ข้อคิดสอนใจสมโภชพระคริสตเจ้าทรงแสดงองค์ ปี B
มธ 2: 1-12…พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์…บรรดาโหราจารย์มีความยินดียิ่งนัก เข้าไปในบ้านพบพระกุมารกับพระนางมารีย์ พระมารดา จึงคุกเข่าลงนมัสการพะองค์ แล้วเปิดหีบสมบัติ นำทองคำ กำยานและมดยอบออกมาถวายพระองค์…
ในธรรมประเพณีของศาสนาคริสต์ พญาสามองค์ หรือปราชญ์จากบูรพาทิศ หรือกษัตริย์จากแดนตะวันออก คือกลุ่มบุคคลต่างชาติกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญ ได้มาเยี่ยมและนมัสการพระเยซูเจ้าหลังจากการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์ ท่านเหล่านั้นได้นำของขวัญ อันมีทองคำ กำยานและมดยอบ มาถวายเป็นของกำนัลแด่พระองค์ด้วย ทั้งสามท่านนี้จะปรากฏให้เราได้แลเห็นเป็นประจำอยู่เสมอ เมื่อมีการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสหรือวันสมภพของพระเยซู
พระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ 2: 1-12) เป็นพระวรสารฉบับเดียวจากสี่ฉบับ ที่ได้มีการเอ๋ยถึง “พญาสามองค์” พลางบอกว่าท่านทั้งสามมาจาก “แดนตะวันออก” เพื่อจะมานมัสการพระคริสต์ “พระผู้ได้ทรงบังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชาวยิว” แม้เรื่องเล่าในพระวรสารจะมิได้บอกเราว่าท่านเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด แต่ของขวัญทั้งสามชิ้นที่พวกท่านนำมาถวายแด่พระกุมารเยซูเจ้านั้น ทำให้สามารถตั้งข้อสมมุติฐานว่าพวก ท่านคงจะมีจำนวนสามท่านด้วยกัน การที่เชื่อว่าท่านทั้งสามเป็นกษัตริย์ในพระวรสารของนักบุญมัทธิวนั้น ก็เชื่อว่าคงจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับหนังสือของประกาศกอิสยาห์บทที่ 60: 3 ที่บอกว่าพระแมสสิยาห์จะได้รับการกราบไหว้นมัสการจากบรรดากษัตริย์ “นานาชาติ จะเดินมาหาความสว่างของท่าน บรรดากษัตริย์จะทรงพระดำเนินมาสู่ความสดใสที่ทอแสงเหนือท่าน”
ข้อคิด…นักบุญมัทธิวได้นำเสนอให้เห็นถึงการเผยแสดงของพระเจ้าในหลายวิธีที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ให้พระบุตรพระเจ้าที่มาบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นที่รู้จักและได้รับการต้อนรับจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเพื่อให้มนุษยชาติได้มาเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยให้นมัสการและรับใช้พระเจ้าองค์เดียวกัน องค์พระบุตรพระเจ้านี้ที่ชนชาวยิวซึ่งมีพระคัมภีร์ที่ได้ค่อยๆเผยแสดงการเสด็จมาของพระองค์ กลับปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์ ขณะที่ชนต่างศาสนา โดยการนำของดวงดาว ได้มาค้นหาพระกุมาร และเมื่อพบแล้ว ก็ได้นมัสการพระองค์และถวายของขวัญแด่พระองค์
ความปรารถนาอันแรงกล้าของพระเยซูเจ้าผู้สถาปนาพระศาสนจักรและของพระศาสนจักรเองในทุกยุคทุกสมัย ก็คือต้องการให้มนุษยชาติมีเอกภาพ สากลภาพและสันติภาพที่แท้จริง และได้เป็นครอบครัวเดียวกัน
มนุษย์คนแรกในพระคัมภีร์ที่ได้เชื่อในสากลภาพนี้ก็คือ อับราฮัม บิดาแห่งควาเชื่อของมนุษยชาติ พระเจ้าได้ทรงสัญญากับท่านไว้ว่าในวันหนึ่งข้างหน้า บรรดาประชาชาติต่างๆจะมาร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพงศ์พันธุ์ของท่านและท่านเองก็ได้เชื่อเช่นนั้น
ประชาชาติอิสราแอลได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมประชากรทั้งหลาย ให้เป็นหนึ่งเดียวกันในพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม และดังนี้พระสัญญาแห่งสากลภาพก็จะบรรลุถึงความสำเร็จ
