“คำแนะนำเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตสมภพและการฉลองพระคริสตสมภพ”
4. ธรรมเนียมการจัดแต่งเทียน 4เล่ม
วัดหลายๆ แห่ง มีธรรมเนียมการจัดแต่ง “หรีดเตรียมรับเสด็จฯ” (Advent wreath) ไว้บริเวณใกล้ ๆ พระแท่นหรีดดังกล่าวถูกจัดแต่งให้เป็นรูปวงกลมสีเขียว ภายในมีเทียนอยู่สี่เล่ม สามเล่มเป็นเทียนสีม่วง อีกหนึ่งเล่มเป็นเทียนสีบานเย็น เทียนถูกจุดเพิ่มที่ละเล่ม ๆ จนครบสี่สัปดาห์
ในบางแห่งยังมีธรรมเนียมการเสกหรีดเตรียมรับเสด็จในวันอาทิตย์แรกของเทศกาล อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมเนียมการจัดหรีดดังกล่าวจะดูมีความหมายดี แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนเทียนที่จะต้องจุดประจำพระแท่น ที่ถือว่าเป็นเทียนประกอบพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรวางหรีดเตรียมรับเสด็จฯ บนพระแท่น
5. วันที่ 8 ธันวาคม วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิริมล
การสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ถือเป็นอีกหนึ่งวันสมโภชที่สำคัญยิ่งของแม่พระ และบางประเทศยังกำหนดให้วัน ๆ นี้เป็นวันฉลองบังคับ (สำหรับประเทศไทย โดยประกาศของสภาพระสังฆราช ปี 1987 กำหนดให้วันสมโภชนี้เป็นวันฉลองสำคัญ แต่ไม่บังคับ)
ทั้งบทเทศน์และการสอนคำสอนเกี่ยวกับการสมโภชนี้ ควรชี้ให้เห็นถึงความหมายและเจตนาที่พระเจ้าได้ทรงมอบอีกหนึ่งอภิสิทธิ์ที่สำคัญให้กับพระนางมารีย์ เพื่อที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดพระกุมาร
6. การเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพ
ช่วงเวลาที่ถือได้ว่าเป็นโค้งสุดท้าย (final phase) ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เริ่มต้นในวันที่ 17 ธันวาคมบทภาวนา และบทอ่าน ทั้งในบูชามิสซา และในบททำวัตร ได้ถูกจัดเตรียมไว้ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นสำหรับช่วงเวลาแปดวันก่อนวันสมโภชพระคริสตสมภพ วันในระหว่างสัปดาห์ของช่วงเวลานี้ เนื้อหาของการฉลองที่มุ่งที่การเตรียมสู่การฉลองพระคริสตสมภพ มีความสำคัญกว่าการระลึกถึงนักบุญใด ๆ
การทำนพวารเตรียมสมโภชพระคริสตสมภพสามารถมีได้ ควบคู่ไปกับบูชามิสซาประจำวัน การสวดทำวัตร และการนมัสการศีลมหาสนิท
พระสงฆ์เจ้าวัดควรจัดให้สัตบุรุษมีโอกาสได้รับศีลอภัยบาปในช่วงเวลาของการเตรียมฉลองนี้ โดยอาจจะมีวจนพิธีกรรมศีลอภัยบาป และจัดหาพระสงฆ์มาช่วยโปรดศีลอภัยบาป เพื่อให้สัตบุรุษในความดูแล ได้เตรียมจิตใจอย่างดี
7. บทเพลงคริสตสมภพ
บทเพลงคริสตสมภพ (Christmas Carols) ที่ขับร้องกันโดยทั่ว ๆ ไป และถือเป็นบทเพลงประจำเทศกาล ที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่บทเพลงดังกล่าวถูกขับร้องก่อนจะถึงวันที่ 25 ธันวาคม มีการกล่าวไว้อย่างจริงจังว่า บทเพลงที่มีเนื้อหาทางด้านเทววิทยา เรื่องการเสด็จมารับสภาพมนุษย์ (Incarnational Theology) ไม่ควรจะนำมาขับร้องในพิธีกรรมก่อนคืนตื่นเฝ้าฉลองพระคริสตสมภพ
อย่างไรก็ตาม พิธีที่ไม่ใช่พิธีกรรมโดยตรง (para-liturgy) เช่น การฉลองบทเพลงคริสตสมภพ (Festival of carols) สามารถจัดขึ้นได้เพื่อเป็นโอกาสอันดีต่อการสร้างความเป็นเอกภาพ (ecumenical occasion) โดยอาจจะจัดที่วัด หรือในสถานที่สาธารณะ ถ้าสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ถ้าหากจัดในวัดคาทอลิก พิธีดังกล่าวควรจะจบลงด้วยพิธีนมัสการและอวยพรศีลมหาสนิท
8. วันสมโภชพระคริสตสมภพ
แม้ว่าวันสมโภชพระคริสตสมภพนี้ จะมีความสำคัญรองจากวันสมโภชปัสกา และวันสมโภชพระจิตเจ้า แต่ต้องถือว่าวันสมโภชนี้ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ในด้านพิธีกรรม บูชามิสซาสมโภชการบังเกิดของพระกุมารควรจัดอย่างสง่างามที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ อาภรณ์ประกอบพิธีกรรมใช้สีขาวหรือสีทอง ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ควรใช้ชุดที่สวยงาม และจัดเตรียมอย่างดี มีการใช้กำยาน จัดแต่งดอกไม้ และมีเทียนด้วยจำนวนที่แสดงถึงการสมโภชสำคัญ (ติดตามต่อในฉบับหน้า)
เรียบเรียงจาก Ceremonies of the Liturgical Yearของ Msgr. Peter J. Elliott