ข้อคิดวันอาทิตย์ที่ยี่สิบสาม เทศกาลธรรมดาปีC
ลก 14: 25-33 …ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิงและแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้…ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้…
เรามักจะวัดค่าของคนจากความเสียสละที่อุทิศให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย…เราคงไม่สามารถคาดหวังที่จะเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์ได้โดยที่ไม่ต้องออกแรง…ให้เราได้ทำไตร่ตรองว่าการเป็นคริสตชนสำหรับเราให้ความหมายอะไร?…และมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง?…ให้เราอธิษฐานขออภัยโทษจากพระเจ้าที่เรายอมปล่อยให้ความกล้าๆกลัวๆและความเห็นแก่ตัวเข้ามาครอบงำตัวเรา ทำให้เราอ่อนแอที่จะอุทิศตนเพื่อพระเจ้า
ข้อคิด…บรรดาศาสดาของทุกศาสนาที่ใหญ่ๆของโลก ต่างก็อยากจะได้อยากจะมีสานุศิษย์ที่ใส่ใจต่อคำสอนของพระศาสดาของตน นำเอาไปปฏิบัติในชีวิตและสอนคนอื่นต่อ อันจะเป็นการสานต่อคำสั่งสอนของศาสดาของตน…นักบุญลูกาได้กล่าวถึงการเป็นศิษย์พระเยซูเจ้าของคริสตชนไว้สามประการด้วยกัน โดยมุ่งเน้นไปที่การอุทิศตนทั้งครบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเป็นผู้ติดตามพระคริสตเจ้า… เห็นได้ชัดว่านักบุญลูกาตั้งใจให้เรื่องนี้เป็นแนวทางสำหรับชุมชนของคริสตชน ซึ่งมีความพยายามที่จะหาคำจำกัดความและทำความเข้าใจกับคำว่า “การเป็นศิษย์” ได้อย่างถูกต้องและอย่างมีความหมาย
ประการแรก…”การอุทิศตนทั้งครบ”ในฐานะคริสตชน เกี่ยวข้องกับการให้พระเยซูเจ้าอยู่เป็นลำดับแรกของชีวิตของตน นักบุญลูกาใช้คำว่า “เกลียด” ญาติพี่น้อง เกลียดในที่นี้มิได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นการหมายถึงการแสดงออกซึ่งความรักที่น้อยกว่า เป็นการใช้ภาษาที่นักบุญลูกาต้องการเน้นให้เห็นว่าสมาชิกในครอบครัวต้องมาเป็นที่สองรองจากการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า
ประการที่สอง…การอุทิศตนทั้งครบหรือการติดตามพระเยซูเจ้านั้น เกี่ยวข้องกับ “การแบกกางเขน” ของแต่ละคน นั่นก็คือเขาจะต้องพบกับอุปสรรคและความทุกข์ยากลำบากต่างๆนาๆ มากบ้างน้อยบ้าง หนักบ้างเบาบ้างตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า พระอาจารย์ และการแบกกางเขนของการเป็นศิษย์นี้ เรียกร้องความซื่อสัตย์และความมั่นคงจนถึงที่สุด พลางวางใจในความช่วยเหลือและการสนับสนุนของพระองค์ และมั่นใจว่าตนจะไม่ถูกทอดทิ้งและถูกโดดเดี่ยวในการแบกกางเขนที่อาจจะเหลือบ่ากว่าแรงของตน
ประการที่สาม…คริสตชนที่ต้องการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า ต้อง”ตัดสละจากทรัพย์สมบัติ”ต่างๆ เพื่อจะได้สามารถติดตามพระองค์ได้อย่างอิสรเสรีและอย่างพร้อมที่จะสนองตอบพระองค์ในทุกๆเรื่อง ด้วยเหตุนี้พระเยซูเจ้าจึงทรงประกาศว่า “ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้” สมาชิกของพระศาสนจักรซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นที่ร่ำรวย มีชีวิตที่มีความมั่นคงแล้ว ต้องรู้จักแบ่งปันทรัพย์สมบัติของตนให้กับผู้ขาดแคลน ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ… นักบุญลูกาเองมักจะประณามผู้สะสมความร่ำรวยไว้สำหรับตัวเองอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าและต้องการเป็นศิษย์ของพระองค์ จึงต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อจะได้ติดตามพระองค์อย่างสะดวกสบายใจขึ้นและอย่างมีประสิทธิภาพ
ตามความเห็นของนักบุญลูกา ทั้งสามประการที่เกี่ยวข้องกับการเป็นศิษย์นี้ มิใช่เป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถรับได้ ก่อนที่จะยอมรับ “การเป็นศิษย์ของพระเยซู” แต่ละคนควรจะได้คาดคะเนถึงสิ่งที่จะต้องเสียสละอย่างรอบคอบและอย่างเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า ควรเป็นเหมือนผู้สร้างหอคอย ที่ต้องนั่งลงและคิดคำนวณถึงราคาว่าจะมีเงินพอเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างหอคอยจนสำเร็จหรือไม่ “มิฉะนั้น เมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า คนนี้เริ่มก่อสร้างแต่ทำให้สำเร็จไม่ได้” ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อเราได้ทำการตัดสินใจว่าจะติดตามพระเยซูเจ้าแล้ว ก็จะต้องติดตามพระองค์ไปจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือแม้จะต้องสละชีวิตของตนเองก็ตาม ตามแบบอย่างของบรรดาอัครสาวก