ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ยี่สิบสอง เทศกาลธรรมดา ปี C
ลก 14: 1. 7-14…ทุกคนที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น…เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้ ท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระเจ้าเมื่อผู้ชอบธรรมกลับคืนชีพ
ข้อคิด…พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ เน้นย้ำถึงเรื่องความสุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆในหมู่คณะหรือในสังคม…บทอ่านที่หนึ่งจาก “หนังสือบุตรสิรา” กล่าวชมเชยบุคคลที่สุภาพอ่อนโยน เพราะคนสุภาพอ่อนโยนมีจิตสำนึกถึงความอ่อนแอของตนและไม่เคยดูหมิ่นดูแคลนปรีชาญาณหรือคำแนะนำของผู้อาวุโส…คนประเภทนี้จะได้รับความดีความชอบจากพระเจ้า จากเพื่อนฝูงและจากเพื่อนพี่น้อง ตรงข้าม ความหยิ่งจองหองจะสร้างกำแพงระหว่างตัวเขากับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้องอีกด้วย
พระวาจาของบทอ่านที่หนึ่ง ก็จะไปสอดคล้องกับพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารที่กล่าวว่า “ทุกคนที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”…พระเยซูเจ้าทรงตำหนิคนที่พยายามถีบตัวเองให้สูงขึ้นโดยกดคนอื่นให้ต่ำลง และพยายามแสวงหาตำแหน่งสูงๆ นั่นมิใช่เป็นหนทางที่จะได้รับเกียรติในพระอาณาจักรพระเจ้า… เกียรติในพระอาณาจักรพระเจ้า มาจากเจ้าภาพ มิใช่มาจากแขกผู้รับเชิญ…พระเจ้าทรงประทานเกียรติให้กับคนที่มีใจสุภาพอ่อนโยน
…วันหนึ่งพระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญไปยังบ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีคนหนึ่ง ทันทีที่พระองค์ทรงย่างพระบาทเข้าไปในบ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีผู้นี้ พระองค์ทรงสัมผัสได้ถึงความเย็นชาและการวิพากษ์วิจารณ์บ่นซุบซิบถึงพระองค์จากผู้ที่มาร่วมงานและไม่ชอบพระองค์…พวกเขาต่างจ้องมองพระองค์ หวังจะจับผิด แต่ก็มีหลายๆคนกลับมองพระองค์ด้วยสายตาเป็นมิตรและด้วยสายตาของการต้อนรับ
เมื่อเรามองผู้อื่นด้วยสายตาที่เป็นมิตร นั่นหมายความว่า เราสมัครใจชอบผู้นั้นตั้งแต่เริ่มแรก อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่าง คือเพราะเรามองสิ่งดีในตัวเขา และพร้อมที่จะขอโทษในสิ่งที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรในตัวเรา เราเปิดใจรับเขาและสมัครใจที่จะเรียนรู้จากเขา ความรู้สึกถึงสายตาที่มองเราอย่างเป็นมิตร เป็นความรู้สึกที่งดงาม ทำให้เราผ่อนคลายและรู้สึกได้ถึงการต้อนรับเราด้วยความพึงพอใจ
แต่ว่าเมื่อใดที่เรามองคนอื่นด้วยสายตาที่เกลียดชัง นั่นหมายความว่าเราสมัครใจที่จะไม่ชอบเขาตั้งแต่เริ่มแรก เรามองแต่ข้อบกพร่องของเขา และเราจะรู้สึกผิดหวังเมื่อไม่พบข้อบกพร่องของเขา เราไม่ให้โอกาสเขาพิสูจน์ตนเอง เราสร้างความคิดของเราที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเขาไว้เรียบร้อยแล้ว…ถึงแม้เราจะไม่พบความผิดพลาดใดๆจากการกระทำหรือคำพูดของเขา แต่เราจะคอยสงสัยการกระทำของเขาอยู่เสมอ เพื่อคอยจับผิด เราจะไม่ยอมเรียนรู้อะไรจากเขา เพราะความคิดและหัวใจของเราได้ถูกปิดกั้นและมีความรู้สึกต่อต้านเขา
