คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง
…โดย บาทหลวง ดร.เชิดชัย เลิศจิตรเลขา คณะกรรมการที่ปรึกษาเทววิทยา ในสภาประมุขบาทหลวงฯ
…………………………..ต่อจากฉบับที่แล้ว…………………………………..
2. คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า การทำแท้งโดยตรงเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมและเลวทรามที่สุด พระสมณสาสน์ “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) ที่กล่าวถึงพระบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นั้น พระสันตะปาปาทรงแถลงในเบื้องต้นว่า “…โดยอาศัยอำนาจที่พระคริสตเจ้าทรงมอบให้แก่นักบุญเปโตร และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากท่าน และในการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาพระสังฆราชในพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก เราขอย้ำว่า การฆ่าชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรงและกระทำด้วยความสมัครใจเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมอย่างหนักในทุกกรณี” (เทียบ EV ข้อ 57) จากคำสอนดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงต้องการให้คำนิยามความหมายเฉพาะของการทำแท้งโดยตรงว่าเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมอย่างร้ายแรงใน 2 ลักษณะ คือ ในลักษณะแรก พระองค์ทรงเน้นถึงการกระทำทางศีลธรรมที่ในตัวมันเองเป็นสิ่งที่ชั่ว ไร้ศีลธรรม (intrinsice malum) นั่นคือ เป็นการฆ่าชีวิตโดยตรงและด้วยความสมัครใจ และในลักษณะที่สอง พระองค์ทรงเน้นถึงความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกระทำ (the innocent) กล่าวคือ ทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิด
จุดยืนอันมั่นคงของพระศาสนจักรคาทอลิกที่ประณามการทำแท้งด้วยความจงใจ (direct abortion) นั้นมีมาตลอด เพราะการทำแท้งนี้เป็นการฆาตกรรมชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการทำแท้งโดยความตั้งใจเป็นการกระทำที่ชั่วในตัวเอง และทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ไม่เคยเป็นผู้รุกรานที่ก้าวร้าว (an unjust aggressor) เพราะจากความเชื่อของคริสตชน สิทธิขั้นพื้นฐานแห่งการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์เป็นของประทานจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นเจ้าของชีวิต มนุษย์เป็นผู้เฝ้ารักษา แม้แต่มารดาก็มิใช่เจ้าของชีวิตบุตรของตน ชีวิตเป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระเจ้าซึ่งมนุษย์มีหน้าที่เฝ้ารักษาเท่านั้น แล้วเหตุอันใดมนุษย์จะทำลายของขวัญอันล้ำค่านี้เสียเล่า พระศาสนจักรคาทอลิกเล็งเห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ตลอดมา และยังคงต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและคุณค่าพื้นฐานของชีวิตมนุษย์เรื่อยมา
ศักดิ์ศรีและคุณค่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นบุคคลที่ไม่มีใครสามารถทำลายลงได้ แต่ในสังคมปัจจุบันชีวิตมนุษย์ได้ถูกคุกคามและถูกทำลายอย่างน่าสยดสยอง เช่น การฆ่าคนในทุกรูปแบบ การทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ การทำแท้ง เมตตามรณะ การจงใจฆ่าตัวตาย สิ่งต่าง ๆ ที่ละเมิดต่อบูรณภาพของความเป็นบุคคล เช่น การทำให้พิการ การทรมานทางร่างกายและจิตใจ การบีบคั้นจิตใจ สิ่งต่าง ๆ ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นบุคคล (the human dignity) เช่น สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่สมกับความเป็นมนุษย์ การขังคุกตามอำเภอใจ การเนรเทศ การจับเป็นทาส การบังคับค้าประเวณี การซื้อขายเด็กและสตรี ตลอดจนการใช้แรงงานมนุษย์ดุจเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นบุคคลที่เป็นอิสระและมีความรับผิดชอบ [ดูรายละเอียดในพระสมณสาส์น “เรื่องความรุ่งโรจน์แห่งความจริง” (Veritatis Splendor) ข้อ 80 เกี่ยวกับ “การกระทำที่ชั่วในตัวเอง” (intrinsice malum) ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ผิดศีลธรรมเสมอในทุกกรณีและในทุกสถานการณ์ และเทียบกับ Gaudium et Spes ข้อที่ 27]
สภาพสังคมปัจจุบันที่โน้มเอียงใฝ่หา “วัฒนธรรมแห่งความตาย” (the culture of death) มากกว่า “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” (the culture of life) พระศาสนจักรคาทอลิกที่เป็นผู้เผยพระวาจาของพระเจ้าซึ่งเป็นพระวาจาที่ให้ชีวิต (the gospel of life) ได้สอนถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าพื้นฐานที่ต้องได้รับการเคารพอย่างสูงสุด โดยไม่อาจถูกละเมิดได้ [ดูรายละเอียดในพระสมณสาส์น “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) เกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชีวิตในบทที่สอง] นอกจากนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกยังคงเลือกที่จะอยู่ข้างผู้อ่อนแอและถูกเบียดเบียนในสังคมปัจจุบัน ที่ไม่สามารถป้องกันสิทธิพื้นฐานของตนได้
พระศาสนจักรคาทอลิกในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องชีวิตมนุษย์ (pro-life) ชีวิตที่เริ่มตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์มารดาและสิ้นสุดลงเมื่อต้องตายตามธรรมชาติ ได้ยืนยันถึงคำสอนที่ไม่อาจละเมิดได้นี้ โดยไม่จำกัดเฉพาะในขอบเขตของพระศาสนจักรเท่านั้น แต่รวมไปถึงมนุษย์ทุกคนที่มีน้ำใจดี (all people of good will) ให้พิจารณาถึงการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ดังกล่าว โดยยึดมั่นว่าการปกป้องชีวิตมนุษย์นั้นตั้งอยู่บน “กฎศีลธรรมตามธรรมชาติ” ที่พระเจ้าทรงจารึกลงในจิตใจของมนุษย์ทุกคน และโดยอาศัยเหตุผลมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้อย่างเท่าเทียมเสมอกัน
3. ศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ (the dignity and the status of person of the embryo)
กฎบัตรขององค์การสหประชาชาติได้รับรองถึงสิทธิมนุษย์สากล เช่น ในข้อที่ 1 กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีเสรีภาพ สิทธิ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนที่มีมโนธรรมและเหตุผลเท่าเทียมกันจึงต้องปฏิบัติต่อกันและกันฉันพี่น้อง” และข้อที่ 3 กล่าวว่า “ตามปัจเจกบุคคล ทุกคนมีสิทธิในการดำเนินชีวิตตามเสรีภาพและความมั่นคงในแต่ละบุคคลเอง” จากกฎบัตรดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าองค์การสหประชาชาติรับรองความเสมอภาคและเสรีภาพของบุคคล (human person) ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของปัจเจก (individual) หรือบุคคล (human person) ในฐานะที่เกิดและคลอดออกมาพ้นจากครรภ์มารดาแล้วเท่านั้น แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญในขณะนี้คือ สิทธิและศักดิ์ศรีดังกล่าวครอบคลุมถึงความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์หรือไม่ ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับการปกป้องหรือไม่ ความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์มารดาเริ่มต้นเมื่อใด ความเป็นบุคคลหมายถึงอะไร มาตรการอะไรที่จะใช้วัดความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์
พระศาสนจักรคาทอลิกเชื่อถึงการสร้างวิญญาณของมนุษย์โดยตรงจากพระเจ้า ในพระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ข้อที่ 1 กล่าวว่า “ความเป็นมนุษย์ควรที่จะได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลโดยนับตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิสนธิ” ดังนั้น พระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ได้รับรู้ถึงการโต้แย้งถึงปัญหาที่ว่า ความเป็นบุคคลนั้นเริ่มต้นเมื่อใด แต่พระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ก็กล่าวเพียงว่า “ความเป็นมนุษย์ (Human being) จำต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติในฐานะที่เป็นบุคคล (human person) ตั้งแต่เริ่มการปฏิสนธิ”
พระสมณสาสน์ “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) ข้อที่ 60 กล่าวย้ำว่า ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นในขณะที่เกิดการปฏิสนธิ และพระสันตะปาปาทรงเน้นอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “…ในความเป็นจริง ขณะที่ไข่ของมารดา (ovum) ได้รับการผสมนั้น ชีวิตใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วซึ่งไม่ใช่ชีวิตของบิดาหรือมารดา แต่เป็นชีวิตใหม่ของมนุษย์ที่เจริญพัฒนาโดยตัวของตนเอง โดยความเป็นมนุษย์เริ่มต้นที่นี่ วิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมก็ได้รับรองความเป็นจริงข้อนี้ นอกนั้นยังได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในระยะเริ่มแรกแห่งชีวิตโครงการเจริญพัฒนาชีวิตได้ถูกสร้างขึ้นแล้วในความเป็นบุคคลที่ปัจเจกบุคคลซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นแบบเฉพาะ ดังนั้น ตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิชีวิตมนุษย์ได้เริ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาความสามารถนั้นต้องการเวลาในความพร้อมที่จะปฏิบัติเยี่ยงบุคคล” [เทียบ EV ข้อที่ 60 อ้างเอกสารจากกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เรื่องการทำแท้ง ใน ASS 66 (1974) ข้อที่ 738 และ เทียบ ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อ 5
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า สถานภาพความเป็นบุคคลของทารกที่อยู่ในครรภ์มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการใช้เป็นข้ออ้างอิงในการปกป้องชีวิตของเขา ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิสนธินั้นชีวิตใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วและพร้อมที่จะพัฒนาโดยตัวของตนเอง ซึ่งต้องการเวลาในความพร้อมที่จะปฏิบัติเยี่ยงบุคคล และจากความคิดในปัจจุบันที่เน้นว่า เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องศักดิ์ศรี และสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะจากกฎหมายบ้านเมืองที่มีบทลงโทษ และที่เน้นว่าการให้คำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลก็แตกต่างกันไป แล้วแต่มาตรการที่ใช้วัดความเป็นบุคคล ซึ่งไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์ ในเรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาดูว่าคำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลจากมิติต่าง ๆ มีข้อบกพร่องอย่างไร เมื่อใช้ประยุกต์กับสถานภาพของทารกในครรภ์ นอกจากนั้น การให้คำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบบูรณาการ (integral) ยังคงเป็นความพยายามที่กำลังแสวงหากันอยู่….…..(ต่อฉบับหน้า>>…)