เรามาถึงช่วงกลางของเทศกาลมหาพรตแล้ว ในสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 4 ของเทศกาลมาพรต ยังมีชื่อเรียกว่าสัปดาห์แห่งความชื่นชมยินดี เนื่องมาจากบทเพลงเริ่มพิธีของวันนี้นำมาจากข้อความในหนังสือพระคัมภีร์ อสย. 66:10 “ท่านทั้งหลายจงยินดีกับกรุงเยรูซาเล็ม” เราเห็นอาภรณ์ที่ประสงค์สวมเปลี่ยนเป็นสีบานเย็น เพื่อเป็นเครื่องหมายความชื่นชมยินดี แต่มหาพรตก็ยังคงเป็นเวลาของการสวดภาวนา การทำกิจใช้โทษบาป เพียงแต่ให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายลง พวกเราเดินกันมาได้ครึ่งทางแล้ว เหลือเวลาอีกเพียง 21 วันก็จะถึงวันสมโภชปัสกา
มหาพรตเป็นเวลาแห่งความยินดี การสวดภาวนา การพลีกรรม และการทำกิจเมตตา ไม่ใช่เป็นไปด้วยจิตใจเศร้าหมอง พระเยซูเจ้าทรงแนะนำไว้ใน มธ.6:16 “เมื่อท่านจะจำศีลอดอาหาร อย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เพื่อให้ผู้คนรู้ว่ากำลังจำศีลอดอาหาร” พระองค์ยังบอกต่อไปว่า “เมื่อจำศีลอดอาหาร ขอให้แต่งตัวสวยงาม ใส่น้ำหอม เพื่อคนอื่นจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังจำศีลอดอาหาร” กิจศรัทธาต่างๆ ทั้งส่วนรวมและส่วนตัวที่เราปฏิบัติในเทศกาลนี้จะเป็นไปด้วยความยินดี ไม่ได้ทำเพราะจำใจหรือมีใครบังคับให้ทำ แต่เป็นความตั้งใจจริง ที่จะใช้ช่วงเวลานี้เพื่อใกล้ชิดกับพระ ซึ่งจะนำพาให้เกิดความชื่นชมยินดีในชีวิต
ระหว่างวันพุธ-พฤหัสบดีที่ผ่านมาทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จัดให้มีการเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจของบรรดาพระสงฆ์ ครั้งนี้ได้เชิญแพทย์มาบรรยายเรื่องการเตรียมตัว การเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอาการเจ็บป่วย หรือจะพูดว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะได้พร้อมไปพบกับพระเจ้า ความจริงก็คือการเกิดมามีชีวิตและการตายจากโลกนี้ เป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่คนเราไม่อยากคิดถึง ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ต้องไปถึงที่นั่นไม่ช้าก็เร็ว มีคำแนะนำให้คิดถึงช่วงเวลาเจ็บป่วยและเขียนบันทึกไว้ เพื่อจะได้ไม่เกิดความยุ่งยากในภายหลัง มีการนำภาพเป็นรูปกราฟแสดงให้เห็นว่า คนเราเมื่อมีชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเสื่อมถอยทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับทุกคน สภาพร่างกายแม้ภายนอกจะดูแข็งแรง แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้สร้างชีวิตมาเพื่อยืนยาวตลอดไป ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะต้องคืนทุกอย่างให้กับพระเจ้า คงเหลือแต่วิญญาณที่จะอยู่กับพระเจ้า การพูดถึงเรื่องของความตายในช่วงมหาพรตเช่นนี้ ก็เพื่อเตือนใจให้คิดถึงการไถ่บาปของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงยอมรับความตายแทนพวกเราทุกคนและจะประทานชีวิตหลังความตายให้
