แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
วันที่ 22กุมภาพันธ์
ฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตรอัครสาวก
(Chair of Saint Peter, the Apostle, feast)
“เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ เราจะมอบอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:18-19) ด้วยคำประกาศของพระเยซูเจ้านี้ พระองค์ได้ทรงมอบสิทธิให้นักบุญเปโตรนั่งบนธรรมาสน์แทนที่พระองค์ในฐานะเป็นเจ้าชายของบรรดาอัครสาวก (The Prince of the Apostles) มอบหมายให้ท่านได้เป็นผู้รับใช้ที่มีอำนาจเหนือพระศาสนจักรทั้งมวล เป็นเพราะศักดิ์ศรีขั้นพระสังฆราช และความเป็นเอกในสากลจักรวาลของตำแหน่งที่สูงส่งนั้น ซึ่งองค์พระคริสตเจ้าเองได้ทรงแต่งตั้งขึ้น ที่ทำให้เราพากันมาฉลองในวันนี้ มากกว่าจะเน้นไปที่เก้าอี้ไม้โอคที่ปลวกกัดกินได้ที่เราคิดว่านักบุญเปโตรเคยนั่ง ปัจจุบัน ถ้าเราเข้าไปในมหาวิหารนักบุญเปโตร ที่กรุงวาติกัน จะมีเก้าอี้หรือธรรรมาสน์ตั้งไว้ให้สูงขึ้นด้านข้างกำแพง ประดับตกแต่งด้วยแผ่นงาช้าง และปิดล้อมไว้ด้วยโลหะบรอนซ์ ออกแบบโดย แบร์นีนี (Bernini) เก้าอี้นี้ได้นำออกมาต่อสาธารณะเพื่อการแสดงความเคารพครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1867 เพื่อเป็นที่ระลึกถึง 18ศตวรรษของการเป็นมรณสักขีของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่
คำว่า “เก้าอี้” (หรือ ธรรมาสน์) มาจากคำภาษาลาตินว่า “sedes” ยกตัวอย่างเราเรียกสันตะสำนักโดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า “The Holy See” หรือสำนวนภาษากรีกมีความหมายทำนองว่า “ที่นั่งของนักบุญเปโตร” ( = ภาษาลาติน Cathedra Sancti Petri ) วันฉลองนี้ยังแฝงความหมายเป็นนัยเพื่อยืนยันอำนาจของพระสันตะปาปาในข้อคำสอนของคาทอลิก ในขณะที่อยู่ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาองค์นั้นๆ พระศาสนจักรจะยอมรับและให้เกียรติแด่พระองค์ในฐานะผู้สืบตำแหน่งอย่างถูกต้องของนักบุญเปโตร ในการเป็นนายชุมพาบาลของพระศาสนจักรทั้งมวล นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของสำนวนภาษาลาตินที่ว่า “ex cathedra” (=”from the chair” ) เพื่ออ้างถึงการประกาศอย่างสง่าของพระสันตะปาปา (ซึ่งกระทำนานๆ ครั้ง) ถึงคำนิยามข้อคำสอนที่ไม่มีทางผิดพลาดของพระองค์ (The Papal Infallibility) ซึ่งเป็นข้อความเชื่อที่คริสตชนทุกคนต้องถือตาม
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)