เมื่อเรามองผู้อื่นด้วยสายตาที่ไม่สนใจในตัวเขา นั่นย่อมหมายความว่าเราจะไม่สนใจทุกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา…เราอาจจะเห็นความพยายามของเขา ความเศร้าของเขา หรือแม้แต่น้ำตาของเขา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรกับเรา เราไม่สนใจเขา ไม่ห่วงใยเขา ซึ่งจริงๆแล้ว เราแทบจะไม่อยากมองเขาด้วยซ้ำไป เหมือนกับว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่ที่นั่น
ทันทีที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านของชาวฟาริสีคนนั้น พระองค์ทรงสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเพื่อนๆของเขากำลังเฝ้ามองพระองค์ด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร…พวกเขาสร้างความคิดที่ไม่ดีของพวกเขาเกี่ยวกับพระองค์ไว้เรียบร้อยแล้ว พวกเขาต้องการจับผิดพระองค์และหาทางที่จะขจัดพระองค์ให้พ้นจากทางของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการเวลานี้ คือหาหลักฐานเพื่อที่จะปรักปรำพระองค์ให้จงได้
หลายๆคนอยากรู้อยากเห็นในเรื่องข้อผิดพลาดของคนอื่น แต่ไม่สนใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง นั่นย่อมหมายความว่าเราทำเป็นคนตาบอดในเรื่องข้อผิดพลาดของเราเอง และหมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดของผู้อื่น…ดังนั้นพระเยซูเจ้าจึงทรงเปลี่ยนเรื่อง ไปเป็นเรื่องที่นั่งในงานเลี้ยงมงคลสมรส
โดยเริ่มจากบรรดาแขกรับเชิญ ซึ่งต่างแย่งชิงที่นั่งที่มีเกียรติ นี่แสดงว่าพวกเขาไม่รู้สึกถึงความมีเกียรติในการเป็นแขกรับเชิญ แต่นึกถึงแค่เกียรติของตนเองเป็นสำคัญ…การเชิญมาร่วมงานเลี้ยงรับประทานอาหารดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่ใจกว้างของเจ้าภาพ แต่เมื่อดูแขกที่ได้รับเชิญมาแล้ว เราก็จะแลเห็นว่าเจ้าภาพก็มักจะเชิญแต่ผู้ที่เขาสนิทชิดชอบและผู้ที่สามารถจะเชิญเขาเป็นการตอบแทนได้…การกระทำแบบนี้จะเป็นการกระทำที่ใจกว้างได้อย่างไร เพราะการให้แบบนี้ ถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่เขาอยากจะได้รับการตอบแทนกลับคืนกลับมาพร้อมกับผลประโยชน์อย่างมีหน้ามีตา
พระเยซูเจ้าทรงให้คำแนะนำกับพวกแขกรับเชิญว่า…ถ้าพวกเขาต้องการกระทำสิ่งใดที่เป็นการแสดงออกถึงความใจกว้างของตน พวกเขาควรเชิญคนที่ไม่สามารถเชิญพวกเขาเป็นการตอบแทนได้…เพราะการให้ที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนสำหรับเราทุกคนอย่างเห็นได้ชัดว่าเรามองผู้อื่นด้วยสายตาแบบใด เรามองคนอื่นแบบชาวฟาริสีที่มองตนเองว่าดีกว่าผู้อื่น โดยไม่ยอมมองความผิดบกพร่องของตนเองที่ได้กระทำเช่นเดียวกัน…หรือมองคนอื่นแบบที่พระเยซูเจ้าทรงมอง ที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้
แล้วอะไรคือลักษณะของการให้ที่ดี…ต้องเป็นการให้ที่ไม่หวังเพื่อประโยชน์ส่วนตน…การให้ เป็นหัวใจของข่าวดีของพระเยซูเจ้าและเพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์…แต่ต้องเป็นการให้ที่มีคุณค่าคือเป็นการให้ที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน