ข้อคิดวันอาทิตย์ที่สิบสอง เทศกาลธรรมดา ปี C
ข้อคิด…ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าได้ทรงหยิบยกปัญหาขึ้นมาถามพวกอัครสาวกว่าประชาชนกำลังคิดอะไรอยู่เกี่ยวกับพระองค์…พวกอัครสาวกซึ่งเพิ่งกลับจากทำภารกิจที่พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบหมายให้ ก็คิดว่าพวกเขาน่าจะสามารถให้คำตอบนี้ได้ เพราะได้ไปสัมผัสกับประชาชนมา…และนักบุญเปโตรได้เป็นผู้ให้คำตอบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น ”พระคริสต์ของพระเจ้า” ซึ่งหมายความว่าพระองค์เป็นพระผู้ทรงได้รับการเจิมจากพระเจ้า นั่นก็คือทรงเป็น “พระเมสสิยาห์”…จากนั้นพระเยซูเจ้าก็ทรงกำชับพวกเขามิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ แล้วพระองค์ทรงรีบบอกกับพวกเขาว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นบุตรแห่มนุษย์ของพระองค์
ความคิดเรื่องพระคริสต์ จะต้องทนทุกข์เจ็บปวด ไม่น่าจะมีอยู่ในความคิดของพวกศิษย์ของพระเยซูเจ้าในระหว่างที่พวกเขาใช้ชีวิตกับพระองค์ สำหรับพวกเขา พระคริสต์จะต้องเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาว พระผู้มีชัยชนะเหนือศัตรู พระผู้ได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับพระสิริรุ่งโรจน์… แท้ที่จริงแล้วพระคริสต์ก็ได้ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์นั้น แต่ไม่ใช่สิริรุ่งโรจน์ของโลกนี้…พระองค์ได้รับชัยชนะเหนือศัตรูคือบาปและความตายด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่ไม้กางเขน…และนี่แหละที่เป็นอัตลักษณ์ของพระองค์
คำถามของพระเยซูเจ้าที่ถามพวกศิษย์ของพระองค์ว่า “พวกท่านคิดว่าเราเป็นใคร?”…ก็น่าจะต้องเป็นคำถามเดียวกันที่พระองค์ทรงถามเราแต่ละคนในขณะนี้…และคำตอบของเราสำหรับคำถามของพระองค์ จะต้องไม่ใช่เป็นคำพูดเท่านั้น แต่จะต้องเป็นคำตอบด้วยกิจการและด้วยการใช้ชีวิตของเราแต่ละคน
มีคนจำนวนไม่น้อยซึ่งต้องการการรับรู้หรือการยอมรับจากสังคม อาจจะเป็นไปได้ที่คนเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นมาโดยที่สังคมไม่ยอมรับหรือให้ความสำคัญกับตัวเขาแต่อย่างใด และมักจะโดนต่อว่า โดนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคนเรายิ่งถ้าไม่มีอัตลักษณ์และประสบความสำเร็จในชีวิตและในหน้าที่การงาน ก็ยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกว่าจะต้องสร้างอัตลักษณ์ที่เด่นๆให้กับตัวเองให้ได้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม…บางครั้งถึงกับยอมใส่หน้ากากให้กับตัวเอง
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถามพวกอัครสาวกว่า “ประชาชนเขาว่าเราเป็นใคร?”…พระองค์มิได้ถามเพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อพวกเขา เพราะพระองค์ทรงแน่ใจว่าพระองค์เป็นใครไม่ว่าจะต่อหน้าผู้ที่ชื่นชมในพระองค์ หรือต่อหน้าผู้ที่ไม่ชอบพระองค์
พระเยซูเจ้าได้ทรงพูดถึงการปฏิเสธตนเอง จนถึงขั้นต้องตายต่อตนเอง เพื่อเราจะได้กลับกลายเป็น “ตัวตน” ที่แท้จริงของตนเองอย่างแท้จริงโดยไม่กลัวเกรงว่าคนอื่นจะพูดถึงตัวเราอย่างไร
การที่จะให้ “ความเป็นตัวตน” ของเราปรากฏแก่คนอื่นๆอย่างที่เป็นจริงๆ อาจจะเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากให้ได้…เช่นในกรณีของผู้ว่าราชการปิลาตซึ่งรู้ดีแน่แก่ใจว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็กลัวว่าตนเองจะต้องสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ซึ่งหมายถึงเกียรติยศและสิทธิพิเศษต่างๆที่มากับตำแหน่งหน้าที่นั้น ดังนั้นเมื่อเราทำสิ่งอธรรมเพราะกลัวจะต้องสูญเสียตำแหน่งหน้าที่…“ความเป็นตัวตน” ของเราก็ยิ่งจะจมปลักในความมืดและในการไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่นมากยิ่งขึ้น แต่ว่า “ความเป็นตัวตน” จะสามารถเชิดหน้าชูตาได้อย่างมีเกียรติ ก็ต่อเมื่อเราจะได้เดินตามมโนธรรมโดยไม่กลัวเกรงว่าคนอื่นเขาจะคิดอย่างไรกับ “ความเป็นตัวตน” ของเรา
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ตามที่นักบุญเปโตรได้ยืนยัน แต่พระองค์มิได้เป็นพระเมสสิยาห์ที่เปี่ยมด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ ตามที่ประชาชนโดยทั่วๆ ไปได้คาดหวังไว้ พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ต้องทนทุกข์เจ็บปวด…เพราะพระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ มิได้เพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่ทรงรับใช้ทุกๆคน พระองค์ไม่ได้สนใจที่จะต้องสร้างภาพชนิดที่ประชาชนต้องการ พระองค์ทรงทราบดีถึงชะตากรรมที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้เพื่อพระองค์ที่จะต้องทำให้สำเร็จ และจะต้องไม่หันเหจากพระประสงค์นั้น
น่าจะเป็นปัญหาทำให้เราไม่สบายใจ ถ้าหากเราใส่ใจแต่การสร้างภาพและใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น เฉพาะสิ่งเดียวที่เราถูกเรียกมาให้เป็น คือให้เราซื่อสัตย์ต่ออัตลักษณ์ที่แท้จริงของเราแต่ละคน เราไม่สามารถเป็นสุขในการใช้ชีวิตเป็นอย่างอื่นได้ และเราไม่ควรจะพึงพอใจจนกว่าเราจะเป็น “ตัวตน” ที่ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถเป็นได้ ดังนั้น หนทางแห่งชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับที่เราจะต้องเป็น “ตัวตน” ที่แท้จริงของเราเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าทุกๆคน…นี่แหละ คือการเดินทางชีวิตของเราที่กำลังมุ่งสู่การเป็นบุตรพระเจ้าในพระอาณาจักรของพระองค์