“ทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง”
เนื้อหาของพระวรสารนักบุญลูกาวันนี้ เป็นบทเทศน์ ณ ที่ราบ ซึ่งคล้ายกับเนื้อหาจากบทเทศน์บนภูเขาในพระวรสารนักบุญมัทธิวที่เราคุ้นเคยกว่า
ในขณะที่มัทธิววางบทเทศน์เรื่องความสุขแท้ไว้ตอนต้นของภารกิจของพระเยซูเจ้า ลูกกาวางบทเทศน์เรื่องความสุขแท้นี้ไว้หลังจากที่พระองค์ปฏิบัติภารกิจไปได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวความไม่ลงรอยกันระหว่างพระเยซูเจ้าและชาวยิวเนื่องจากพวกเขามองว่าพระเยซูเจ้าเป็นผู้ต่อต้านธรรมบัญญัติ พระองค์จึงนำเสนอแนวทางใหม่ของความสุขแท้
พระเยซูเจ้ากำลังยกระดับการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าให้สูงขึ้น จากเดิมที่ถือปฏิบัติตามตัวอักษร พระเยซูเจ้าเชื้อเชิญให้ปฏิบัติแนวทางความรัก ซึ่งอันที่จริงมีมาตั้งแต่พันธสัญญาเดิมแล้วแต่บรรดาชาวยิวไม่สนใจ เช่น “เมื่อท่านเก็บเกี่ยวพืชผลในทุ่งนาแล้วลืมฟ่อนข้าวไว้ ท่านจะต้องไม่กลับไปเก็บ แต่จะต้องทิ้งไว้ให้คนต่างด้าว ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” (ฉธบ 24:19) และเตือนพวกเขาให้ปฏิบัติความรักเมตตาเพราะอย่าลืมว่า “ท่านเคยเป็นทาสอยู่ในประเทศอียิปต์” (ฉธบ 24:18)
ลูกาเริ่มต้นบทเทศน์ของพระเยซูเจ้าด้วยการเน้นย้ำกว่า “พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง” (ลก 6:17) เหมือนพระองค์ต้องการจะบอกว่าพระเยซูเจ้าลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับมนุษย์ทุกคน และพันธกิจของพระเยซูเจ้าคือเพื่อคนธรรมดาทั่วไปที่พร้อมเปิดใจฟังพระเยซูเจ้า
นักพระคัมภีร์บางท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับคำแปลศัพท์ “Makarioi” ในยุคสมัยใหม่ที่เลือกใช้คำว่า “ความสุขแท้” (happy) แทนคำว่า “มีบุญ/ได้รับพระพร” (blessed) เพราะทำให้ไม่มีความเชื่อมโยงกับพระเจ้า (ในภาษาไทย คำเดิมคือคำว่า “บุญลาภ”)
น่าสังเกตว่าบทเทศน์เรื่องนี้ของพระเยซูเจ้ามี 8 ประการ แต่ประกอบด้วยความสุข 4 ประการ และวิบัติ 4 ประการ สะท้อนสภาพชีวิตปัจจุบันซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสภาพตรงกันข้ามในชีวิตหน้า และพระองค์ตรัสโดยตรงกับผู้ที่รับฟังพระวาจาของพระองค์
สิ่งที่พระองค์สอนในวันนี้คือความจริงของชีวิต และแตกต่างจากคำสอนของโลก ขัดกับความรู้สึกของเรา แต่นี่คือความจริงของเมืองสวรรค์ที่เราต้องไปให้ถึง เหมือนกับที่เราต้องเตรียมตัวเพื่อไปในสถานที่ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากเรา เราต้องพยายามเข้าใจและปรับตัวให้ได้
…ลาซารัส…