วันเสาร์ที่ 23 มีนาคมนี้ จะมีพิธีอภิเษกพระสังฆราชสังฆมณฑลนครสวรรค์ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ก็มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชของสังฆมณฑลอุบลราชธานี สำหรับที่นครสวรรค์นี้อาจจะมีพี่น้องสนใจเดินทางไปร่วมในพิธีอภิเษก การรับศีลบวชเป็นพระสังฆราชเป็นศีลบวชที่สมบูรณ์ เมื่อเราเรียนคำสอน คงจำได้ว่ามีศีลศักดิ์สิทธิ์อยู่ 7 ประการ หนึ่งในนั้นก็คือศีลอนุกรมหรือศีลบวช ศีลบวชนี้ยังมีการแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือการบวชเป็นสังฆานุกร การบวชเป็นพระสงฆ์ และการบวชเป็นพระสังฆราช ซึ่งได้รับศักดิ์สงฆ์ครบสมบูรณ์ เราจึงใช้คำว่า “การอภิเษกพระสังฆราช” พระสังฆราชมีความเป็นสงฆ์เหมือนพระสงฆ์ทั่วไป เพียงแต่พระสังฆราชจะได้รับมอบหมายอำนาจจากพระศาสนจักรในการเป็นผู้ปกครอง รับผิดชอบในเขตปกครองของตน ที่เรียกว่าสังฆมณฑล ในพิธีบวชก็จะมีการสวมหมวก มอบแหวนและไม้เท้า ซึ่งมีความหมายว่าท่านได้รับอำนาจมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ปกครองดูแลคริสตชน เหมือนดังนายชุมพาบาลที่ดูแลฝูงแกะ การบวชพระสงฆ์จะมีขึ้นเสมอเกือบทุกปี ส่วนการอภิเษกพระสังฆราชนั้น นานๆจะมีสักครั้งหนึ่ง หากพี่น้องไม่สะดวกจะเดินทางไปร่วม ก็สามารถติดตามการถ่ายทอดสดที่ทางผู้เกี่ยวข้องได้เตรียมไว้เพื่อให้พี่น้องได้ติดตาม
พี่น้องมีโอกาสร่วมพิธีที่มีพระสังฆราชเป็นประธานอยู่บ่อยๆ แนวทางที่กำหนดไว้ทางพิธีกรรมทำให้บางครั้งก็เห็นพระสังฆราชสวมหมวกสูง บางครั้งก็ถอด หมวกสูงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายเมื่อพระสังฆราชร่วมอยู่ในพิธี โดยปกติจะถอดออกเมื่อถึงตอนที่จะสวดภาวนา ส่วนไม้เท้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเป็นผู้ปกครองสูงสุดในเขตสังฆมณฑลของตน พระสังฆราชจะถือไม้เท้าในช่วงเวลาทำหน้าที่ในการเป็นผู้ปกครอง โดยปกติจะถือไม้เท้าในเขตปกครองของตนเองเท่านั้น หากต้องไปเป็นประธานในเขตสังฆมณฑลอื่นท่านจะไม่ใช้ไม้เท้า
วันอาทิตย์หน้าวันที่ 17 มีนาคม ทางสภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย จะจัดพิธีบูชาเพื่อฉลองครบรอบ 11 ปีสมณสมัยของพระสันตะปาปาฟรังซิส มิสซาเวลา 17:00 น. ขอเชิญพี่น้องได้มาร่วมพิธี สังเกตว่าเมื่อมีการจัดมิสซาแบบนี้ จะมีสัตบุรุษมาร่วมไม่มากนัก แม้ว่าจะมีตัวแทนสัตบุรุษจากวัดอื่นมาร่วมอยู่บ้าง จึงอยากจะขอเชิญพี่น้องได้มาร่วมมิสซาในเย็นวันอาทิตย์ที่ 17 เพื่อร่วมใจกันภาวนาขอพรจากพระเจ้าสำหรับสมเด็จพระสันตะปาฟรังซิสในโอกาสนี้.
สวัสดี…พ่ออดิศักดิ์