ข้อคิดอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา ปี A
มธ 25: 14-30…ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้จัดการในเรื่องใหญ่ๆ จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด…
พวกเราทุกๆคนซึ่งมาชุมนุมกันอยู่รอบๆพระแท่นบูชาขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ไม่มีใครที่เหมือนกันกับอีกคนหนึ่งในทุกอย่างในทุกเรื่อง พระเจ้าได้ทรงประทานพระพรให้แก่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าหากเราจะใช้พระพรเหล่านี้อย่างดี ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเราเองและแก่คนอื่นด้วย…มีใครบ้างในพวกเราที่สามารถพูดได้ว่าเราได้ใช้พระพรแห่งพระหรรษทานและธรรมชาติที่พระเจ้าได้ทรงประทานมาให้อย่างดีมีประโยชน์?…มาถึงเวลานี้ เราอาจจะยังไม่ได้ใช้พระพรนี้ หรือแย่กว่านั้นอาจจะได้ใช้พระพรนั้นในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ
ข้อคิด…ขณะที่กำลังใกล้จะสิ้นสุดปีพิธีกรรม พระศาสนจักรผู้เป็นมารดาของบรรดาคริสตชนและมีความหวังดีต่อลูกๆของท่าน ก็อยากจะเตือนสอนลูกๆของท่านให้คิดถึง “เหตุสุดท้าย” ของมนุษยชาติ คือความตาย การพิพากษา สวรรค์และนรก และเตรียมตนอย่างเหมาะสมในการรับมือกับสถานการณ์ที่ว่านี้อันจะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไรกับตัวเราในบั้นปลายแห่งชีวิต ไม่มีใครรู้…นักบุญเปาโลเชื่อว่าการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูคริสตเจ้ากำลังจะมาถึงในเร็วๆนี้ ดังนั้นท่านจึงเร่งรัดให้ชาวเธสะโลนิกาให้ตื่นเฝ้าเตรียมพร้อมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม แม้นักบุญมัทธิวจะยอมรับว่าการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้าอาจจะถูกชะลอให้ช้าลงไปบ้าง แต่ถึงกระนั้น ท่านนักบุญก็ได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องตื่นเฝ้าเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน จึงในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ ท่านนักบุญได้ชี้แจงว่าการตื่นเฝ้าเตรียมพร้อมที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร…การตื่นเฝ้าเตรียมพร้อมคือการนำเอาพระวาจาขององค์พระเยซูเจ้ามาปฏิบัติอย่างไม่รอช้าและอย่างเต็มความสามารถ ส่วนในบทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือสุภาษิตนั้น ก็ได้กล่าวถึงหญิงซึ่งเป็นแบบอย่างชีวิตที่ดียอดเยี่ยม เพราะเธอได้ใช้พระพรหรือความสามารถที่พระเจ้าได้ทรงประทานให้อย่างขยันขันแข็งและอย่างมีคุณธรรม
ในพระวรสารวันนี้ เราได้ยินได้ฟังเรื่องของบุรุษผู้หนึ่งซึ่งกำลังจะออกเดินทางไกล จึงเรียกผู้รับใช้มามอบทรัพย์สินให้ดูแล ส่วนผู้รับใช้จะเอาทรัพย์ไปทำอะไร ไปทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องของการริเริ่มของพวกเขาแต่ละคน และในผู้รับใช้ทั้งสามคนที่พระวรสารเอ๋ยถึงนั้น เป็นคนที่สามหรือคนสุดท้ายที่พระวรสารได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษซึ่งเชื่อว่าวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด ก็คือเอาทรัพย์สินของเจ้านายไปฝังไว้ในดินและเมื่อนายกลับมา ก็จะไปขุดเอามาคืนให้เจ้านายได้ดังเดิม
