึงเริ่มกล่าวว่า “ข้าพเจ้าประหลาดใจนักที่ท่านทั้งหลายมีใจรวนเร ผินหน้าหนีโดยเร็วจากพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านให้เข้าในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า และได้ไปหาข่าวดีอื่นๆ”
ต่อจากนี้มีคำแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า พึงสังวรถึงการเริ่มจดหมายของนักบุญเปาโล ท่านกล่าวว่าท่านเป็นอัครสาวก มิใช่มาจากมนุษย์หรือมนุษย์แต่งตั้ง” ถ้อยคำเช่นนี้มิได้ปรากฏในจดหมายฉบับอื่นๆ ของท่านเลย ท่านแสดงให้เห็นชัดว่า พวกที่เข้าสุหนัดในส่วนของพวกเขา ไม่ได้มาจากพระเป็นเจ้า แต่จากมนุษย์ อำนาจในการประกาศพระวรสารของท่าน ต้องถือว่าเท่าเทียมกับอัครสาวกองค์อื่นๆ เพราะท่านได้ถูกเรียกมาเป็นอัครสาวก “มิใช่จากมนุษย์หรือมนุษย์แต่งตั้ง” แต่โดยพระเป็นเจ้า พระบิดาและพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์…
จงแบ่งปันอาหารกับผู้หิวโหย นำคนยากจนไร้ที่อยู่อาศัยเข้ามาในบ้าน ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ท่านเห็นว่าไม่มีเสื้อผ้าสวม และไม่หันหน้าหนีจากญาติพี่น้อง แล้วความสว่างของท่านจะขึ้นมาเหมือนรุ่งอรุณ แผลของท่านจะหายอย่างรวดเร็ว ความชอบธรรมจะเดินนำหน้าท่าน และพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเดินตามท่าน ท่านจะทูลขอ และองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบ ท่านจะร้องขอความช่วยเหลือ และพระองค์จะตรัสว่า “เราอยู่นี่” ถ้าท่านจะเลิกข่มเหงผู้อื่น เลิกชี้หน้ากล่าวหาและพูดร้ายต่อเขา ถ้าท่านแบ่งอาหารให้แก่คนหิว และตอบสนองความต้องการของผู้มีทุกข์ ความสว่างของท่านจะปรากฎขึ้นในความมืด และความมืดของท่านจะเป็นเหมือนเวลาเที่ยงวัน (อสย.58:7-10)
พ่อเลือกยกพระวาจาของพระเจ้าในบทอ่านที่หนึ่งในวันนี้มาไตร่ตรองกับพี่น้องในประเด็นหลัก 2 ประการ
ประการแรก แนวทางปฏิบัติเชิงรูปธรรมสำหรับชีวิตของเราคริสตชน ด้วย 3 คำถาม คือ
1.ใครบ้างคือคนที่ฉันต้องคำนึงถึง?
ผู้หิวโหย
คนยากจน : ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่
ญาติพี่น้อง
2.แล้วฉันต้องปฏิบัติอย่างไรต่อคนเหล่านี้ ?
แบ่งปัน : แบ่งอาหารให้แก่คนหิว
ตอบสนองต่อคนที่มีความทุกข์ : ให้ที่อยู่อาศัย ให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
ไม่หันหน้าหนีจากญาติพี่น้อง
เลิกข่มเหงผู้อื่น
เลิกชี้หน้ากล่าวหาและว่าร้ายเขา
3.กลุ่มคนใดที่บ่อยครั้งเราอาจละเลยไป ? พ่ออยากเชิญชวนให้พี่น้องไตร่ตรองข้อนี้ไปพร้อมกับพ่อด้วย
บ่อยครั้งเมื่อเราต้องการช่วยเหลือใคร เรามักจะสองไปยังคนที่ด้อย ลำบากกว่า อ่อนแอกว่าเราเสมอ ตรงนี้ พ่อคิดว่าไม่ผิดอะไรที่เราจะคิดเช่นนั้น เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และพระคัมภีร์เองก็บอกเราถึงเรื่องเหล่านี้ และแนะแนวทางให้เราปฏิบัติด้วย แต่วันนี้ พ่ออยากนำเสนอกลุ่มหนึ่งให้พี่น้องไตร่ตรองถึงมากขึ้น คือ กลุ่ม “ญาติพี่น้อง” ทำไมน่ะหรือ? ญาติพี่น้องคือ “คนใกล้ตัว” ซึ่งหลายๆครั้งก็ต้องยอมรับ มีไม่น้อยที่คนใกล้ตัว ก็อาจเป็นเหตุของความทุกข์อย่างมากด้วย สำหรับบางคนที่เป็นคนที่รักพี่ รักน้อง คนกลุ่มนี้อาจจะไม่เป็นปัญหาเลย แต่ก็มีไม่น้อยในสังคมที่เราได้พบเห็นในข่าวบ้าง หรือแม้แต่ประสบพบเจอด้วยตนเองบ้างที่ประสบปัญหากับกลุ่มญาติพี่น้อง บางครอบครัวพอขัดผลประโยชน์ถึงกับตัดขาดจากกัน บางคนถึงกับฟ้องร้อง หรือแม้แต่ทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ดี พระวาจาของพระเจ้าบอกเราว่า “ไม่หันหน้าหนีจากญาติพี่น้อง” ไม่ได้หมายความว่าให้เราต้องทนทุกข์แม้เจ็บปวด หรือต้องยอมจำนนต่อความอยุติธรรมโดยไม่ทำอะไรเลย แต่สิ่งที่พระเจ้าแนะนำเรา คือ “ให้อภัย” หนทางของการให้อภัยมีมากมาย
อาจจะเริ่มจากการให้อภัยในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ก่อน จนกระทั่งหัวใจของเราเข้มแข็งพอที่จะให้อภัยทั้งหมดได้
การภาวนา การให้อภัยต่อคนที่ทำให้เราเจ็บปวด แน่นอนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยให้เขาอยู่ในคำภาวนาของเราเถิด
ไม่หันหน้าหนี … พี่น้อง การไม่หันหน้าหนี คือ ความรักรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถแสดงออกต่อกันได้ การไม่หันหน้าหนี เป็นการแสดงออกถึงการให้ ให้การรับฟัง ให้โอกาส ให้เวลา การให้เหล่านี้ คือการให้ที่มีค่าอย่างมาก และนั่น ยังเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้อภัยด้วย
ประการที่สอง จะเกิดผลอย่างไรในชีวิตของเรา เมื่อท่านคำนึงถึงบุคคลเหล่านี้ และลงมือปฏิบัติต่อคนดังกล่าวตามแนวทางที่พระเจ้าบอกเรา
เราจะไม่จมอยู่ในความมืด : ความสว่างของท่านจะขึ้นมาเหมือนรุ่งอรุณ ….ความสว่างของท่านจะปรากฎขึ้นในความมืด และความมืดของท่านจะเป็นเหมือนเวลาเที่ยงวัน….
เราจะได้รับการเยียวยา : แผลของท่านจะหายอย่างรวดเร็ว
เราจะมีความชอบธรรมนำทาง : ความชอบธรรมจะเดินนำหน้าท่าน และพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเดินตามท่าน
พระเจ้าจะสถิตอยู่กับเรา : ท่านจะทูลขอ และองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบ ท่านจะร้องขอความช่วยเหลือ และพระองค์จะตรัสว่า “เราอยู่นี่
พี่น้องที่รัก จงเป็น “เกลือ” รักษาความเค็มไว้ดองโลกของเรา และเป็น “แสงสว่าง” ที่ส่องแสงต่อหน้าเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายด้วยกิจการดีที่เราทำเถิด เพื่อคนทั้งหลายที่ได้เห็นสิ่งดีที่เราทำ จะสรรเสริญพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ พระเจ้าไม่ได้ให้รางวัลเป็นเงินทอง เป็นเกียรติ เป็นอำนาจ เมื่อเราทำดีต่อผู้อื่น แต่พระองค์ให้ชีวิตขององค์พระเยซูเจ้าเป็นหลักประกัน และถ้อยคำของพระองค์ผ่านพระคัมภีร์เพื่อเป็นการยืนยันแก่เรา ว่า
“เราจะไม่จมอยู่ในความมืด ได้รับการเยียวยา มีความชอบธรรมนำทาง และพระเจ้าจะสถิตอยู่กับเรา”…