ข้อคิดอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา ปี B
มก 8: 27-35…ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดสูญเสียชีวิตเพราะเราและเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้… มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่จะได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต…
…ในพระวรสาร เราแลเห็นว่ามีบางคนไม่มีความเชื่อศรัทธาในองค์พระเยซูเจ้า และมีหลายๆคนที่มีความเชื่อศรัทธาที่ผิดๆในพระองค์ แต่ว่านักบุญเปโตรได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อศรัทธาที่แท้จริงของท่านในองค์พระเยซูเจ้า เมื่อท่านได้ประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” ถ้าหากเราต้องการให้ความเชื่อมีชีวิตชีวาและมีอิทธิพลในชีวิตของเรา เราต้องทำความเชื่อศรัทธานั้นให้เป็นของเราเองและให้เป็นชีวิตของเรา…
ข้อคิด…ขณะนี้เราได้เข้าสู่ภาคที่สองของพระวรสารของนักบุญมาระโก (8: 27-16: 8)คือหลังจากที่พระเยซูเจ้าถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการต้อนรับจากคนของพระองค์และถูกเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่องในหลายๆสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกล่าวและได้ทรงกระทำจากพวกผู้นำทางศาสนา…พระองค์ก็ทรงเริ่มที่จะเอ๋ยถึงความจำเป็นของการทนทุกข์ทรมาน ความตายและการกลับคืนพระชนมชีพของ “บุตรแห่งมนุษย์” ในแผนการของพระเจ้า
จากบทอ่านที่หนึ่ง (อสย 50: 5-9)ซึ่งได้พูดถึง “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งๆที่พระองค์ท่านไม่มีบาปผิดแต่อย่างใด แต่พระองค์ทรงได้รับพละกำลังสนับสนุนในการถูกทดลองต่างๆด้วยความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับพระองค์…“ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” เป็นตัวแทนของผู้ชอบธรรมอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมาน พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มองดูพระเยซูเจ้าว่าเป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” ซึ่งท่านประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวถึง
ในพระวรสาร เราเห็นการยืนยันความเชื่อของนักบุญเปโตร และในการตอบรับการยืนยันความเชื่อนั้น พระเยซูเจ้าได้ทรงเปิดเผยถึงสามครั้งว่าพระเมสสิยาห์ต้องทนทุกข์ทรมาน และบรรดาศิษย์ของพระองค์ต้องเตรียมตัวไว้ให้มีส่วนร่วมในการทนทุกข์ทรมานของพระองค์ เพราะทั้งการทนทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้าและของบรรดาศิษย์ ในที่สุดจะนำไปสู่เกียรติรุ่งโรจน์สูงสุดในพระอาณาจักรพระเจ้า
มีความเชื่ออยู่สองประเภท…ประเภทแรกเป็นความเชื่อของผู้ที่เดินตามธรรมประเพณีของบรรพบุรุษของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดมั่นในธรรมประเพณีของความเชื่อศรัทธา ความเชื่อประเภทนี้ เราสามารถเรียกว่าเป็นความเชื่อทางมรดก ส่วนความเชื่อประเภทที่สองนั้น เป็นความเชื่อของคนที่ได้ความเชื่อนั้นมาโดยอาศัยการใช้หัวใจและสติปัญญา…ความเชื่อประเภทที่สองนี้ เราสามารถเรียกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล มีความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างความเชื่อทั้งสองประเภทนี้
ผู้ที่เป็นเจ้าของความเชื่อทางมรดกมีความได้เปรียบอยู่ที่ว่าไม่สามารถถูกหลอกลวงได้ง่ายๆ แม้จะต้องเผชิญกับเหตุผลข้ออ้างทางสติปัญญาที่ตรงข้ามกับความเชื่อของพวกเขา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเขาไม่เคยใช้สติปัญญาในการแสวงหาความเชื่อ แต่ว่าความเชื่อประเภทนี้ ก็มีข้อด้อยเหมือนกันคือความเชื่อของพวกเขา ก็จะไปด้วยกันกับการใช้เหตุผลไม่ได้ และบ่อยๆความเชื่อประเภทนี้เป็นความเชื่อที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัยหรือกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน
ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของความเชื่อส่วนบุคคลนั้น ก็มีความได้เปรียบอยู่ที่เขาได้ค้นพบพระเจ้าด้วยการใช้สติปัญญาของตนซึ่งก็จะเป็นความเชื่อที่แข็งแรง แต่ความเชื่อประเภทนี้ก็มีข้อด้อยเหมือนกัน คือสามารถถูกโน้มน้าวได้จากการใช้เหตุผล และถ้าหากต้องเผชิญกับเหตุผลข้ออ้างที่แข็งแรงกว่า ก็สามารถทำให้เขาละทิ้งความเชื่อได้ เพื่อที่จะสามารถต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ความเชื่อแบบนี้ต้องตั้งอยู่บนรากฐานของอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ส่วนตัว
คนที่ได้รับความเชื่อทั้งสองทางหรือทั้งสองประเภทนี้ ก็จะมีความได้เปรียบสูงสุด เพราะว่าการเกิดมาในความเชื่อ ก็ยังไม่เพียงพอ ยังเป็นความเชื่อที่ผิวเผิน ความเชื่อที่ดี ที่สมบูรณ์แบบ จะต้องเป็นแบบพลวัตร คือจะต้องได้รับการปฏิบัติให้ใหม่อยู่เสมอๆด้วยการเป็นทุกข์กลับใจทุกๆวัน และเรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆว่าคริสตังค์ยืน (ยืนรับศีลล้างบาป = ผู้ใหญ่) จะศรัทธากว่าคริสตังค์นอน (นอนรับศีลล้างบาป = เด็กทารก) ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะมักจะเห็นบ่อยๆว่าคริสตังค์เก่ากว่าจะไปถึงวัดได้ คนอื่นก็เกือบจะฟังพระวาจาจบแล้วและมักจะออกจากวัดก่อนที่จะจบมิสซา ส่วนคริสตังค์ใหม่ก็จะไปวัดก่อนเริ่มมิสซาเสียอีก และคริสตังค์ใหม่เวลาไปวัด หน้าตาก็ดูจะสดชื่นมีความสุข ส่วนคริสตังค์เก่า(บางคน) เวลาไปวัด หน้าตาดูจะเมื่อยๆ รู้สึกเบื่อๆอย่างไรชอบกล
คำถามที่พระเยซูเจ้าทรงถามพวกอัครสาวกเป็นคำถามหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในพระวรสาร เพราะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ขององค์พระเยซูเจ้าเองซึ่งมีความสำคัญอย่างมากๆสำหรับพวกเราคริสตชนตั้งแต่ยุคแรกๆของพระศาสนจักร เป็นคำถามที่เชิญชวนให้คิดถึงความเชื่อศรัทธาของพวกเขาที่มีต่อองค์พระเยซูคริสตเจ้าว่ามีมากน้อยเพียงใด
คำถามแรก “คนอื่นเขาว่าเราเป็นใคร?” ส่วนคำถามที่สอง “ส่วนพวกท่านว่าเราเป็นใคร?”…นักบุญเปโตรได้ตอบแทนสาวกท่านอื่นๆว่า “พระองค์ทรงเป็นพระคริสตเจ้า”…จริงๆแล้วคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องเป็นคำตอบของตัวเราเอง อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงค่านิยม ความเชื่อศรัทธาและชีวิตของเราจริงๆในองค์พระเยซูคริสตเจ้าในฐานะที่เราเป็นคริสตชน
ความเชื่อศรัทธาที่เกิดจากความเชื่อมั่นส่วนตัวของบรรดาสัตบุรุษ จะทำให้พระศาสนจักรบนโลกใบนี้ของพระเยซูเจ้าเพิ่มความมั่นคงมากยิ่งขึ้นอย่างกับที่ถูกสร้างบนศิลาตามพระวาจาของพระองค์
ตามที่เป็นข้อสังเกตุของนักพระคัมภีร์ว่านักบุญเปโตรคงจะไม่ได้เข้าใจอย่างเต็มที่ถึงสิ่งที่ท่านได้กล่าวออกไป เวลาที่ท่านได้ยอมรับรู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์นั้น ท่านยังมิได้รู้เลยว่าพระเยซูเจ้าจะต้องเป็น “พระเมสสิยาห์ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” นั่นแหละเป็นอะไรบางอย่างที่ท่านนักบุญเปโตรจะต้องเรียนรู้ในภายหน้าและจะต้องเรียนรู้อย่างหนักและอย่างยากลำบาก
นักบุญเปโตรได้ทำการยืนยันความเชื่ออย่างสมบูรณ์แบบ แต่ว่าเวลาที่จะต้องปฏิบัติจริงๆ ท่านกลับทำพลาด นั่นก็คือท่านได้ทำการปฏิเสธพระอาจารย์เจ้าทั้งๆที่ได้รู้จักพระองค์แล้ว นี่ย่อมเป็นการแสดงให้เราเห็นว่าเราต้องการพระหรรษทานของพระเจ้า มิใช่เพียงเพื่อสามารถยืนยันความเชื่อศรัทธาของเราเท่านั้น แต่ยังเพื่อสำหรับที่จะรักษาและเจริญชีวิตความเชื่อศรัทธานั้นด้วย
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์