เราจะเห็นว่าในเรื่องอุปมานี้ พระเยซูเจ้ากำลังพุ่งประเด็นไปที่พวกคัมภีราจารย์และชาวฟาริสีซึ่งคิดแต่จะรักษาธรรมบัญญัติไม่ให้ใครแตะต้องได้ โดยไม่ยอมให้มีการยืดหยุ่นหรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆของสังคม ด้วยท่าทีแบบนี้ของพวกเขา พระเยซูเจ้าจึงได้ทรงตำหนิอย่างรุนแรงว่าเป็นการทำร้ายและทำลายชีวิตของประชาชน
ไม่มีศาสนาใดที่ไม่มีความเสี่ยงและไม่มีการเผชิญกับภัยอันตรายต่างๆจากศาสนิกชนของตนและจากสภาพแวดล้อมของสังคม ฯลฯ ความพร้อมที่จะยอมเสี่ยงและเผชิญกับภัยอันตรายต่างๆ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเชื่อ
เรื่องอุปมาได้พูดถึงพระเจ้าในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนายของผู้รับใช้ด้วย เพราะเป็นพระองค์เองที่ได้ทรงประทานพระพรต่างๆที่แตกต่างกันไปให้กับเรามนุษย์ ไม่สำคัญว่ามนุษย์แต่ละคนได้รับพระพรอะไร แต่สำคัญอยู่ที่ว่าเรามนุษย์จะใช้พระพรนั้นอย่างไรในการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ในเรื่องอุปมานี้ ดูคล้ายๆกับว่าพระเจ้าทรงเป็นนักเสี่ยงโชคที่ยอมมอบพระพรของพระองค์ให้กับเรามนุษย์ เพราะไม่มีการรับประกันว่าพระองค์จะได้รับคืนสิ่งที่พระองค์ได้ทรงลงทุนไป ซึ่งในเรื่องนี้พระองค์ก็ต้องเสี่ยงเอาเหมือนกัน
เรื่องอุปมานี้ยังแสดงให้เราได้แลเห็นถึงท่าทีที่แตกต่างกันของผู้รับใช้ที่ได้รับมอบฝากทรัพย์สินของเจ้านายไว้ คนรับใช้สองคนแรกมีท่าทีต่อเจ้านายที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนรับใช้ที่สาม ผู้รับใช้สองคนแรกรู้ดีว่าเจ้านายของตนคาดหวังจากพวกเขาให้ช่วยทำให้ธุรกิจของนายได้งอกเงยขึ้น ส่วนผู้รับใช้คนที่สามนั้น มิได้มีความคิดดังที่ว่านี้ เพราะเห็นว่าเจ้านายของตนเป็นคนดุร้ายเข้มงวด เขามีความกลัวเจ้านายของตน จึงคิดว่าวิธีการที่ดีที่สุดก็คือพยายามไม่เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายให้กับทรัพย์สินที่เจ้านายได้มอบหมายให้กับตน แต่ว่าจริงๆแล้วการที่เขาเอาทรัพย์สินของเจ้านายไปฝังดินเสีย ก็เท่ากับว่าเป็นการฝังตัวเขาเองด้วย
เราสามารถถามตัวเราเองว่าเรามีจินตนาการอย่างไรเกี่ยวกับพระเจ้า และพระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อท่าทีและพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง?
พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายที่เข้มงวดซึ่งเรียกร้องให้เราคืนให้กับพระองค์ทุกบาททุกสตางค์สิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานให้กับเราหรืออย่างไร?
ชีวิตแห่งความเชื่อของเราเป็นชีวิตแห่งความกลัวหรืออย่างไร?
ความคิดเช่นที่ว่านี้จะต้องไม่ใช่รูปแบบที่ถูกต้องแห่งความเชื่อของคริสตชนที่มีต่อพระเจ้า เพราะความเชื่อของเราเริ่มจากพระเจ้าซึ่งทรงรักเรามนุษย์ถึงกับยอมเสี่ยงให้พระบุตรของพระองค์ได้เสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เฉกเช่นพวกเรา ทั้งยอมให้องค์พระบุตรได้ใช้พระพรต่างๆของพระองค์เองในการปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์ที่ได้รับจากพระบิดาบนโลกนี้อย่างอิสระเสรี พระเจ้าก็ทรงกระทำกับเรามนุษย์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้เหมือนกัน ดังนั้น
โดยหน้าที่ของเรา ก็คือพยายามที่จะคืนให้กับพระองค์ สิ่งที่พระองค์ทรงคาดหวังจากเรา ในเวลาและสถานที่ ที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้แล้ว สำหรับชีวิตของแต่ละคน
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์