ข้อคิดวันสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก
มธ16: 13-19…ท่าน(นักบุญเปโตร)คือศิลาและบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา…เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้…
…สำหรับข้าพเจ้า(นักบุญเปาโล)นั้นชีวิตของข้าพเจ้ากำลังจะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้วถึงเวลาแล้วที่ข้าพเจ้าจะต้องจากไปข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้วข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้วข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้วยังเหลืออยู่ก็เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรมซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรมจะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น…
ข้อคิด…การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลในวันนี้เป็นการเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุดวันหนึ่งของพระศาสนจักรและที่จริงเป็นการสมโภชที่มีมาก่อนการสมโภชพระเยซูเจ้าทรงบังเกิดหรือวันคริสต์มาสเสียอีก…ตั้งแต่ศตวรรษที่สี่เป็นต้นมาที่ในวันสมโภชนี้มีการถวายพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณสามมิสซาด้วยกันคือที่มหาวิหารนักบุญเปโตรในนครรัฐวาติกันมิสซาหนึ่งที่มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองอีกมิสซาหนึ่งและที่คาตากอมบ์นักบุญเซบาสเตียนซึ่งเชื่อกันว่าศพของท่านนักบุญอัครสาวกที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านนี้คงจะถูกเก็บซ่อนไว้ณที่นี้เป็นระยะเวลาหนึ่งอีกมิสซาหนึ่ง
นักบุญเปโตรเป็นชาวประมงของตำบลเบทไซดาในแคว้นกาลิลี(ลก5: 3; ยน1: 44) แต่ว่าต่อมาท่านได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาร์เปอร์นาอุม(มก1: 21.29) นักบุญอันเดรน้องชายของท่านได้เป็นคนแนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า(ยน1: 42) และอาจเป็นนักบุญยอห์นแบปติสต์ที่ได้เป็นผู้ตระเตรียมจิตใจของท่านสำหรับการพบปะครั้งสำคัญของท่านกับองค์พระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อท่านจากชื่อเดิมซีมอนมาเป็นชื่อใหม่ว่า“เปโตร” (มธ16: 17-19; ยน21: 15-17) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาฐานรากของพระองค์ที่จะทรงตั้งขึ้นในตัวบุคคลของท่านเอง
นักบุญเปโตรเป็นพยานบุคคลแรกๆที่ได้แลเห็นพระคูหาว่างเปล่าของพระอาจารย์(ยน20: 6) และได้รับการประจักษ์มาให้เห็นขององค์พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ(ลก 23:34)
หลังจากที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จขึ้นสวรรค์แล้วท่านก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำบรรดาคริสตชน(กจ1: 15; 15: 7) และได้เป็นคนกล่าวสรุปข่าวดีของพระเยซูเจ้า(กจ2: 14-41) และท่านเป็นคนแรกที่ได้แลเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้าไปสู่พวกคนต่างชาติ(กจ10-11) ภารกิจด้านวิญญาณที่ท่านได้รับมอบหมายมิใช่ว่าจะช่วยให้ท่านหมดจากสภาพของความเป็นคนธรรมดาๆหรือจากข้อบกพร่องต่างๆทางอารมณ์ก็หาไม่(ยน13: 6; 18:10; มธ14: 29-31) และนักบุญเปาโลเองก็มิได้ลังเลใจแต่อย่างใดที่จะพูดจาต่อว่าท่านเวลาที่พบกันที่เมืองอันติโอ๊ก(กจ15; กท2: 11-14) เพื่อโน้มน้าวเชิญชวนท่านว่าคนต่างศาสนาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแบบแผนประเพณีของพวกยิวในเรื่องนี้รู้สึกว่านักบุญเปโตรยังตัดสินใจช้าและยังถือว่ากลุ่มคริสตชนซึ่งเดิมทีเป็นคนต่างศาสนาก็ยังด้อยกว่าหรือเป็นรองกลุ่มคริสตชนที่เดิมทีเป็นชาวยิว(กจ6: 1-2) ต่อเมื่อนักบุญเปโตรได้มาที่กรุงโรมแล้วเมื่อนั้นแหละท่านจึงจะได้กลายเป็นอัครธรรมทูตของทุกๆคนและได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างครบถ้วนคือเป็น“ศิลาหัวมุม” ของพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้าโดยรวมชาวยิวและคนต่างศาสนาให้เข้ามาอยู่ภายในร่างกายเดียวกันคือในพระกายทิพย์ขององค์พระเยซูเจ้าและท่านได้ประทับตราภารกิจหน้าที่นี้ด้วยการหลั่งโลหิตของท่านตามแบบอย่างของพระอาจารย์