ชาวอิสราแอลได้เชื่ออย่างผิดๆ ว่าพวกเขาสามารถสร้างสากลภาพ เอกภาพและสันติภาพดังกล่าวขึ้นมาได้ ด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบอะไรบางอย่าง เช่น การถือธรรมบัญญัติ การถือวันสับบาโต การเข้าสุหนัต ฯลฯ แต่ว่าจริงๆแล้ว จะต้องเป็นความเชื่อของอับราฮัมต่างหากที่จะสามารถรวบรวมชนทุกชาติทุกภาษาให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้
การประกาศว่าจะต้องมีประชากรใหม่ของพระเจ้าที่ไม่จำกัดเชื้อชาตินั้น ได้รับการตระเตรียม ล่วงหน้าในประชากรเลือกสรรและได้สำเร็จเป็นไปในองค์พระคริสตเจ้า เพราะในแผนการของพระบิดาเจ้า เป็นพระองค์เองที่จะทรงรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า (อฟ 1: 9-10) และทุกสิ่งที่แตกแยกกันออกไปก็จะพบเอกภาพในองค์พระคริสต์ (อฟ 3:6)
โดยการเรียกปราชญ์จากแดนตะวันออก พระเยซูเจ้าได้เริ่มรวบรวมประชากรเพื่อที่จะสรรสร้างให้เป็นครอบครัวใหญ่ของมนุษยชาติ โดยการดังกล่าวจะสำเร็จลงอย่างบริบูรณ์ ก็ต่อเมื่อความเชื่อในพระเยซูคริสต์จะทำให้กำแพงที่กั้นมนุษย์มิให้รวมกันจะได้พังพินาศไป และเมื่อนั้นแหละที่มนุษย์แต่ละคนจะมีจิตสำนึกว่าพวกเขาคือบุตรพระเจ้า ได้รับการไถ่จากพระคริสต์อย่างเท่าเทียมกันและเป็นพี่น้องกัน
ตลอดกระแสศตวรรษ พระศาสนจักรได้ตระหนักและได้เป็นองค์พยานสำหรับการเรียกอันมีลักษณะสากลนี้ คือการเรียกมนุษย์ทุกคนให้ไปสู่การช่วยให้รอดพ้นโดยอาศัยผลงานแห่งการสร้างเอกภาพของพระคริสตเจ้า
ดังนั้น ภาพนิมิตสุดท้ายของพระธรรมใหม่ในหนังสือวิวรณ์จึงมีความหมายมาก (วว 7: 4-12; 15: 3-4; 21: 24-26) คือ ชนทุกชาติทุกภาษาจะมากราบไหว้นมัสการพระเจ้า ผู้เป็นกษัตริย์แห่งชนชาติทั้งหลาย พวกเขาจะพักอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเลมใหม่ และในกรุงเยรูซาเลมใหม่นี้ครอบครัวของมนุษยชาติจะพบกับเอกภาพที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง
เวลาที่เราพูดถึงเรื่อง “เอกภาพ” ก็เสี่ยงที่จะทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายๆ เพราะบ่อยๆ เรามักจะเข้าใจว่า “เอกภาพ” คือการที่ต้องมีอะไรเหมือนๆ กันหมด นั่นก็คือต้องขจัดความแตกต่างในแต่ละคนให้หมดสิ้นไป โดยให้แต่ละคนเท่าเสมอกันหมดเหมือนกันหมด ความคิดดังกล่าวนี้มิใช่เป็นความคิดที่ถูกต้องเลย เพราะว่าความแตกต่างกันและความหลายหลากของวัฒนธรรมและภาษาของแต่ละชาติ คือความมั่งคั่งของมนุษยชาติ เช่นเดียวกัน สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าพระศาสนจักรต้องเป็นหนึ่งเดียวและสากลนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปสำหรับจะเจริญชีวิตด้วยความเชื่ออย่างเดียวกัน
คริสตชนที่แท้จริงจะต้องไม่ปฏิเสธความแปลกใหม่ แต่ก่อนอื่นเขาจะต้องทำการพิสูจน์ว่าสิ่งแปลกใหม่เหล่านั้น จะต้องไม่ใช่มิติใหม่ของความเชื่อในพระองค์พระคริสตเจ้า ประสบการณ์ต่างๆมากมายในปัจจุบันนี้ซึ่งหลายๆ ครั้งอาจจะเป็นที่สะดุดสำหรับคนบางประเภท แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นยาชุบชูกำลังให้กับชีวิตของพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าให้บทเรียนแต่เพียงบทเดียวแก่เราว่า “จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดดวงใจและจงรักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง” (เทียบ ยน 13:34) ในบทเรียนบทนี้แหละที่เราจะพบความหมายและทิศทาง นี่แหละที่เป็นดาวดวงนั้น ที่เราจะต้องเฝ้าติดตามสำหรับจะบรรลุถึงเป้าหมายแห่งสากลภาพ ภารดรภาพและเอกภาพที่แท้จริงของมนุษยชาติและของพระศาสนจักร
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์