“เมื่อพระผู้ช่วยเหลือซึ่งเราจะส่งมาจากพระบิดาจะเสด็จมา”
วันที่ห้าสิบ (Pentecost) หลังสมโภชปัสกาคือวันสมโภชพระจิตเจ้า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากการเสด็จสู่สวรรค์ของพระคริสตเจ้าตามพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าออกนอกกรุงเยรูซาเล็ม แต่จงคอยรับพระพรที่พระบิดาทรงสัญญาไว้ ดังที่ท่านได้ยินจากเรา” (กจ 1:4) ดังนั้นบรรดาศิษย์จึงเดินทางกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ในห้องชั้นบนซึ่งเคยเป็นที่พักของพวกเขา (เทียบ กจ 1:13) และอธิษฐานภาวนา นักบุญลูกาซึ่งเป็นทั้งผู้เขียนหนังสือพระวรสารของท่านเอง และผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวกด้วยได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ห้าสิบนี้ไว้
เราทราบว่าหนังสือพระวรสารเป็นเรื่องราวของพระเยซูเจ้า และหนังสือกิจการอัครสาวกเป็นเรื่องราวของพระศาสนจักร แต่น่าเสียดายที่หนังสือทั้ง 2 เล่ม (หรืออาจเรียกได้ว่า 2 ภาค) นี้ ถูกแยกออกจากกันด้วยพระวรสารของนักบุญยอห์น เพราะหากเราอ่านหนังสือสองเล่มนี้ต่อกัน เราจะเห็นภาพรวมและความต่อเนื่องของเรื่องราวต่างๆ ที่ลูกาจงใจให้เชื่อมโยงกับชีวิตของพระเยซูเจ้า การทำงานของพระจิตเจ้าไม่ได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ห้าสิบ “เมื่อวันเปนเตกอสเตมาถึง” (กจ 2:1) แต่อันที่จริงเริ่มต้นตั้งแต่การแจ้งสารแก่พระนางมารีย์ที่ “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน” (ลก 1:35) เป็นพระจิตเจ้าองค์เดียวกันที่ทำให้พระวจนาตถ์บังเกิดเป็นมนุษย์ และทำให้พระศาสนจักรก่อกำเนิดขึ้นมา
พระจิตเจ้าองค์นี้เองที่พระเยซูเจ้าสัญญาไว้ว่าพระประทานให้หลังจากที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว และนักบุญยอห์นเรียกพระจิตเจ้าองค์นี้ว่า “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) ซึ่งในภาษากรีกมีหลายความหมาย สามารถหมายถึงได้ทั้งทนายความที่ช่วยแก้ต่าง หรือพยานที่ยืนยันความถูกต้องของบุคคลหนึ่ง นอกจากนี้ยังหมายถึงผู้ที่สามารถเป็นที่พึ่งพา ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจในยามที่ต้องการได้ด้วย โดยรวมแล้วคำเรียกนี้หมายถึงบุคคลซึ่งเป็นที่ต้องการและถูกเรียกมาเพื่อช่วยในยามที่มีปัญหา
คำว่า “พระผู้ช่วยเหลือ” ปรากฏในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ 5 ครั้ง (ในพระวรสารนักบุญยอห์น 4 ครั้ง หมายถึงพระจิตเจ้า และจดหมายของนักบุญยอห์น 1 ครั้ง หมายถึงพระเยซูเจ้า)
ความหมายของพระผู้ช่วยเหลือที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้หมายถึงพระจิตเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย และทุกความหมายของคำนี้ก็ยืนยันบทบาทของพระจิตเจ้าในชีวิตของพระศาสนจักรและของเราทุกคน ทั้งปกป้องในยามที่มีปัญหา แก้ต่างให้เมื่อยามถูกใส่ร้าย ช่วยแก้ไขในยามที่ผิดพลาด ให้คำปลอบใจเมื่อเผชิญความทุกข์ นำทางในเวลายากลำบาก อาจกล่าวได้ว่าพระผู้ช่วยเหลือนี้อยู่เคียงข้างพระศาสนจักรและเราทุกคนในทุกเวลา
ทุกๆ วันอาทิตย์เราประกาศว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิต พระเจ้าผู้ทรงบันดาลชีวิต” เป็นพระจิตเจ้าที่ทำให้พระวจนาตถ์บังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระจิตเจ้าที่เคียงข้างพันธกิจการช่วยให้รอด เป็นพระจิตเจ้าที่ทำให้พระศาสนจักรถือกำเนิดขึ้น เป็นพระจิตเจ้าที่ยังเคียงข้างพันธกิจการช่วยให้รอดที่พระศาสนจักรและเราทุกคนได้รับมอบมาจากพระเยซูเจ้า
…ลาซารัส…