แทนคิดสักนิด…สะกิดใจ
วันที่ 28 มกราคม
ระลึกถึงนักบุญโทมัส อาไควนัส พระสงฆ์และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
(St Thomas Aquinas, Priest & Doctor, memorial)
ท่านเป็นบุตรคนเล็กของ Landolfo of Aquino และ Teodora of Chieti เกิดเมื่อปี ค.ศ.1225ได้รับการศึกษาจากฤาษีเบเนดิกตินที่มอนเตคาสสิโนตั้งแต่อายุ 5ขวบ ท่านได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เมืองเนเปิลส์ เมื่ออายุ 11และต้องการเข้าคณะดอมินิกันเมื่ออายุ 18แต่ครอบครัวของท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด เนื่องด้วยเป็นญาติกับจักรพรรดิเฟรเดริกที่ 2ขัดขวางอย่างเต็มที่ไม่ยอมให้ท่านเข้าคณะฤาษีภิกขาจารนั้น โดยจับท่านขังไว้ในหอคอยปราสาทที่บ้านของท่านเป็นเวลา 2ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ถูกกักขังตัว พี่สาวของท่านได้นำหนังสือพระคัมภีร์และหนังสือปรัชญาต่างๆ ให้ท่านศึกษา ภายหลังท่านหนีออกมาได้โดยความช่วยเหลือของพวกภราดาคณะดอมินิกันด้วยการให้ท่านนั่งในตะกร้าแล้วหย่อนลงมาเหมือนนักบุญเปาโลเคยทำ และเนื่องจากท่านมีความรู้จากหนังสือต่างๆ ที่ท่านอ่านเป็นอย่างดี จึงถูกส่งตัวไปเรียนที่เมืองโคโลญ และปารีส และอยู่ภายใต้การดูแลของนักบุญอัลเบิร์ตผู้ยิ่งใหญ่ หลังจากได้รับศีลบวชและได้ปริญญาเอกทางเทววิทยาแล้ว ท่านเริ่มงานสอนด้วยความชัดเจน เที่ยงตรง และสร้างแรงบันดาลใจ จนว่าเป็นที่ติดใจของบรรดานักศึกษาซึ่งมีจำนวนเป็นพันๆคน มหาวิทยาลัยปารีสในขณะนั้นมีนักศึกษามากถึง 30,000คน
ท่านได้ชื่อว่า “นักปราชญ์เทวดา” (Angelic Doctor) และ “เจ้าชายแห่งนักเทววิทยาของคาทอลิก” (Prince of Catholic Theologians) โดยหลักใหญ่แล้วท่านสนับสนุนทฤษฎีที่ใช้หลักปรัชญาตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาอธิบายในแสงสว่างของข้อคำสอนแบบคริสตชนนั่นเอง
ในช่วงชีวิตที่ค่อนข้างสั้นแค่ 49ปี ท่านได้เขียนหนังสือไว้ถึง 60ผลงานด้วยกัน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ยากจะเทียบเทียมได้คือ Summa Theologica ซึ่งเป็นบทสรุปของหลักปรัชญาและหลักเทววิทยาแบบคริสตชน “เหตุว่าเป้าหมายหลักของวิทยาการศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็คือให้ความรู้ถึงพระเจ้า – ไม่เพียงว่ารู้เกี่ยวกับพระองค์เอง แต่รู้ด้วยว่าทรงเป็นต้นกำเนิดและจุดสิ้นสุดของทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งของสิ่งสร้างที่รู้เหตุผล – เราควรปฏิบัติต่อพระเจ้าเป็นประการแรก ประการที่สองคือ การเข้าถึงพระเจ้าของสิ่งสร้างที่รู้เหตุผล และประการที่สามต่อพระคริสต์ ผู้ทรงเป็นมนุษย์ ทรงเป็นหนทางที่พาเราไปหาพระเจ้า” ท่านมักกล่าวเช่นนี้
ก่อนที่ท่านจะศึกษาเรื่องใดก็ตาม ท่านจะต้องวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยการรำพึงและภาวนาเสียก่อน และเมื่อเริ่มทำงานท่านก็จะทุ่มเทจนต้องตั้งภราดาคนหนึ่งคอยดูแลไม่ให้ท่านลืมไปรับประทานอาหาร หรือ ลืมการพักผ่อนนอนหลับ เมื่อท่านต้องตีความพระคัมภีร์ตอนที่คลุมเคลือ ท่านจะทำการอดอาหารเป็นพิเศษ แล้วสวรรค์ก็จะช่วยท่านในการให้คำนิยามที่เป็นแบบเหนือธรรมชาติ นี่เป็นเหตุผลเพียงประการเดียวที่จะอธิบายว่าทำไมท่านถึงมีพลังและความศรัทธาทางสติปัญญาที่ไม่ธรรมดา บทสวดทำวัตรและบทมิสซาวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า (Corpus Christi) โดยเฉพาะบทสดุดีอันเป็นที่รักมากคือบท “ตามตุม แอร์โก” (Tantum Ergo) และบท “โอ ซาลูตารีส ออสตีอา” (O Salutaris Hostia) นั้นท่านได้ประพันธ์ขึ้นตามคำสั่งของพระสันตะปาปา
นักบุญโทมัสสิ้นชีพเมื่อวันที่ 7มีนาคม ค.ศ.1274ขณะเดินทางไปร่วมประชุมสภาที่เมือง Lyons ที่พระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 10ทรงเรียกประชุมเพื่อต้องการจะรวมศาสนจักรต่างๆ ของจารีตกรีกและลาตินให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันใหม่ ท่านได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 22เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม ค.ศ. 1323ได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร เมื่อวันที่ 11เมษายน ค.ศ. 1567นักบุญโทมัสยังได้รับการประกาศว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิก และสถาบันทางการศึกษาทั้งหลาย
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)