ข้อคิดวันอาทิตย์ที่สิบห้า เทศกาลธรรมดา ปี C
ข้อคิด…จากบทอ่านที่หนึ่ง เป็นการคัดมาจากสุนทรพจน์อำลาของโมเสสที่มีต่อชาวอิสราเอล ท่านได้ตักเตือนพวกเขาให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าอย่างสุดจิตใจและสุดวิญญาณและพระเยซูเจ้าเองในพระวรสาร ได้ทรงทอนพระบัญญัติทั้งหลายในพระธรรมเก่า ให้เหลือเพียงสองข้อ คือรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง
ความเป็นอริศัตรูกันระหว่างชนชาวสะมาเรียและชนชาวยิว ได้ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความไม่เข้าใจกัน ด้วยความไม่ไว้ใจกันและด้วยความเกลียดชังตั้งแต่ประมาณเจ็ดร้อยกว่าปีก่อนพระเยซูเจ้า และในสมัยพระเยซูเจ้าเอง ความเป็นอริศัตรูกันระหว่างชนชาติทั้งสองก็ยังคงอยู่ซึ่งเราสามารถพบได้ในบางช่วงบางตอนของพระวรสาร เช่นการไม่ต้อนรับพระองค์กับสานุศิษย์เวลาที่ต้องเดินทางจากแคว้นกาลิลีไปยังกรุงเยรูซาเล็ม…แต่ก็ยังมีชาวสะมาเรียที่น่ารักในพระวรสารด้วยเหมือนกัน คือ “หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำยาก๊อบ” และในเรื่องอุปมา “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี”
หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำเป็นรูปแบบของผู้ที่กำลังแสวงหาน้ำที่สามารถดับความกระหายความต้องการของเรามนุษย์ หญิงชาวสะมาเรียคนนี้ตระหนักดีว่าน้ำจากบ่อและมิตรภาพของมนุษย์ ยังไม่เพียงพอที่จะระงับความต้องการที่อยู่ในส่วนลึกๆในหัวใจของมนุษย์ มนุษย์ยังต้องการ “น้ำทรงชีวิต” ซึ่งเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ก็จะไม่หิวกระหายอีกต่อไป
ส่วน “ชาวสะมาเรียใจอารี” ในเรื่องอุปมานั้น ก็คงทำให้เราระลึกถึงพระบัญญัติประการเอกของความรักว่ามิใช่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ว่าใครเป็นเพื่อนพี่น้องของเรา มากเท่ากับที่หัวใจของเราจะรู้สึกสงสารเห็นใจคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำและชาวสะมาเรียผู้ใจดี เป็นตัวแทนรูปแบบแห่งความรักทั้งสองด้านที่แยกออกจากกันไม่ได้…หญิงชาวสะมาเรียเป็นตัวแทนความรักต่อพระเจ้าด้วยสิ้นสุดหัวใจพลางปรารถนาพระองค์เพื่อเติมเต็มหัวใจของนาง ส่วนชาวสะมาเรียผู้ใจดีเป็นตัวแทนของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต้องได้รับความเมตตาสงสารและความใส่ใจและความช่วยเหลือ
ชาวสะมาเรียคนนั้น เมื่อเห็นคนโดนทำร้ายได้รับบาดเจ็บ ทันทีเขารู้สึกสงสาร และตรงเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขา ทั้งไม่สนใจว่าคนโดนทำร้ายนั้น จะเป็นชนชาวยิวหรือไม่ เพราะขณะนั้นชาวยิวและชาวสะมาเรียไม่ถูกกันเป็นอริศัตรูกัน
ส่วนสมณะและคนชาวเลวีซึ่งเป็นนักบวช ไม่รู้สึกมีความสงสารต่อคนที่โดนทำร้ายบาดเจ็บ “ศาสนิกชนที่ไม่มีความเมตตาสงสาร เป็นศาสนิกชนที่ใช้ไม่ได้” ใครก็ตามที่ไม่มีความเมตตาสงสาร ก็ไม่ควรที่จะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริง และยิ่งไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์นักบวช
จากเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้านี้ ทำให้เราได้ทราบถึงนิสัยใจคอของบุคคลทั้งสาม
สมณะและคนชาวเลวี เป็นคนที่เห็นแก่ตัว เมื่อตกอยู่ในสภาวะคับขันและต้องตัดสินใจ ก็หนีเอาตัวรอดก่อน ส่วนคนชาวสะมาเรีย เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว คิดถึงคนอื่นก่อนที่จะคิดถึงตัวเอง
สมณะและคนชาวเลวี มีความผิดเพราะบาปแห่งการละเลยเพิกเฉย บาปแห่งการละเลยเพิกเฉยน่าจะเป็นบาปที่เลวร้ายที่สุดประการหนึ่งของมนุษย์ แต่ถึงกระนั้นเราก็คิดว่าตราบใดที่เรายังไม่ได้ทำร้ายคนอื่น เราก็ยังเป็นคนดีอยู่ แต่บางทีเรามองดูคนอื่นโดนทำร้ายบาดเจ็บ และเราก็ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งๆที่เราสามารถช่วยเหลือเข่าได้ อย่างนี้ มโนธรรมของเรายังเป็นสุขอยู่หรือ? มีหลายๆคนทำเป็นคนมือสะอาด โดยยืนดูอยู่ห่างๆ เมื่อมีคนกำลังโดนทำร้ายตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก แล้วก็เดินหนีไปเฉยๆ
คนชาวสะมาเรียคนนั้นเป็นผู้ที่รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น คนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นคนที่วิเศษจริงๆ พวกเขาเป็นเหมือนเกลือดองแผ่นดินและเป็นเหมือนแสงสว่างส่องโลก พวกเขามิได้ใส่ใจเฉพาะหน้าที่ของตนเท่านั้น แต่ที่พวกเขาใส่ใจสิ่งอื่นๆด้วย ก็เพราะว่าหัวใจของพวกเขาเรียกร้องมิให้เขาทำอย่างอื่น นอกจากให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่โดนทำร้าย ที่ต้องทนทุกข์ยากลำบาก และที่มีความเจ็บปวดทั้งใจและกาย
เราแต่ละคนสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ ทุกๆวันจะมีโอกาสเช่นนี้เข้ามาหาเรา ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ขอเพียงแต่ให้เราได้ใส่ใจต่อโอกาสเช่นนี้ และรีบคว้าไว้ เช่นการพูดดีที่ให้กำลังใจ ให้การปลอบโยน การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การให้ความช่วยเหลืออะไรบางอย่างที่เป็นรูปธรรม ฯลฯ และนี่อาจจะเป็นหยดเล็กๆของ “น้ามันและเหล้าองุ่น” ที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดของบาดแผลของคนอื่นได้
หนทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยริโค เปรียบเสมือนเป็นหนทางแห่งชีวิตของเราแต่ละคน ก่อนที่จบเรื่องราวของใจคนชาวสะมาเรียผู้อารี พระเยซูเจ้าได้ทรงตรัสกับหมอกฎหมายคนนั้นว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” คำพูดนี้ก็เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการจะบอกกับเราแต่ละคนเหมือนกัน…เราที่กำลังเดินอยู่บนหนทางแห่งชีวิต ก็ขอให้เราได้ทำตัวให้เป็นประโยชนแก่เพื่อนพี่น้องของเราเหมือนกับคนชาวสะมาเรียผู้ใจอารีคนนั้น