นักบุญเปาโลหลังจากที่ได้กลับใจในระหว่างทางที่มุ่งไปสู่กรุงดามัสกัสแล้วก็ได้เดินทางไปในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นจำนวน3 ครั้งด้วยกันที่ถือว่าเป็นครั้งสำคัญๆการเดินทางครั้งแรกของท่านนั้นมีนักบุญบาร์นาบัสร่วมเดินทางไปด้วย(กจ13-14) โดยออกเดินทางจากเมืองอันติโอ๊คหยุดพักที่เกาะไซปรัสแล้วก็เดินทางผ่านประเทศตุรกีในปัจจุบันนี้
หลังจากการประชุมของบรรดาอัครสาวกที่กรุงเยรูซาเลมแล้วท่านก็ได้เริ่มการเดินทางครั้งที่สองซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ได้รับการขอร้องจากบรรดาอัครสาวกทั้ง12 อย่างเป็นทางการ(กจ15: 36-18: 22) ท่านได้เดินทางผ่านดินแดนตุรกีเข้าสู่ยุโรปพร้อมกับนักบุญลูกาและได้ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นที่แคว้นฟิลิปปี(ประเทศกรีก) แล้วเดินทางไปประกาศพระวรสารใหม่อีกครั้งหนึ่งที่กรุงเอเธนส์(ประเทศกรีก) แต่ว่าภารกิจของท่านต้องหยุดชะงักลงต่อหน้าบรรดานักปรัชญาชาวกรีกแต่ที่เมืองโครินธ์ท่านได้ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นซึ่งภายหลังได้ทำให้ท่านต้องหนักใจมากกว่าที่อื่นๆจากนั้นก็กลับเข้าสู่เมืองอันติโอ๊ค
สำหรับการเดินทางครั้งที่สามนั้น(กจ18: 23-21, 17) ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนต่างๆที่ท่านได้ตั้งขึ้น(ประเทศตุรกี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคริสตชนที่เมืองเอเฟซัสจากนั้นก็มุ่งสู่ประเทศกรีกไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์แล้วข้ามไปเมืองมิเลตุสพลางได้แจ้งให้บรรดาสมณทั้งหลายได้ทราบถึงการทดลองต่างๆที่ท่านกำลังจะได้รับและก็เป็นเช่นนั้นจริงๆคือหลังจากที่ท่านได้กลับมาที่กรุงเยรูซาเลมได้ไม่นานท่านก็ถูกพวกชาวยิวจับและถูกขังคุก(กจ21) แต่เนื่องจากว่าท่านถือสิทธิเป็นพลเมืองโรมันจึงได้อุทธรณ์ไปที่กรุงโรม
และดังนี้ก็เป็นการเริ่มต้นการเดินทางสู่กรุงโรมของท่านนักบุญเปาโล แต่ว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆเพราะไม่มีอิสรภาพท่านถูกควบคุมตัวไว้(กจ21-26) ท่านได้ไปถึงกรุงโรมในราวปี60 หรือ61 และได้ถูกจองจำอยู่ในคุกจนถึงปี63 แม้ว่าอยู่ในคุกท่านก็ได้รับความสะดวกสบายหลายประการและสามารถติดต่อกับบรรดาคริสตชนที่กรุงโรมได้ท่านได้เขียนจดหมายจากคุกและต่อมาในปีเดียวกันนั้นเองท่านก็ได้รับอิสรภาพ
อาจจะเป็นไปได้ที่ในช่วงนี้ท่านได้เดินทางเป็นครั้งสุดท้ายไปประเทศสเปน(รม15: 24-28) หรืออาจจะเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่ทิโมธีและติตัสศิษย์รักปกครองอยู่นักบุญเปาโลเองได้เขียนจดหมายถึงลูกศิษย์ทั้งสองนี้โดยบอกเป็นนัยๆว่าวาระสุดท้ายของท่านกำลังใกล้เข้ามาแล้วและท่านได้ถูกจับขังคุกอีกครั้ง
นักบุญเปโตรได้ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยถูกตรึงกางเขนให้เอาศีรษะลงในสมัยของจักรพรรดิเนโร(13 ตุลาคม64)
ส่วนนักบุญเปาโลได้เป็นมรณสักขีประมาณปี67 ด้วยการถูกตัดศีรษะ
นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล…เป็นชื่อสองชื่อที่ผูกพันอยู่กับพระศาสนจักรตลอดไปในธรรมประเพณีของคริสตศาสนาที่ท่านทั้งสองได้มอบให้แก่เราคริสตชนทุกๆคน
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์