วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์
วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์(Holy Saturday/Sabbatum Sanctum) เป็น“วันที่พระเยซูเจ้าทรงถูกฝังไว้ในคูหา” และเป็น“วันแห่งการพักผ่อนของพระคริสตเจ้า” เพราะในวันนั้นพระศพของพระองค์ทรงถูกวางไว้ในคูหาและในวันนี้เราคงคิดถึงคำภาวนาในบท“สัญลักษณ์ของอัครสาวก/ข้าพเจ้าเชื่อ”ที่อธิษฐานภาวนาว่า“(พระเยซูเจ้า)เสด็จสู่แดนมรณะ”…วันนี้เป็นวันที่โลกทั้งสองโลกคือโลกแห่งความมืดโลกแห่งบาปและโลกแห่งความตายกับโลกแห่งการกลับคืนชีพและโลกแห่งการปฏิสังขรณ์ไปสู่อาณาจักรแห่งความสว่าง ต่างก็หยุดทำกิจกรรมของตนเองด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงในวันนี้พระศาสนจักรไม่ให้มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใดๆทั้งสิ้นจนถึงพิธีตื่นเฝ้าในค่ำคืนวันปัสกาคือค่ำคืนวันนี้…วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์นี้ซึ่งอยู่ระหว่างวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์และวันอาทิตย์ปัสกาได้บอกเราถึงการสิ้นสุดของโลกๆหนึ่งและการเกิดใหม่ของอีกโลกหนึ่งอันได้รับการสถาปนาขึ้นด้วยการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า
วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์น่าจะเป็นวันที่เงียบที่สุดของปีเลยทีเดียวแต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วก็จะเป็นช่วงเวลาของความชื่นชมยินดีและการรอคอยครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดอันเนื่องมาจากความงดงามของพิธีกรรมของการตื่นเฝ้าปัสกาซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น“มารดาของการตื่นเฝ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย”หรือเป็น“พิธีกรรมอันยิ่งใหญ่แห่งความสว่าง”
เหมือนกับเมล็ดพืชในดินที่รอจังหวะเวลาโผล่ขึ้นมาจากดินเป็นต้นอ่อนพระเยซูเจ้าที่พักผ่อนอยู่ในคูหาก็รอเวลาที่จะกลับคืนพระชนมชีพ
พระศาสนจักรกำลังตื่นเฝ้าอยู่รอบๆพระคูหาของพระคริสตเจ้าพลางมีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกเดียวกันของพระองค์อันที่จริงพระศาสนจักรเองก็รอการกลับคืนชีพในวันสุดท้ายเช่นกันซึ่งเป็นวันยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า
ตามธรรมประเพณีที่ได้รับสืบทอดกันมาวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นวันที่จะถวายพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณไม่ได้ทั้งนี้เพื่อเป็นการตระเตรียมการสมโภชคืนวันปัสกาแต่ว่าจะมีวจนพิธีกรรมอ่านพระวาจาและสวดชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์แทนเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญของบทอ่านดังกล่าวก็คือ…ความหวังในการกลับคืนชีพและการที่พระแมสซิยาห์เสด็จเข้าสู่พลับพลาแห่งฟ้าสวรรค์ในฐานะผู้มีชัยเหนือความตาย
การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านี้ได้มีการพูดถึงเป็นนัยๆอยู่แล้วในบทเพลงสดุดีและในคำทำนายของบรรดาประกาศกในพระธรรมเก่าการคืนชีพนี้อยู่เหนือทัศนะทั้งหลายของการเพียงแต่มีชีวิตอยู่ต่อไปและอยู่เหนือการยืดชีวิตบนแผ่นดินนี้ให้ยาวนานต่อไปอีกเพราะการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการเฉลิมฉลองการมีชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบใหม่ซึ่งพระธรรมใหม่ได้ชี้แสดงให้เห็นในหลายๆทัศนะที่แตกต่างกันออกไป
พระคริสตเจ้าพระบุตรพระเจ้าและมนุษย์แท้จริงได้พิสูจน์พระองค์เองจนถึงขั้นที่ยอมสิ้นพระชนม์เพื่อจะได้มีชัยชนะเหนือความตายและบาปเพื่อให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์ได้มีส่วนร่วมในชัยชนะดังกล่าวด้วย
บรรดาผู้ชอบธรรมของพระธรรมเก่าและมนุษย์ทุกคนที่ได้แสวงหาพระเจ้าด้วยจิตใจที่ซื่อตรงกำลังจะได้พบความสมบูรณ์ของชีวิตและสิ่งที่พวกเขาได้ตั้งความหวังไว้ในองค์พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นอาดัมคนใหม่
พระคริสตเจ้ามนุษย์ผู้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้แลเห็นความเน่าเปื่อยผูพังแต่ว่าได้รับการชุบให้มีชีวิตจากพระจิตของพระเจ้าพระองค์ได้เสด็จสู่สวรรค์พลางประกาศพระเกียรติมงคลของพระผู้เป็นเจ้าและได้เผยแสดงพระองค์เองว่าเป็น“เจ้านายของสรรพสิ่งทั้งในสวรรค์บนแผ่นดินและใต้พิภพ”
สำหรับคริสตชนความตายมิใช่จุดจบของชีวิตแต่ว่าเป็นชัยชนะเหนือขอบเขตจำกัดของเงื่อนไขต่างๆบนแผ่นดินนี้ของมนุษย์และเป็นการมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดร์ของพระเจ้า
คืนศักดิ์สิทธิ์–คืนวันปัสกา
เป็นธรรมประเพณีที่ได้รับสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณที่คืนนี้เป็นคืนแห่งการตื่นเฝ้าเป็นเกียรติแด่พระคริสตเจ้า(อพย12: 42)
ตามคำแนะนำของพระวรสาร(ลก12:35)…บรรดาสัตบุรุษจะถือตะเกียงหรือเทียนจุดไว้ในมือเหมือนกับคนใช้ที่กำลังคอยเจ้านายกลับมาเพราะเมื่อเจ้านายกลับมาก็จะพบพวกเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่และจะเชิญพวกเขาให้นั่งร่วมโต๊ะรับอาหารพร้อมกับพระองค์…คืนวันปัสกาเป็นธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่สุดของชีวิตคริสตชน…ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิทซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมในวันนี้ช่วยเราให้มีจิตสำนึกว่าเราอยู่ในเหตุการณ์ของการช่วยให้รอดพ้นของพระผู้ไถ่จริงๆ
และศีลล้างบาปที่เราคริสตชนได้รับจะต้องเป็นพันธะที่เราจะต้องตรึงตัวเราเองพร้อมๆกับพระคริสตเจ้าเพื่อจะได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นไทและได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้าและโดยอาศัยศีลมหาสนิทก็จะทำให้เรามีจิตสำนึกว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา
ค่ำคืนตื่นเฝ้าปัสกานี้ให้ความหมายว่าพระคริสตเจ้าผ่านจากความตายไปสู่ชีวิตโดยอาศัยขั้นตอนต่างๆของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเริ่มจากในความมืดแห่งบาปและความตายไปสู่การได้รับการส่องสว่างด้วยไฟและเทียนปัสกาอันหมายถึง“พระคริสตเจ้าองค์ความสว่างของชาวเรา” “Lumen Christi”…เช่นเดียวกับที่พระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระคริสต์และชุมชนของผู้มีความเชื่อได้ถูกนำให้ออกจากความมืดทางจิตวิญญาณไปยังความสว่างแห่งความจริงของพระเยซูคริสตเจ้า…การรับพิธีล้างของพระเยซูคริสตเจ้าก็เป็นแบบอย่างของศีลล้างบาปที่เราคริสตชนแต่ละคนได้รับและน้ำแห่งศีลล้างบาปก็ได้รับการเสกในพิธีกรรมค่ำคืนนี้ด้วยพร้อมทั้งมีการจุ่มเทียนปัสกาลงไปในน้ำแห่งศีลล้างบาปซึ่งหมายถึงพระวรกายของพระคริสต์ที่จุ่มลงไปในธารน้ำนี้และบันดาลให้ธารน้ำนี้สามารถบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้กับผู้ที่สัมผัสกับธารน้ำนี้ด้วย
ในระหว่างที่ประกอบพิธีกรรมซึ่งเชิญชวนให้เราได้รำลึกถึงการไว้ชีวิตชนชาวฮีบรูเพระที่บ้านของพวกเขาได้รับการทาสลักด้วยเลือดของลูกแกะเราคริสตชนก็เช่นเดียวกันที่ได้รับการสาดน้ำเสกซึ่งจะทำให้เราสะอาดหมดจดจากบาปโดยอาศัยยัญบูชาของพระคริสต์จากนั้นเราก็จะทำการรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาปโดยจะยอมละทิ้งปีศาจและกิจการของมันเราต่างมีความชื่นชมยินดีในการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าจากความมืดของหลุมฝังศพแล้วเราก็อธิษฐานภาวนาขอให้เราผ่านจากความตายไปสู่ชีวิตนิรันดร…จากบาปไปสู่พระหรรษทาน…จากความเหนื่อยล้าไปสู่การมีพละกำลัง…และจากความอ่อนแอตามประสาผู้สูงอายุไปสู่พลังหนุ่ม…จากความเจ็บปวดแห่งไม้กางเขนไปสู่สันติและเอกภาพกับพระเจ้า…และจากโลกที่เต็มไปด้วยความบาปไปหาพระบิดาเจ้าในสรวงสวรรค์
การตื่นเฝ้าในคืนปัสกานี้จะประกอบด้วย
1. พิธีกรรมสั้นๆแห่งแสงสว่าง
2. พระศาสนจักรรำพึงถึงสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆที่พระคริสตเจ้าได้กระทำสำเร็จเพื่อประชากรของพระองค์
3. พิธีกรรมแห่งศีลล้างบาป
4. สัตบุรุษได้รับการเชื้อเชิญไห้ไปรับประทานที่โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระคริสตเจ้าได้จัดเตรียมไว้ให้โดยอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์
สัญลักษณ์สามอย่างของเทศกาลปัสกา
1. อาภรณ์ปัสกาใหม่อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีโปรดศีลล้างบาปที่ผู้รับศีลล้างบาปจะใส่อาภรณ์สีขาวใหม่ทั้งความใหม่และสีขาวนั้นจะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ดังนั้นเมื่อเราใส่เสื้อผ้าใหม่ๆในโอกาสวันสมโภชนี้หรือในโอกาสอื่นๆก็ขอให้เราได้คิดถึงชีวิตใหม่ของเราในองค์พระคริสตเจ้าพระผู้ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
2. กระต่ายปัสกาซึ่งโดยปรกติแล้วมักจะให้ความหมายถึง“การเจริญพันธุ์”และเป็นสัญลักษณ์ของการมาถึงของ“ฤดูใบไม้ผลิ”ด้วยอันเป็นการตอบสนองพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทรงตรัสว่า“จงมีลูกดกทวีมากขึ้น”บางทีเราอาจจะสามารถคิดถึงการมีลูกดกของกระต่ายว่าเปรียบเหมือนกับสัญลักษณ์ของ“การประกาศข่าวดี”ที่สามารถให้กำเนิดบรรดาผู้เชื่อใหม่ๆในพระเจ้าและในพระคริสตเจ้าจำนวนมากขึ้นและเราอาจจะคิดถึงไข่ที่“กระต่ายปัสกา”หิ้วมาในตะกร้าว่าเปรียบเหมือนคริสตชนที่กำลังนำเอาข่าวดีของพระคริสต์ไปให้กับโลก
3. ไข่ปัสกาเป็นสัญลกัษณ์ของการกลับคืนชีพเปลือกไข่เปรียบเหมือนหลุมฝังศพซึ่งไม่สามารถที่จะขังพระเยซูเจ้ามิให้กลับคืนพระชนมชีพได้ส่วนลูกไก่ที่กระเทาะเปลือกไข่ออกมาจากเนื้อไข่ที่ไร้ชีวิตก็เปรียบเหมือนเป็นธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าและการที่เอาไข่ปัสกาที่แต้มสีสันสวยงามใส่ให้เต็มตะกร้าก็เปรียบเหมือนธรรมเนียมที่ประเทศคริสตศาสนาทั้งหลายในโลกที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ต่างเผ่าพันธุ์ต่างเชื้อชาติ ทำการเฉลิมฉลองปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้าไข่ปัสกาได้รับการเคารพว่าเหมือนสัญลักษณ์ของการกลับคืนชีพ(ของพระเยซูเจ้า)
ข้อคิดประจำวันอาทิตย์สมโภชปัสกา
ยน20: 1-9…เขาเห็นและมีความเชื่อแต่อัครสาวกทั้งสองยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่าพระเยซูเจ้าต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย…
วันนี้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองเป็นวันที่พระคริสตเจ้าได้ทรงหักโซ่ตรวนแห่งความตายและได้ทรงเสด็จกลับคืนชีพจากความตายอย่างพระผู้มีชัย…มิใช่เพื่อพระองค์เองแต่เพื่อเรามนุษย์ทุกๆคนและพระองค์ทรงต้องการให้เราได้มีส่วนร่วมในชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือบาปและความตายของพระองค์นี้
ข้อคิด…นักบุญเปโตรได้ปราศรัยกับประชาชนว่า“เขาประหารพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธโดยตรึงบนไม้กางเขนแต่พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามและโปรดให้พระองค์แสดงพระองค์มิใช่แก่ประชาชนทั้งปวงแต่ทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาพยานที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ล่วงหน้าแล้วคือเราทั้งหลายที่ได้กินและได้ดื่มร่วมกับพระองค์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย”(กจ10: 34-43)
การรับทนทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ที่ไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ได้นำความรอดพ้นมาสู่มนุษยชาติ…เหตุที่พระองค์ทรงปรารถนาสิ้นพระชนม์เพื่อเรามนุษย์ทุกคนก็เพราะทรงมีพระประสงค์ให้เราผู้เชื่อและศรัทธาในพระองค์ได้รับชีวิตนิรันดร์…คือเมื่อถึงกำหนดเวลาพระองค์ได้ทรงพอพระทัยเสด็จลงมาจากสวรรค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกับเรามนุษย์ในทุกๆอย่างยกเว้นบาปเพื่อให้เราสามารถรับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดกตามพระสัญญาและเจริญชีวิตกับพระองค์ตลอดไปในพระอาณาจักรของพระเจ้า
นี่แหละเป็นพระหรรษทานที่เราได้รับจากพระธรรมล้ำลึกปัสกาซึ่งเราทำการเฉลิมฉลองอยู่ในขณะนี้และเป็นพระคุณที่เราได้รับในโอกาสสมโภชปัสกานี้เป็นวันสมโภชที่ยิ่งใหญ่และน่าปรารถนาที่สุดประจำปีพิธีกรรมของบรรดาคริสตชนและนี่เป็นการเริ่มต้นชีวิตจิตของผู้ที่ได้เกิดใหม่ด้วยน้ำแห่งศีลล้างบาปเป็นน้ำที่ให้ชีวิตเป็นน้ำจากธารน้ำพุของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรพวกเขาจะเกิดใหม่อย่างทารกไร้เดียงสาเสียงร้องของทารกนั้นก็บ่งชัดถึงมโนธรรมที่ใสสะอาดของพวกเขา…พวกเขาได้รับชีวิตใหม่ในความเชื่อเมื่อพวกเขาเหล่านี้ออกจากท่อธารน้ำแห่งพระหรรษทานศีลล้างบาปและได้รับแสงเทียนปัสกาซึ่งจะลุกโชติช่วงสว่างไสวในจิตวิญญาณของพวกเขา…การสมโภชปัสกานำพระหรรษทานและความศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์มาสู่มนุษย์ด้วยการฉลองธรรมล้ำลึกปัสกานี้เป็นประจำทุกๆปีนอกจากนั้นพวกเขาก็จะได้รับการเลี้ยงดูจากพระศาสนจักรผู้เป็นมารดาที่รักและเอาใจใส่บรรดาบุตรของท่านด้วยทิพยาหารจากศีลมหาสนิท…พวกเขาจะได้เป็นสมาชิกของหมู่คณะและของพระศาสนจักรซึ่งจะนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระตรีเอกภาพพวกเขาจะขับร้องเพลงสดุดีที่เหมาะกับเทศกาลนี้พร้อมกับประกาศว่า“นี่เป็นวันที่พระเจ้าทรงสถาปนาขึ้นให้เราชื่นชมยินดีกันเถิด”…เป็นพระเยซูคริสตเจ้าเองซึ่งเป็นพระวจนาตถ์ผู้เนรมิตความสว่างณเวลาที่พระเจ้าทรงสร้างโลกพระองค์ได้ทรงตรัสถึงพระองค์เองว่า“เราเป็นความสว่างของกลางวันผู้ใดเดินในความสว่างของกลางวันนี้จะไม่สะดุด”พระวาจานี้หมายความว่าผู้ใดติดตามพระคริสตเจ้าในทุกๆย่างก้าวก็จะเดินในหนทางแห่งชีวิตตามทางของพระองค์จนกว่าจะบรรลุถึงพระบัลลังก์แห่งความสว่างนิรันดร์ในพระอาณาจักรพระเจ้า
วันสมโภชปัสกาเป็นวันฉลองแห่งชีวิตเพราะ“พระคริสตเจ้าได้ทรงกลับคืนชีพจริงแท้อัลเลลูยา”พระองค์ได้ทรงนำชีวิตและการดำเนินชีวิตแบบใหม่มาให้กับคริสตชนทุกๆคนเป็นชีวิตแห่งความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ส่วนคำอัลเลลูยาหมายถึงจงสรรเสริญพระเจ้าเถิดหรือขอพระเจ้าจงทรงพระเจริญเป็นถ้อยคำที่เราคริสตชนจะพบอยู่บ่อยๆในบทภาวนาและบทเพลงในเทศกาลนี้…คำ“อัลเลลูยา”นี้แทนความยินดีของคริสตชนเพราะการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้แต่เป็นชัยชนะและเรามีส่วนในชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือการทรมานบาปและความตายโดยรู้ว่าชีวิตนิรันดรกับพระคริสตเจ้ากำลังคอยเราอยู่และจะเป็นของเราทุกๆคนเพราะ“ข้าพเจ้ารอวันที่ผู้ตายจะคืนชีพและคอยชีวิตในภพหน้า”(บทข้าพเจ้าเชื่อฯ)
มนุษย์เราต้องการรู้ว่า“ชีวิตความเป็นอยู่หลังความตายเป็นอย่างไร?” “ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร?” และ“พวกเขาจะมีร่างกายแบบไหน?”(1คร15: 35) นักบุญเปาโลกล่าวว่าคำถามเหล่านี้ไร้สาระและเสริมว่า“เมล็ดที่ท่านหว่านจะไม่งอกขึ้นจนกว่ามันจะเน่าเปื่อยเมื่อท่านหว่านท่านไม่ได้หว่านต้นไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่แต่เป็นเพียงเมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอื่นพระเจ้าประทานร่างแก่เมล็ดพืชอย่างที่ทรงพอพระทัยและประทานผลแก่แต่ละเมล็ด”(1 คร15: 36-38)
ข้าแต่พระเจ้าวันนี้พระองค์โปรดให้พระบุตรชนะความตายเปิดประตูสวรรค์ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเสียใหม่ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายที่สมโภชพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพได้รับการฟื้นฟูเปลี่ยนแปลงโดยพระจิตเจ้าและกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ในวันสุดท้ายด้วยเถิด…….